คุณพอจะคุ้นหูกับคำพูดที่ว่า “โตไปเดี๋ยวก็ลืมเองแหละ” ที่ผู้ใหญ่มักพูดกับเราในสมัยเด็ก ๆ กันบ้างไหม? มันมักเป็นประโยคที่ผู้ใหญ่มักพูดตอนที่แกล้งเรา หรือทำตัวไม่น่ารักกับเรา โดยที่พวกเขาคิดกันไปเองว่า พอเราโตขึ้นเดี๋ยวเราก็ลืมเรื่องราวแย่ ๆ พวกนั้นไปเองแหละ แต่พอโตขึ้นมาจริง ๆ กลายเป็นว่าความทรงจำเหล่านั้นยังคงอยู่ ซ้ำร้ายกว่านั้น มันอาจสร้างบาดแผลในใจให้เราตลอดมาเลยก็เป็นได้ โดยความทรงจำแย่ ๆ ที่ติดตัวมาจากในวัยเด็กนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Childhood Trauma หรือ บาดแผลทางใจในวัยเด็ก
Childhood Trauma คืออะไร?
เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็นบาดแผลทางใจในวัยเด็ก บ้างก็เรียกว่าเป็น ปมในวัยเด็ก ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็ก โดยประสบการณ์เหล่านั้นทำให้เรารู้สึกถูกคุกคามหรือรู้สึกตกอยู่ในอันตรายทั้งทางร่างกาย จิตใจ ความคิด อารมณ์ และความเป็นอยู่ เช่น การโดนคนในครอบครัวเพิกเฉย การโดนบูลลี่ การโดนเหยียด การโดนทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ การสูญเสีย การประสบภัยสงคราม การประสบภัยพิบัติ รวมไปถึงการอาศัยอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ชุมชนที่มีอัตราผู้เสพสารเสพติดสูง หมู่บ้านที่มีแต่คนดื่มน้ำกระท่อม นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงเหตุการณ์ที่เด็กไม่ได้เผชิญหน้าโดยตรงด้วยก็ได้ เช่น การเห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน การเห็นคนในครอบครัวฆ่าตัวตาย การดูข่าวสารหรือสื่อที่มีความรุนแรง เป็นต้น
แม้ว่า Childhood Trauma มีสาเหตุมาจากเหตุการณ์และประสบการณ์ในวัยเด็กที่นับว่าเป็นอดีตเมื่อนานมาแล้วก็ตาม แต่ระยะเวลาที่ผ่านไปตั้งแต่วัยเด็กมาจนถึงปัจจุบันก็อาจไม่ได้ช่วยเยียวยาจิตใจได้เท่าไหร่นัก และสามารถส่งผลให้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่มีปัญหาตามมาได้อีกด้วย
Childhood Trauma ส่งผลในวัยผู้ใหญ่ได้อย่างไรบ้าง?
1. ผลกระทบทางด้านร่างกาย
ป่วยได้ง่ายขึ้น และมีแนวโน้มเป็นโรคได้ง่ายขึ้น เนื่องจากร่างกายมีการปรับตัวจากความรู้สึกที่เกิดจากประสบการณ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น เรามีประสบการณ์ไม่ดีกับที่แคบ ทำให้รู้สึกกลัว ตระหนกตกใจเมื่อต้องอยู่ในที่แคบ เมื่อเจอพื้นที่แคบ ๆ ตั้งแต่เด็กจนโต ร่างกายจึงอยู่ในภาวะกลัว หวาดกลัวง่าย มีการหายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว เมื่อร่างกายเป็นแบบนี้ในระยะที่นานเข้า ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของโรคทางด้านระบบไหลเวียนโลหิต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหอบหืด เป็นต้น
นอกจากนี้ Childhood Trauma ยังสามารถส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่น ๆ ได้อีกมากมาย เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคปอด รวมไปถึงมะเร็งด้วยก็ได้
2. ผลกระทบทางด้านจิตใจ
เนื่องจาก Childhood Trauma มีสาเหตุที่กว้างมาก จึงทำให้ผลกระทบที่ตามมาในวัยผู้ใหญ่ก็กว้างมากตามไปเช่นกัน เช่น ถ้าตอนเด็ก ๆ เราโดนคนที่บ้านโกรธหรือดุด่าใส่ ก็อาจส่งผลให้เรามีปัญหากับการรับมือกับความโกรธ (Anger Issue) ในวัยผู้ใหญ่ได้ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ส่งผลให้เราเกิดความเครียดเรื้อรัง (Chronic Stress) ที่สามารถนำไปสู่ความเสี่ยงทั้งทางร่างกายและจิตใจอื่น ๆ ได้อีกมากมาย และที่ขาดไปไม่ได้ Childhood Trauma สามารถส่งผลให้เกิดโรคทางจิตเวชได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรค PTSD เป็นต้น
3. ผลกระทบทางด้านความสัมพันธ์
ผลกระทบด้านความสัมพันธ์นี้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนที่มี Childhood Trauma เพียงคนเดียวแล้ว แต่ยังส่งผลต่อผู้อื่นด้วย เช่น ในวัยเด็กเราโดนพ่อแม่ทำร้ายร่างกาย ทำให้กลัวและวิตกกังวลเมื่อต้องเข้าสังคมหรืออาศัยร่วมกับผู้อื่น มีปัญหาด้านความไว้วางใจ (Trust Issue) ส่งผลให้กลายเป็นคนที่ไว้วางใจคนอื่นยากและปิดกั้นตัวเอง นอกจากคนในครอบครัว ยังรวมไปถึงคนอื่น ๆ ที่สร้างบาดแผลให้กับเราในวัยเด็ก เช่น มีคนข้างบ้านมาบอกว่าเราหน้าตาไม่ดี ก็อาจส่งผลให้ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง มี Low Self-Esteem ซึ่งผลกระทบเหล่านี้สามารถส่งผลต่อเราในความสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ เช่น เรามีแฟนที่รักเราอย่างที่เราเป็น แต่เรามีความไม่มั่นใจในตัวเอง มองตัวเองไม่ดี ไม่สวยพอ จนทำให้เกิดความคิดว่าแฟนคบกับเราเพียงเพราะผลประโยชน์อื่น เป็นต้น
ซึ่งผลกระทบทั้ง 3 ด้านนี้ ต่างมีผลต่อพฤติกรรม ความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของเราต่อเหตุการณ์ในปัจจุบันได้ทั้งหมด
การรับมือกับ Childhood Trauma
1. เข้ารับการบำบัด
หากรับรู้และเข้าใจว่าสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเราในตอนนี้คือผลพวงที่มาจากบาดแผลในวัยเด็ก ซึ่งการจะแก้ไขหรือเข้าไปถึงจิตใจเพื่อล้วงลึกถึงต้นตอและบาดแผลของเราอาจเป็นเรื่องที่ยากหากต้องทำด้วยตัวคนเดียว เราจึงแนะนำให้คุณเข้ารับการรักษากับนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาทางการแพทย์ที่เหมาะสม และมีการวางแผนการรักษาที่ร่วมกันที่จะทำให้เราเยียวยาจากบาดแผลในวัยเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ดูแลตัวเองอย่างรอบด้าน
หากเราได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเองได้ คือการดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูร่างกายด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือนอนหลับพักผ่อนเพียงพออย่างสม่ำเสมอ ไปจนถึงการเยียวยาจิตใจผ่านการฝึกสติ (Mindfulness) อย่างเช่น การจดบันทึก การนั่งสมาธิ การเข้าร่วม Retreat หรือการทำสิ่งที่เราชอบ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยให้เราได้อยู่กับตัวเอง ได้โฟกัสกับปัจจุบัน และช่วยให้เราใส่ใจดูแลตัวเองในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีด้วย
3. การใช้เวลากับคนที่รักและไว้ใจ
การได้อยู่ท่ามกลางคนที่เรารัก คนที่เราไว้ใจ หรือคนที่ซัพพอร์ตเราอยู่เสมอ สามารถช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัย และมีกำลังใจที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาต่อไปได้ ทั้งนี้ คนที่เรารักและไว้ใจไม่ได้มีแค่คนรัก เพื่อน หรือครอบครัว แต่ยังรวมถึงกลุ่มสังคมที่ตรงกับความสนใจ เช่น กลุ่มทำอาสา กลุ่มคนรักต้นไม้ กลุ่มคนชอบวิ่งมาราธอน จะช่วยทำให้เราได้ฟื้นฟูการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้พบเจอกับความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้เราได้พบเจอกับมิตรภาพดี ๆ ก็เป็นได้
เด็กทุกคนที่เคยมีแผลในใจในวันนั้น มาถึงวันนี้ เด็กคนนั้นได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่บาดแผลนั้นก็ยังไม่จางหายไปสักที ทำให้หลาย ๆ คนยังคงได้รับผลกระทบจากเรื่องราวในวัยเด็ก และส่งผลให้ชีวิตผู้ใหญ่ของเราไม่ราบรื่นนัก ดังนั้น หากรู้สึกว่าชีวิตประจำวันเรามีปัญหาเพราะเรื่องแย่ ๆ ในวัยเด็ก อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือและรับการรักษาทางการแพทย์เลยนะ มาเยียวยาเด็กคนนั้นไปด้วยกันดีกว่า
อ้างอิง
Lcsw, A. M. (2023, November 20). Understanding the Effects of Childhood Trauma. Verywell Mind.