ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence : EI หรือ Emotional Quotient : EQ) ไม่เพียงแต่เป็นทักษะที่เราสามารถปรับใช้กับความสัมพันธ์ทั่วไปในชีวิตประจำวันแล้ว แต่ยังเป็นทักษะที่ช่วยให้เราเอาชีวิตรอดจากชีวิตการทำงานได้อีกด้วย!
เพราะชีวิตการทำงานไม่ได้มีเพียงแต่เรื่องงานเท่านั้น แต่เรายังต้องจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดจากงานต่อภาวะอารมณ์ของตัวเราเอง เพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงต่อสังคมการทำงานของเราด้วย
มาดูกันว่า เราจะปรับใช้ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Intelligence) ในที่ทำงานได้อย่างไรและด้วยวิธีใดได้บ้าง
ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) คืออะไร?
แต่ก่อนที่เราจะไปดูการปรับใช้ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Intelligence) ในที่ทำงาน นั้น เราต้องมาเข้าใจก่อนว่า เจ้าตัว ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Intelligence) คืออะไร?
ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Intelligence) คือ ทักษะความสามารถทางด้านอารมณ์รูปแบบหนึ่ง เป็นการนำความเข้าใจของตัวเราเองไปปรับใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างเหมาะสม รวมถึงมีความเข้าใจทางด้านอารมณ์ของผู้อื่นอีกด้วย ซึ่งมีองค์ประกอบทั้งหมด 5 อย่างด้วยกัน ได้แก่
- การรู้ตัว (Self-Awareness)
- การจัดการอารมณ์ตัวเอง (Self-Regulation)
- แรงจูงใจ (Motivation)
- ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy)
- ทักษะการเข้าสังคม (Social Skills)
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Intelligence) ได้ที่นี่
วิธีการปรับใช้ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Intelligence) ในที่ทำงาน ทำได้อย่างไรบ้าง?
วิธีการปรับใช้ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Intelligence) ในที่ทำงานนั้นคือการที่เรานำองค์ประกอบทั้ง 5 อย่างของ EQ (Emotional Intelligence) อันได้แก่ การรู้ตัว (Self-Awareness) การจัดการอารมณ์ตัวเอง (Self-Regulation) แรงจูงใจ (Motivation) ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) และ ทักษะการเข้าสังคม (Social Skills) มาปรับใช้นั่นเอง ซึ่งทำได้โดยวิธี ดังนี้
- เข้าใจตัวเอง และจัดการอารมณ์ตัวเองได้
ก่อนที่เราจะไปจะไปผูกมิตรกับใครก็ตามในที่ทำงานหรือไปจะไปเข้าวงสังคมใด ๆ ในที่ทำงานก็แล้วแต่ สิ่งที่เราควรพึงระลึกและควรให้การใส่ใจเป็นอันดับแรกคือ “ตัวเราเอง” โดยการสังเกตสภาวะอารมณ์ของตัวเราเองว่ามีความเป็นไปอย่างไร เราโอเคไหม และสังเกตว่าเรามีการตอบรับกับการกระทำของคนอื่นอย่างไร เช่น บางวันเราอาจมีงานเยอะกว่าปกติ ให้สังเกตว่าเรามีการแสดงออกอย่างไร เพื่อไม่ให้มันกระทบต่อภาพลักษณ์และการทำงานในที่ทำงานต่อไป และที่สำคัญ เราต้องมีทักษะการจัดการอารมณ์ที่ดี (Self-Regulation) เพราะมันจะเป็นเครื่องมือชั้นดีเมื่อเราเกิดความเครียดขึ้น หรืออาจเกิดอารมณ์เชิงลบใด ๆ ก็ตามเกิดขึ้น ทักษะการจัดการอารมณ์นี่แหละทีจะช่วยให้เรากลับมาอยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ปกติได้
- เข้าใจผู้อื่น และเข้าสังคมให้เป็น
เมื่อเราเข้าใจโลกภายในของตัวเองแล้ว จัดการอารมณ์ของตัวเองได้เป็นอย่างดีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรทำความเข้าใจเพื่อให้ความสัมพันธ์ในที่ทำงานเป็นไปได้ด้วยดีคือการมี Empathy ด้วยการมีความเข้าอกเข้าใจต่อผู้อื่น ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจมุมมองของเพื่อนร่วมงาน และช่วยให้เราตอบสนองและแสดงพฤติกรรมต่อพวกเขาได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น อีกทั้งช่วยให้เราเข้าสังคมในที่ทำงานได้อย่างลื่นไหลมากขึ้น นอกจากการมี Empathy ต่อเพื่อนร่วมงานแล้ว การสังเกตภาษากายและการไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องดรามาในที่ทำงานก็เป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน
- เข้าใจแรงจูงใจในการทำงานของตัวเอง
คนส่วนใหญ่ทำงานเพื่อเอาชีวิตรอดจากภาระที่มาพร้อมกับการเติบโต แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่เราทุกคนต่างอยากมาทำงาน ลองถามตัวเองและค้นหาคำตอบของเหตุว่าทำไมเราถึงอยากมาทำงานนี้ เพื่อใช้ข้อมูลตรงนี้เป็นแรงจูงใจให้เราผลักตัวเองให้สู่จุดที่ดีขึ้นและพัฒนาตัวเองให้ไปได้ไกลมากขึ้น เพราะการอยากประสบความสำเร็จนี่แหละ จะช่วยให้เราพัฒนาตัวเองและได้มีความสนุกกับชีวิตการทำงานมากขึ้น
ลองทำตามนี้กันดูนะ เพื่อให้เราได้ขัดเกลาและฝึกทักษะความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Intelligence) อย่างเป็นประจำ จะได้เข้าใจตัวเราเอง ผู้อื่น และสังคมภายนอกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราปรับตัวและมีชีวิตการทำงานที่มีความสุขต่อไปได้นั่นเอง
อ้างอิง
MSEd, K. C. (2022, December 11). Utilizing Emotional Intelligence in the Workplace. Verywell Mind.