การบำบัด (Therapy) คืออะไร?

therapy session

การบำบัดคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร แล้วใครเข้ารับการบำบัดได้บ้าง มาหาคำตอบกันเลย Therapy คือ การบำบัด ซึ่งเป็นคำกว้าง ๆ ที่ใช้เรียกการบำบัดรวม ๆ ทางการแพทย์ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปที่การบำบัดประเภทใดประเภทหนึ่ง เบื้องต้นการบำบัดมีรูปแบบที่เป็นการบำบัดทางด้านร่างกาย (Physical Therapy) และการบำบัดทางจิต (Psychotherapy) ซึ่งเราจะพูดถึงการบำบัดทางจิตเป็นหลักในบทความนี้ 

การบำบัด หรือ การบำบัดทางจิต (Therapy หรือ Psychotherapy) เป็นกระบวนการในการทำให้สุขภาพจิตของผู้เข้าร่วมการบำบัดเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หรือให้ตรงกับเป้าหมายอื่น ๆ ที่ผู้เข้ารับการบำบัดและนักบำบัดมีร่วมกัน โดยใช้หลักการ (Approaches) ที่เหมาะสมกับปัญหาที่ผู้เข้ารับการบำบัดต้องการแก้ไข และเป็นหลักการที่ผู้บำบัดได้รับการรับรองว่ามีประสบการณ์ด้านวิชาชีพในการใช้หลักการดังกล่าว

การบำบัดแต่ละประเภทจะมีจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายแตกต่างกันไปตามลักษณะของปัญหา ทั้งนี้ จุดร่วมของการบำบัด หรือ Therapy ประเภทต่าง ๆ คือ การทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดรู้สึกดีขึ้น มีอาการดีขึ้น สามารถรับมือกับปัญหาที่กำลังพบเจอได้ และทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

การบำบัด Therapy มีหลากหลายประเภทมาก ซึ่งเราได้รวบรวมการบำบัดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมาให้ได้อ่านกัน


การบำบัดสายจิตวิเคราะห์ Psychoanalytic Therapy 

เป็นการบำบัดด้วยการพูดคุย (Talk Therapy) ที่ใช้แนวคิดทฤษฎีทางจิตวิเคราะห์ซึ่งเป็นการสืบหาต้นตอของเรื่องราวจากจิตใต้สำนึก (Unconscious Mind) โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ความฝัน (Dream Intepretation) การให้ผู้เข้ารับการบำบัดพูดสิ่งที่คิด (Free Association) และการสะท้อนความรู้สึกของผู้เข้ารับบำบัด (Transference) ซึ่งมีความคล้ายกับการโรลเพลย์ แต่จะไม่มีการพูดโต้ตอบระหว่างกัน เป็นต้น แต่ Psychoanalytic Therapy ก็มีการพัฒนาต่อยอดที่ให้ความสำคัญกับลักษณะนิสัยของคนแต่ละคน ความรู้สึกนึกคิดและสภาพแวดล้อมของผู้คนมากขึ้น จนกลายเป็นการบำบัดแบบ Psychodynamic Therapy

การบำบัดสายมนุษยนิยม Humanistic Therapy

เป็นการบำบัดที่เน้นทำการเข้าใจตัวตนของผู้เข้ารับการบำบัดในฐานะมนุษย์ที่มีความแตกต่างกัน มีความต้องการและเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดยเน้นไปที่การส่งเสริมและสนับสนุนมนุษย์แบบองค์รวมและรอบด้าน (Holistic) เพื่อให้ผู้คนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีเป้าหมายในการใช้ชีวิต และสามารถรับมือกับปัญหาและความยากลำบากในชีวิตต่อไปได้

การบำบัดพฤติกรรม Behavioral Therapy และการบำบัดการรู้คิด Cognitive Therapy

Behavioral Therapy เป็นการบำบัดที่เน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมที่ดี และลดการเกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี

ในส่วนของ Cognitive Therapy เป็นการบำบัดที่เน้นไปที่การปรับเปลี่ยนความคิด อารมณ์ความรู้สึก รวมถึงพฤติกรรม ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้การบำบัดสองรูปแบบนี้ควบคู่กันไป จนกลายมาเป็นการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (CBT หรือ Cognitive Behavioral Therapy) อย่างเช่น เคสผู้ป่วย Eating Disorders ที่มีอาการ Anorexia คือกลัวความอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน จึงไม่ยอมกินอาหารตามที่ร่างกายต้องการ ต่อมามีการใช้ CBT ในการเปลี่ยนความคิดว่าอาหารส่งผลต่อร่างกายอย่างไร ให้ทานอาหารตามหลักโภชนาการ และให้หันมาออกกำลังกาย หรือเคสผู้ป่วยไบโพล่าร์ มีอารมณ์สวิง ไม่แน่อน และมีอาการซึมเศร้า ใช้ CBT ในการช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับไบโพล่าร์และมีการปรับความคิดเรื่องคุณค่าของตัวเอง และมีการเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการนอน การกิน การออกกำลังกาย เป็นต้น  

การบำบัดแบบ  Dialectical Behavior Therapy (DBT)

เป็นการบำบัดที่มีความคล้ายกับ CBT โดยเน้นไปที่การเปลี่ยนความคิดและปรับปรุงพติกรรม แต่ DBT ใช้การเข้าใจและยอมรับตัวเองเป็นหนึ่งในวิธีการ มีการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่จะยอมรับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหาและความรู้สึก และสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าสำหรับแต่ละคน

การบำบัดโดยใช้ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ Art and Creative Therapies 

เป็นการบำบัดที่มีการนำศิลปะและสื่อครีเอทีฟอื่น ๆ มาเป็นตัวกลางในการช่วยในกระบวนการบำบัด เช่น  ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด ละครบำบัด โดยให้ผู้เข้ารับบำบัดถ่ายทอดความรู้สึกผ่านศิลปะรูปแบบต่าง ๆ แทนการใช้คำพูด    

การบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์ Eye Movement Desensitisation and Reprocessing (EMDR) 

เป็นการบำบัดที่มีความเกี่ยวข้องกับความทรงจำโดยใช้การกระตุ้นสมอง ซึ่งการบำบัดรูปแบบนี้มีความเหมาะสมกับกลุ่มคนที่มีอาการ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) เป็นส่วนใหญ่ 

การบำบัดแบบการยอมรับและพันธสัญญา Acceptance and Commitment Therapy (ACT)

เป็นการบำบัดที่ให้ความสำคัญกับการยอมรับประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง และความเป็นปัจจุบัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกสติ (Mindfulness) โดยการบำบัดรูปแบบนี้สามารถช่วยให้เรายอมรับ โอบกอดตัวเองด้วยความเข้าใจ และจัดการกับปัญหาและอารมณ์ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เหมาะกับใคร และใครมารับการบำบัดได้บ้าง

ทุกคนสามารถเข้ารับการบำบัดได้ ใครก็ตามที่เริ่มรู้สึกไม่ดี รู้สึกว่าปัญหาในชีวิตเริ่มส่งผลกระทบทางลบต่อตัวเองก็มาได้ทั้งนั้น ไม่ต้องรอให้รู้สึกแย่มาก ๆ ถึงค่อยมา เพราะการเริ่มแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้เราหาทางออกได้ง่ายและไวขึ้น ดังนั้น ถ้ามาเข้ารับการบำบัดตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่เริ่มรู้สึกแย่ ก็สามารถช่วยให้หาทางออกและหาวิธีการจัดการกับความรู้สึกแย่ ๆ ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง 

การบำบัด Therapy ในไทยเป็นอย่างไร

การดูแลสุขภาพจิตได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะมันมีความสำคัญไม่ต่างจากสุขภาพกาย ส่งผลให้คนไทยเปิดกว้างกับการเข้ารับคำปรึกษาและการบำบัดมากขึ้น ซึ่งทำให้มีผู้ให้บริการด้านจิตวิทยาและการบำบัดมีหลากหลายแนวทางมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น CBT, DBT, Art Therapy ศิลปะบำบัด เป็นต้น ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะมีการบำบัดที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับผู้คนหลากหลายกลุ่มที่ต้องการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันนั่นเอง 

บริการของ Peace Please Studio สำหรับบุคคล

บริการของ Peace Please Studio สำหรับองค์กร


อ้างอิง

What is Therapy and Will it Work?

Types of therapy An A-Z of therapeutic approaches

Talking therapy and counselling

What is therapy? A beginner’s guide to mental health

Types of Therapy for Mental Health.