ADHD in Adult เมื่อ ADHD ไม่ได้แสดงออกในวัยเด็ก แต่มาโผล่ในวัยผู้ใหญ่แทน

หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับโรค ADHD (Attentive) หรือโรคสมาธิสั้น ว่ามักเป็นโรคที่เจอได้ทั่วไปในวัยเด็ก แต่แท้จริงแล้ว โรคนี้ไม่ได้มีแค่ในวัยเด็ก แต่ยังมีในวัยผู้ใหญ่อีกด้วย! 

ADHD คืออะไร?

โรค Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) หรือที่คนไทยรู้จักกันว่าโรคสมาธิสั้น คือโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่มีลักษณะอาการเด่นคือการที่ไม่สามารถโฟกัสกับการทำอะไรนาน ๆ ได้ ถึงแม้ว่าตอนเด็ก ๆ จะไม่มีอาการทางโรคแสดงออกมา แต่ช่วงที่เราเติบโตมานั้น ในหลาย ๆ ครั้งอาจพบว่าคนที่เป็น ADHD มีความรู้สึกเบื่อหน่ายค่อนข้างง่าย โฟกัสไม่ค่อยได้ โดยเฉพาะกับกิจกรรมหรืองานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ซึ่งมันมีความน่าเบื่อในตัวเนื้องานอยู่แล้ว เช่น อ่านหนังสือ นั่งฟังอาจารย์ในคาบสอน เป็นต้น โดยปัญหาการโฟกัสเหล่านี้ส่งผลให้มีปัญหาในการคิด การตัดสินใจ การวางแผน รวมไปถึงการบริหารจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตอีกด้วย 

แล้ว ADHD ในวัยผู้ใหญ่มาจากไหน?

จริง ๆ แล้ว ADHD อาจอยู่กับเรามาตั้งแต่เด็ก เพียงแต่มันไม่ได้แสดงอาการ หรือแสดงอาการน้อยแต่ไม่ได้รับการรักษาก็เป็นได้ ซึ่งตอนเด็กอาจไม่ได้ส่งผลกระทบมาก แต่พอโตมา มันเริ่มแสดงอาการมากขึ้น ซึ่ง ADHD ยังไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่จากการสันนิษฐานแล้ว อาจมีสาเหตุมาจาก

1. ปัจจัยด้านพันธุกรรม มีคนในครอบครัวเป็นเหมือนกัน

2. ปัจจัยด้านกายภาพที่ได้รับผลกระทบมาจากสิ่งอื่น เช่น ระหว่างที่แม่ตั้งครรภ์ แม่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือเสพสารเสพติด ไปจนถึงได้รับสารตะกั่ว หรือมีความจำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนดก็เสี่ยงทำให้เป็น ADHD ได้

นอกเหนือจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว ยังมีความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่ ADHD ในวัยผู้ใหญ่ได้ เช่น การทำกิจกรรมที่ไม่กระตุ้นการทำงานของสมอง เช่น การไถ TikTok ทั้งวันทั้งคืน ไม่เพียงแต่ติ๊กต๊อกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสื่อย่อยง่ายอื่น ๆ เช่น Reels และ Shorts อีกด้วย

ADHD ในวัยผู้ใหญ่ เป็นยังไง?

สำหรับอาการของ ADHD ในวัยผู้ใหญ่จะมีความแตกต่างจาก ADHD ในวัยเด็ก และในแต่ละรายก็จะมีอาการแตกต่างกันไปด้วย 

  • โฟกัสอะไรนาน ๆ ไม่ได้
  • วอกแวกบ่อย
  • เบื่อง่ายถ้าต้องทำอะไรซ้ำ ๆ หรือเจออะไรไม่น่าสนใจ
  • ขี้ลืม บ่อยครั้งหาของไม่เจอ
  • ผัดวันประกันพรุ่ง ทำงานไม่เสร็จทันเดดไลน์
  • จัดการตารางงานและกิจกรรมในชีวิตประจำวันไม่ได้
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย เครืยดง่าย
  • เป็นผู้ฟังที่ไม่ดี
  • ไม่เก่งในการจัดการบทสนทนา อาจมีการพูดแทรกคนอื่น พูดเยอะ ไม่เว้นช่วงให้คนอื่นพูด
  • รู้สึกตื่นเต้นและโฟกัสได้หากเจอสิ่งที่น่าสนใจ เช่น ไถ TikTok หรือ Reels ทั้งวัน เสพติดสิ่งที่มาไวไปไว และมีเนื้อหาสั้น ๆ  

วิธีดูแลตัวเองเมื่อรู้ว่าเป็น ADHD

1. เข้ารับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ

หากเริ่มสงสัยว่าตัวเองเป็น ADHD จำเป็นต้องเข้าพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัด ในบางรายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ อาจต้องรับยา และใช้การบำบัดร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ก็เป็นแล้วแต่เคสนะ

2. ฝึกจัดการเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตด้วยตนเอง

อาจเริ่มจากการจดบันทึกว่าแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง มีกิจกรรมไหน ใช้เวลาเท่าไหร่ อยากเอาเวลาที่เหลือไปทำอะไรบ้าง แรก ๆ อาจจะยาก แต่ถ้าหากเราอยากรับมือชีวิตและวางแผนให้ดีขึ้น จำเป็นต้องทำนะ แรก ๆ อาจจะยาก แต่ลองทำไปเรื่อย ๆ นะ จะได้คุ้นชินกับมันมากขึ้น

3. ฝึกทักษะการฟัง

เนื่องจากคนที่เป็น ADHD บางคนมีปัญหากับการฟังและการเข้าสังคม ทำตัวไม่ถูกเมื่อเจอคนเยอะ ๆ ลองฝึกฟังคนใกล้ก่อนก็ได้ เริ่มจากการฟังพวกเขาพูด ไม่พูดแทรก และฟังอย่างตั้งใจ เพื่อจะได้เข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้น และเป็นการฝึกว่าควรตอบสนองต่อผู้พูดอย่างไร

4. ดูแลสุขภาพกายให้ดี

ทานอาหารให้เพียงพอ นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ ออกกำลังกายบ้าง เพราะสุขภาพกายส่งผลต่อสุขภาพใจได้โดยตรง ถ้ามีความเครียดก็อาจส่งผลให้เราวอกแวกง่ายขึ้น ดังนั้น ควรรักษาสุขภาพกายให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ

5. ให้ความสำคัญกับสุขภาพใจอย่างสม่ำเสมอ

เครียดไหม วิตกกังวลไหม หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ให้หาวิธีการจัดการความเครียดที่ตัวเองชอบใช้ เช่น อาจออกไปหาอะไรกิน ออกไปเดินเล่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม หรือทำการฝึกสติ (Mindfulness) อย่างเป็นประจำ จะช่วยให้จัดการกับความเครียดได้ง่ายขึ้น รวมถึงลดอาการจาก ADHD ได้มากขึ้นด้วย

ปัจจุบัน มีผู้ใหญ่หลาย ๆ คนค้นพบว่าตัวเองเป็น ADHD Forbes (2023) กล่าวว่า มีผู้ใหญ่กว่า 6.8% หรือคิดเป็นจำนวนประชากรประมาณ 366.3 ล้านคนทั่วโลกมีอาการของ ADHD หลัก ๆ มาจากสาเหตุที่ตอนเด็ก ๆ ไม่ได้รับการวินิจฉัยและไม่ได้ทำการดูแลโรค ADHD อย่างจริงจัง ทำให้อาการของโรคมาแสดงออกในตอนโต ประกอบกับปัจจุบันนี้เรามีสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้การจดจ่อของเราแย่ลง จึงทำให้ใคร ๆ ก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ได้ 

ADHD ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว เพียงแต่เราต้องจัดการตัวเองและอยู่กับมันให้ได้ หาวิธีของตัวเองในการจัดการมันให้ได้ เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันนะ ❤️‍🩹

อ้างอิง

Bumrungrad International Hospital. (n.d.).