ทำความรู้จัก PTSD และวิธีดูแลผู้ป่วย PTSD เบื้องต้น

PSTD คืออะไร?

PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดขึ้นเมื่อมีคนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรงที่สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้เป็นอย่างมาก มักเกิดกับคนที่เจอเหตุการณ์เลวร้าย เช่น การกราดยิง การทำร้ายร่างกาย ประสบภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม หรือประสบอุบัติเหตุ เช่น รถชน เป็นต้น

PTSD ส่งผลต่อผู้คนได้อย่างไร?

คนที่เป็น PTSD มักประสบกับอาการ Flashback คือการรู้สึกและเห็นภาพเหตุการณ์เลวร้ายนั้นซ้ำ ๆ ประหนึ่งเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นตรงหน้าอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงส่งผลต่อการนอน ฝันเห็นเหตุการณ์นั้นซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งการที่เหตุการณ์เหล่านี้ยังมีผลกับชีวิตประจำวันของผู้ประสบภัย ส่งผลให้พวกเขาเศร้า วิตกกังวล รู้สึกไม่ปลอดภัย เครียด ตกใจง่าย ควบคุมความรู้สึกไม่ได้ ส่งผลต่อทั้งสภาพร่างกายและสภาพจิตใจได้โดยตรง ซึ่งอาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเองและความคิดเชิงลบเกี่ยวกับตัวเองได้

อาการของ PTSD ที่สังเกตได้

มือสั่น ใจสั่น ตัวสั่น เหงื่อตก เวียนหัว ปวดหัว หวาดกลัวต่อสิ่งรอบข้าง มีความระแวดระวังตัวมากกว่าปกติ แสดงความเครียด วิตกกังวล มีปัญหากับการใช้สมาธิและการคิด อารมณ์แปรปรวน บางรายมีอาการโมโหร้ายได้ง่าย ควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้สึกเศร้า มีความหวาดวิตกเมื่อเจอสิ่งที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์นั้น ๆ มีแนวโน้มเสพติดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ รวมไปถึงมีความพยายามในการทำร้ายตัวเองอีกด้วย

ลำดับขั้นของ PTSD (4 Stages of PTSD)

1. The Emergency Stage

เป็นขั้นที่เกิดขึ้นหลังจากที่เหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยในทันที ทำให้ผู้ประสบภัยเกิดอาการช็อก หวาดกลัว วิตกกังวล รู้สึกผิด ทำอะไรไม่ถูก ไปจนถึงรู้สึกด้านชาเพราะยังประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งขั้นนี้อาจกินเวลาได้ตั้งแต่หลายชั่วโมงไปจนถึงเป็นสัปดาห์เลยทีเดียว 

2. The Rescue Stage

เป็นขั้นที่ผู้ประสบภัยเริ่มรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกที่รุนแรงได้ เช่น รู้สึกโกรธ โมโห บางรายอาจสับสน รู้สึกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และบางรายอาจยังรู้สึกด้านชากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ในขั้นนี้จะเป็นที่ผู้ประสบภัยรู้ตัวมากขึ้น บางรายอาจไม่ยอมรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงอาจปฏิเสธความช่วยเหลือไป แต่ผู้ให้การช่วยเหลือควรอยู่ข้าง ๆ ตลอดเวลา เมื่อพวกเขาพร้อมจะได้ให้การช่วยเหลือทางด้านจิตใจได้ทันท่วงที

3. The Short-Term Recovery Stage

เป็นขั้นที่ผู้ประสบภัยเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ เพราะได้รับความคุ้มครอง ได้รับการดูแล มีการได้พักผ่อนร่างกายและให้ความช่วยเหลือด้านร่างกายเบื้องต้น เช่น ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ ได้กินข้าวครบทุกมื้อ รวมไปถึงได้พบเจอกับคนในครอบครัวหรือคนรักที่เป็นกำลังใจสำคัญอีกด้วย ผู้ประสบภัยจะเริ่มเรียนรู้ที่จะรับมือกับอาการ PTSD ที่พวกเขาต้องเจออีกด้วย

4. The Long-Term Recovery Stage

เป็นขั้นที่ผู้ประสบภัยต้องใช้ระยะเวลาในการรับมือกับ PTSD ซึ่งมันคือการใช้เวลาทั้งชีวิตในการที่จะเรียนรู้วิธีในการรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว ถึงแม้ว่าผู้ประสบภัยจะมีอาการทางกายและจิตใจที่ดีขึ้นแล้วก็จริง แต่เหตุการณ์ที่เป็นฝันร้ายนั้นสามารถถูกกระตุ้นได้ตลอดเวลา ผู้ประสบภัยต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับมันอย่างเหมาะสม และควรได้รับการสนับสนุนอยู่เป็นประจำจากครอบครัว คนใกล้ตัว ที่ทำงาน ไปจนถึงมีการให้ความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา จิตแพทย์ เป็นต้น

วิธีการดูแลผู้ประสบภัย PTSD

  • ทำความเข้าใจว่า PTSD คืออะไร
  • หลีกเลี่ยงการพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 
  • สังเกตอาการที่บ่งชี้ถึงอาการ PTSD เช่น มือสั่น ใจสั่น ตัวสั่น เหงื่อตก เวียนหัว ปวดหัว หวาดกลัว มีความระแวดระวังตัว เครียด วิตกกังวล เป็นต้น
  • สร้าง Safe Space ให้แก่ผู้ประสบภัยได้พักเมื่อมีอาการเกิดขึ้น
  • ให้กำลังใจและการสนับสนุนด้านต่าง ๆ แก่ผู้ประสบภัย
  • ไม่ตัดสินตัวตนและการกระทำของผู้ประสบภัย
  • รับฟังปัญหาและความรู้สึกของผู้ประสบภัยด้วยความเข้าใจและความเคารพ 

อ้างอิง 

Bennett, T. (2018, June 21). PTSD stages: What are the four phases of PTSD? Thriveworks.

Pindar, J. (2023, February 21). PTSD in the Workplace: How to Support Employees. Champion Health.

Center, I. L. (2022, September 19). What Are the Stages of PTSD? Integrative Life Center.