ว่าด้วยเรื่องของโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder : MDD) โรคร้ายที่บั่นทอนจิตใจคนไทยมานับไม่ถ้วน

หากจะพูดถึงโรคทางจิตเวชสักโรคที่คนไทยเป็นกันมากที่สุดและเป็นโรคที่คุ้นหูคนไทยมากที่สุด หนึ่งในนั้นต้องมี “โรคซึมเศร้า” อย่างแน่นอน โดยปัจจุบันผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในไทยถือว่ามีมากจนติดท็อป 1 ใน 3 อันดับโรคทางจิตเวช ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้โรคซึมเศร้าได้กลายมาเป็นโรคจิตเวชลำดับแรก ๆ ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกัน 

และการรู้จักโรคซึมเศร้านี้เอง ที่ทำให้หลาย ๆ คนหันมาใส่ใจสุขภาพจิตกันมากขึ้น ในวันนี้เราจึงจะมาพูดถึงโรคซึมเศร้าให้มากขึ้นกัน

MDD คืออะไร โรคซึมเศร้ามีกี่แบบ?

โรคซึมเศร้า หรือชื่อในภาษาอังกฤษเรียกว่า Major Depressive Disorder (MDD) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า Depression เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรคซึมเศร้า (Depressive Disorders) ซึ่งหมายความว่าภายในกลุ่มนี้จะมีโรคซึมเศร้ารูปแบบอื่น ๆ แบ่งแยกกันไปตามอาการเด่นของโรค แต่สำหรับในวันที่เราเลือกพูดถึง MDD นั้น เพราะว่าโรคซึมเศร้าประเภทนี้เป็นกลุ่มที่พบได้ง่าย และเป็นโรคซึมเศร้าประเภทที่คนทั่วไปคุ้นเคยมากที่สุดนั่นเอง 

โรคทางจิตเวชหลาย ๆ โรคมีสาเหตุการเกิดที่ไม่แน่ชัด เนื่องจากการป่วยเป็นโรคทางใจได้นั้นเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยรวมกัน โรคซึมเศร้าก็เช่นกัน อาจเกิดจากพันธุกรรม สารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล ฮอร์โมนไม่สมดุล สภาวะจิตใจที่อ่อนไหวได้ง่าย มีทัศนคติต่อตัวเองและคนรอบข้างไม่ดีเป็นทุนเดิม เติบโตมากับครอบครัวที่ไม่อบอุ่น ประสบการณ์ในวัยเด็กที่อาจโดนทำร้าย หรืออยู่ท่ามกลางสังคมที่มีความกดดัน มีสารเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง หรืออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเติบโต เช่น มีมลพิษทางน้ำและอากาศ เป็นต้น ทั้งหมดนี้สามารถเป็นตันเหตุของโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

ในส่วนของประเภทของโรคซึมเศร้า สามารแบ่งกลุ่มโรคซึมเศร้าแยกย่อยตามอาการเด่นของโรคได้ ดังนี้

  • Persistent Depressive Disorder (PDD) : หรือ Dysthymia คือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง เป็นโรคซึมเศร้าที่มีอาการตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
  • Bipolar Disorder : โรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งมีอาการของโรคซึมเศร้าร่วมด้วย
  • Postpartum Depression (PPD) : โรคซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งเกิดจากร่างกายของคุณแม่เปลี่ยนไปในช่วงตั้งครรภ์
  • Premenstrual Dysphoric Disorder (PMDD) : โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นเป็นประจำช่วงที่มีประจำเดือน อันเนื่องมาจากระดับฮอร์โมนไม่คงที่
  • Seasonal Affective Disorder (SAD) : โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล เกิดขึ้นเมื่อถึงการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ก็ส่งผลต่อร่างกายและภาวะอารมณ์ด้วย
  • Atypical Depression : โรคซึมเศร้ากลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่มีความสอดคล้องกับกลุ่มโรคซึมเศร้าที่ได้กล่าวมา
  • และ Major Depressive Disorder (MDD) : โรคซึมเศร้า เป็นกลุ่มโรคที่พบได้มากที่สุด ซึ่งเราจะมาพูดถึงต่อไป

อาการของโรคซึมเศร้า MDD

  • รู้สึกเศร้า รู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า
  • ไม่อยากทำอะไรเลย
  • เหนื่อยง่าย ไร้เรี่ยวแรง
  • รู้สึกง่วงได้ง่าย
  • พฤติกรรมการทานอาหารเปลี่ยนไป ทานอาหารเพิ่มขึ้น หรืออาจทานอาหารลดลง
  • น้ำหนักเปลี่ยนไป
  • ตัดสินใจได้ไม่ดีนัก
  • มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย

โดยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องมีอาการตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป และควรได้รับคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเพิ่มเติม เพื่อให้สภาวะอารมณ์กลับมาเป็นปกติ

วิธีการรักษาโรคซึมเศร้า MDD

เช่นเดียวกับโรคทางจิตเวชโรคอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเรามีอาการของโรคและป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอย่างแท้จริง จำเป็นต้องทำแบบทดสอบประเมินร่วมกับนักจิตวิทยา และต้องได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการรักษาทางจิตวิทยา โดยกระบวนการรักษาก็จะขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน บางคนอาจจำเป็นต้องเข้ารับคำปรึกษากับนักจิตวิทยา บ้างต้องเข้ารับการทำจิตบำบัด เช่น การทำ CBT บ้างต้องทานยาต้านซึมเศร้า (Antidepressant) ร่วมด้วย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยอาจทำร้ายตัวเองขึ้นมา ก็จำเป็นต้องแอดมิตเพื่อให้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาคอยดูอาการกันต่อไป

ที่สำคัญก็คือ หากเราเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว เราสามารถหายจากโรคได้ เราไม่ได้จะเป็นไปตลอดชีวิต โรคทางจิตเวชสามารถเป็นได้และหายได้เช่นเดียวกับโรคทางกายอื่น ๆ ดังนั้น หากเริ่มสงสัยว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วละก็ อย่าลืมมาปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ด้วยนะ

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การบำบัด (Therapy) ได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การวางตัวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ได้ที่นี่

อ้างอิง

Types of Depression and How to Recognize Them. (2024, July 11). WebMD.

Schimelpfening, N. (2023, June 16). 7 Common Types of Depression. Verywell Mind.