หากเอ่ยปากพูดถึงการบำบัดหรือ Therapy ขึ้นมา หลาย ๆ คนน่าจะนึกถึง CBT หรือ Cognitive Behavioral Therapy มาเป็นอย่างแรก เพราะเป็นวิธีการบำบัดที่เป็นที่นิยมกันมากในขณะนี้ เนื่องจากสามารถช่วยในการปรับพฤติกรรมร่วมกับความคิดของผู้เข้ารับการบำบัดจนได้ผลลัพธ์ที่ดีออกมา
แต่ด้วยอาการและพฤติกรรมของผู้เข้ารับการบำบัดมีความแตกต่างหลากหลายสูง บางครั้ง CBT ก็อาจเป็น Therapy ที่ไม่ได้เหมาะกับพวกเขา และจำเป็นต้องมีการลองค้นหาและลองทำบำบัดรูปแบบอืน ๆ เพื่อตามหาวิธีการบำบัดที่ใช่สำหรับตัวเอง
วันนี้เราจะชวนมาทำความรู้จักกับ DBT หรือ Dialectical Behavior Therapy การบำบัดอีกรูปแบบหนึ่งที่พัฒนามาจาก CBT และกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น
DBT หรือ Dialectical Behavior Therapy คืออะไร?
DBT หรือ Dialectical Behavior Therapy เป็นวิธีการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับผู้เข้ารับการบำบัดที่มีปัญหาในด้านการจัดการอารมณ์ (Emotional Regulation) หรือมีความยากลำบากในการจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น เดิม DBT ถูกจัดทำขึ้นมาเพื่อรักษาผู้ป่วยโรค BPD หรือ Borderline Personality Disorder ที่มีพฤติกรรม ความคิด และความรู้สึกที่ไม่ปกติ มีความหุนหันพลันแล่นและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แต่ต่อมา DBT ได้ถูกปรับใช้เพื่อรักษาบำบัดอาการและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงทางความคิดและพฤติกรรมด้วยเช่นกัน จึงทำให้ DBT เป็นวิธีการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น
ถึงแม้ว่า DBT จะพัฒนามาจาก CBT และมีรากฐานที่เหมือนกันก็ตาม แต่จุดเด่นของ DBT คือการทำบำบัดที่มุ่งเน้นไปที่การยอมรับความจริงที่โหดร้ายที่เกี่ยวข้องกับตัวเองตัวเอง เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของตัวเองนั่นเอง
ใครเหมาะกับการทำ DBT หรือ Dialectical Behavior Therapy บ้าง?
นอกจากผู้ป่วยโรค BPD ที่ได้กล่าวกันไปข้างต้นแล้ว DBT ยังเป็นการบำบัดที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มโรคทางจิตเวชที่มีอาการรุนแรง เช่น
- มีภาวะซึมเศร้า
- มีพฤติกรรมการทานอาหารที่ผิดปกติ
- มีการใช้ยาหรือสารเสพติดที่ผิดปกติ
- ทำร้ายตัวเอง (Self-Harm)
- มีความพยายามในการฆ่าตัวตาย
รวมถึงโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น
- โรควิตกกังวลทั่วไป
- โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)
- โรคสมาธิสั้น (ADHD)
- โรค PTSD
4 ขั้นตอนของ DBT (Dialectical Behavior Therapy)
ผู้เข้าร่วมบำบัดจะพบกับ 4 ขั้นตอนนี้เมื่อเข้าร่วมการทำ DBT หรือ Dialectical Behavior Therapy ดังนี้
1. ระบุปัญหา
ปัญหาที่เราจะพูดถึงกันเป็นลำดับแรกคือพฤติกรรมหรือความคิดที่ส่งผลเสียต่อผู้เข้าร่วมการบำบัด เช่น พฤติกรรมการทำร้ายตัวเอง พฤติกรรมการกินผิดปกติ หรือความคิดความรู้สึกที่อยากทำร้ายตัวเอง เป็นต้น
2. ค้นหาสาเหตุ
ต่อมาจะเป็นการค้นหาสาเหตุที่ทำให้ผู้เข้าร่วมการบำบัดเกิดความคิดหรือพฤติกรรมแบบนั้นขึ้นมา อาจเป็นปัญหาที่เกิดจากปมในวัยเด็ก หรือเป็นปัญหาการจัดการอารมณ์ที่ไม่ดีพอ หรืออาจเกิดจากประสบการณ์อันเลวร้ายในอดีต เป็นต้น
3. สร้างเป้าหมาย
ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนที่ผู้เข้าร่วมบำบัดจะต้องสร้างเป้าหมายในการจัดการกับปัญหาเพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และเพื่อให้พวกเขารู้จักจัดการกับปัญหาและมีวิธีจัดการอารมณ์เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหา
4. เป็นตัวเองที่ดีขึ้น
เมื่อผู้เข้ารับการบำบัดสามารถจัดการกับเป้าหมายที่ตัวเองวางไว้ในขั้นตอนที่ 3 ได้แล้ว ขั้นตอนที่ 4 คือการพาตัวเองไปสู่จุดที่ดีกว่าและเหนือกว่า โดยเป็นการพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ค้นพบว่าเรามีอิสระในการเลือกใช้ชีวิต และได้ค้นพบการสร้างความหมายชีวิตให้กับตนเอง รวมถึงเชื่อมต่อกับสิ่งต่าง ๆ รอบและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์เหล่านั้นได้
โดยปัจจัยหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของ DBT หรือ Dialectical Behavior Therapy คือการยอมรับตัวเองและพาตัวเองฝ่าฟันสิ่งที่ไม่ดีเพื่อพาตัวเองไปสู่จุดที่ดีกว่าได้นั่นเอง
ในประเทศไทย การทำ DBT หรือ Dialectical Behavior Therapy อาจจะยังไม่ได้แพร่หลายหรือมีบริการมากนัก หากสนใจลองปรึกษาโรงพยาบาล คลินิก หรือผู้ให้บริการทางด้านจิตวิทยาเบื้องต้น เพื่อให้บุคลากรทางด้านจิตวิทยาได้ให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณได้นั่นเอง
อ้างอิง
Dialectical behaviour therapy (DBT). (2024, January). Mind. Retrieved November 4, 2024.