คนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า เราต้องวางตัวอย่างไรดี?

รู้จักกันมาตั้งนาน เห็นหน้าค่าตากันมาตลอด เจอทีไรก็เห็นยิ้มร่าและสดใสมาตลอดมา

แต่เบื้องหลังความร่าเริงนั้นคือโรคซึมเศร้า?! 

ในแต่ละปี จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้เองโรคซึมเศร้าจึงได้กลายมาเป็นโรคทางจิตเวชที่ช่วยทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากขึ้น และทำให้ผู้คนในสังคมตื่นตัวเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งโรคซึมเศร้านี้เอง เป็นโรคร้ายที่ใกล้ตัวกว่าที่คิดมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนในครอบครัว หรือคนสนิท ที่เรามองพวกเขาว่าเป็นคนที่ร่าเริง สดใส มีความสุขตลอดเวลา ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นเหยื่อของโรคซึมเศร้าตัวร้ายนี้กันได้ทั้งนั้น

นอกจากโรคซึมเศร้าจะทำให้การมีชีวิตของผู้ป่วยเป็นเรื่องที่ท้าทาย ยากลำบาก และต้องปรับตัวมากแล้ว มันยังทำให้คนใกล้ตัวรู้สึกทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน เพราะกลัวว่าจะไปทำร้ายความรู้สึกจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่ดี อาการกำเริบได้ จึงทำให้คนใกล้ตัวทำตัวแปลกไปไม่เหมือนเดิม จนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผิดและมองว่าเพราะเขาป่วยเป็นโรคซึมเศร้านี่เองที่ทำให้คนรอบตัวเปลี่ยนไปจนความสัมพันธ์รอบข้างไม่เหมือนเดิม และอาจส่งผลต่อสุขภาพใจของผู้ป่วยได้โดยตรง

ในฐานะที่เป็นคนใกล้ตัวและมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วย เราคงไม่อยากให้คนของเรารู้สึกแย่ลงหรือรู้สึกแย่ใช่ไหม? ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อช่วยเหลือและซัพพอร์ตให้ผู้ป่วยได้รับกำลังใจที่ดีในการฝ่าฝันโรคร้ายนี้ไปให้ได้ ด้วย 5 วิธีวางตัวเมื่อคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า

5 วิธีวางตัวเมื่อคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า

1. ทำความเข้าใจในตัวโรค

ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าว่ามันคืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง และส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอย่างไร ซึ่งการมีความรู้ความเข้าใจนี้ติดตัวเอาไว้จะช่วยทำให้เราเข้าใจคนของเรามากขึ้นและสังเกตเห็นความผิดปกติได้ง่ายขึ้นนั่นเอง 

2. ทำตัวเหมือนเดิม

หลาย ๆ ครั้งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่กล้าบอกคนใกล้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า เป็นเพราะกลัวว่าคนรอบข้างจะเปลี่ยนไป กลัวว่าคนอื่นจะรังเกียจและกลัวที่ตัวเองเป็นโรคนี้ ในฐานะคนใกล้ตัว สิ่งที่เราทำได้คือการทำตัวเหมือนเดิม เป็นมิตรกับเขาเหมือนเดิม เล่นกับเขาเหมือนเดิม ดูแลและให้ความเคารพเหมือนเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเดิม แต่ถ้าหากไม่มั่นใจว่าพฤติกรรมของเราจะไปกระทบความรู้สึกของเขาหรือไม่ ก็ควรมีการไถ่ถามเพื่อจะได้แก้ไขสิ่งที่ไม่ดีไปด้วยกัน 

3. รับฟังและให้กำลังใจไม่ห่าง

เพราะการเดินทางฝ่าฟันโรคร้ายนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย กำลังใจจากคนรอบข้างจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราควรให้กำลังใจพวกเขาและคอยรับฟังความยากลำบากที่พวกเขาต้องพบเจอ ฟังด้วยใจ ฟังโดยไม่ตัดสิน รับฟังอย่างแท้จริง ไม่ดุด่า ว่าร้าย หรือตัดทอนกำลังใจ บอกพวกเขาว่ามันจะผ่านไปได้ด้วยดี และพวกเขาจะได้สัมผัสวันที่เต็มไปด้วยความสุขและรอยยิ้มในอนาคตอย่างแน่นอน

4. ถามความต้องการ

เราแต่ละคนมีความต้องการแตกต่างกันไป ผู้ป่วยก็เช่นกัน ถ้าไม่รู้ว่าคนของเราต้องการอะไรจากเรา ลองไปถามเขาอย่างตรงไปตรงมาก็ได้ เพื่อจะได้คำตอบที่ชัดเจนและทำให้เรารู้ว่าเราควรวางตัวอย่างไร เพราะบางคนอยากให้เราให้กำลังใจมากขึ้น บางคนอยากให้ทำตัวเหมือนเดิม หรือบางคนอยากให้เราช่วยปรับวิธีการพูด ทุกคนต่างมีความต้องการที่ส่งผลกระทบต่อตัวโรคแตกต่างกันไป การถามตรง ๆ จะช่วยไขความกระจ่างได้มากกว่า 

5. เตือนให้ไปพบแพทย์เป็นประจำ

บางครั้งช่วงเวลาปรับตัวกับยาหรือปรับตัวกับการรักษา คนของเราอาจมีความคิดหรือความรู้สึกที่ไม่ดีเกิดขึ้นมาจนอยากเลิกรักษาหรืออยากเลิกยาไปเอง ซึ่งจริง ๆ แล้วการเลิกยาหรือเลิกรักษาเองเป็นสิ่งที่ไมควรทำ เพราะผู้ป่วยอาจมีอาการที่ไม่มั่นคงและรู้สึกดิ่งจากตัวโรคและยาได้ ในฐานะคนใกล้ตัว เราควรบอกหรือเตือนถึงความสำคัญในการปฏิบัติทางการแพทย์ แต่ถ้าไปไม่ไหวจริง ๆ เราก็แนะนำให้เขาไปบอกกับแพทย์อย่างตรงไปตรงมาก็ได้ เพื่อจะได้หาวิธีการรักษาที่เหมาะสมไปพร้อม ๆ กัน

คนเราเป็นโรคซึมเศร้าได้ ก็หายป่วยได้เช่นกัน เหมือนกับโรคทางกายอื่น ๆ ที่ต้องได้รับการรักษา และการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ในฐานะคนใกล้ตัวแล้ว เราถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการส่งต่อความหวังและแรงใจในการต่อสู้กับโรคนี้ให้พวกเขา แต่ก็อย่าลืมดูแลใจตัวเองด้วย