Trigger ทริกเกอร์ คืออะไร? ทำไมถึงต้องมี Trigger Warning?

คิดว่าทุกคนน่าจะเคยเห็นคำเตือนตามรายการทีวีหรือรายการในยูทูปต่าง ๆ ที่มักขึ้นคำเตือนก่อนเริ่มรายการประมาณว่า “รายการนี้เหมาะกับผู้คนในวัย xxx ควรได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมจาก…” หรือจะเป็นการใส่คำเตือนเพื่อชี้แจงเนื้อหาหรือทิศทางรายการคร่าว ๆ ประมาณว่า “รายการนี้มีการนำเสนอเรื่องเพศ ประเด็นที่อ่อนไหว ฯลฯ” กันมาบ้าง ซึ่งการใส่คำเตือนหรือชี้แจงเนื้อหาแบบนี้สามารถพบได้ในโซเชียลมีเดียอย่างใน X (หรือทวิตเตอร์) อีกด้วย ที่มักมีการติด Trigger Warning หรือ TW เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้คร่าว ๆ ว่าเนื้อหาต่อไปนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

ว่าแต่ คุณเคยสงสัยไหมว่า Trigger คืออะไร?

ในทางจิตวิทยาแล้ว Trigger (แปลได้ว่าสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้น) คือการตอบสนองของร่างกายและจิตใจของเราที่มีต่อประสบการณ์ในอดีต ว่าง่าย ๆ ก็คือการถูกกระตุ้นให้นึกถึงวันเก่า ๆ หรือการโดนรื้อฟื้นความทรงจำที่น่าเศร้า เช่น การได้กลิ่นน้ำหอมของคนในครอบครัวที่จากไป ทำให้เราคิดถึงพวกเขา หรือการไปเที่ยวในสถานที่เก่า ๆ ที่เคยไปเที่ยวกับแฟนเก่า ก็ทำให้คิดถึงแฟนเก่าขึ้นมา โดยสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการรื้อฟื้นความทรงจำเก่า ๆ นั้นมีได้หลายอย่างมาก ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนเลย ตั้งแต่สิ่งที่สัมพันธ์กับประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่าง รูป รส สัมผัส กลิ่น เสียง หรือคำพูดบางคำ สถานที่ หรือการกระทำต่าง ๆ เช่น การโดนทอดทิ้ง การอยู่ตัวคนเดียว การโดนดุด่า เป็นต้น เรียกได้ว่า อะไรก็ได้ก็สามารถเป็นสิ่งที่ Trigger ผู้คนได้นั่นเอง 

นอกจากนี้ Trigger หรือสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชโดยตรง เนื่องจากมันคือสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้อาการป่วยแย่ลง เช่น โรค PTSD ที่เป็นโรคที่เกิดจากประสบการณ์ในอดีตที่สร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับผู้ป่วย โรค OCD ที่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความหมกมุ่นเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป ไปจนถึงโรคเสพติดสารเสพติดอีกด้วย โดยหากผู้ป่วยโรคเหล่านี้ได้เจอสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นที่เกี่ยวข้องกับอาการของโรค เช่น ผู้ป่วยโรค PTSD เจอเสียงดังมา ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นความทรงจำจากที่โดนครอบครัวทำร้ายมา จึงทำให้อาการของโรค PTSD กำเริบได้ หรือในผู้ป่วยโรค OCD ที่มีอาการกลัวเชื้อโรค ถูกกระตุ้นด้วยการเจอกองขยะข้างทาง ก็อาจทำให้พวกเขามีอาการของโรค OCD กำเริบขึ้นได้ หรือในผู้ป่วยที่มีอาการเสพติดสารเสพติด เมื่อพวกเขาได้กลิ่นอาหารหรือน้ำหอมที่มีกลิ่นใกล้เคียงกับยาเสพติด ก็อาจเกิดอาการลงแดงและรู้สึกต้องการยาเสพติดขึ้นมาได้ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีอาการชี้เฉพาะเจาะจงอย่างโรคข้างต้นที่เราได้กล่าวถึงไป เราก็สามารถโดน Trigger จากบางสิ่งบางอย่างได้เช่นกัน เช่น ข่าวที่มีเนื้อหารุนแรงอย่างการทำร้ายร่างกาย การข่มขืน การฆาตกรรม ไปจนถึงการทำสิ่งผิดกฎหมายทุกชนิด สิ่งเหล่านี้ก็สามารถกระตุ้นความรู้สึกของคนทั่วไปให้มีความหวาดกลัวและไม่สบายใจได้เช่นกัน 

ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของ การติดคำเตือน หรือ Trigger Warning ก่อนมีการนำเสนอเนื้อหาของรายการต่าง ๆ เพื่อป้องกันให้ผู้ที่มีความอ่อนไหวกับประเด็นดังกล่าวได้รับทราบข้อมูลและได้มีการตัดสินใจก่อนรับสารนั่นเอง ยิ่งด้วยในปัจจุบันที่ผู้คนเริ่มตระหนักถึงประเด็นอ่อนไหวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการที่ผู้คนนิยมชมสื่อผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลายมากย่ิงขึ้น ทั้งเด็กและเยาวชนมีช่องทางในการรับข้อมูลมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ทำให้การติด Trigger Warning ในสื่อทุกชนิดและในทุกแพลตฟอร์ม ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทำสื่อในยุคนี้มากเลยทีเดียว 

อ้างอิง

Understanding Mental Health Triggers - Counseling and Psychological Services. (2023, June 9). Counseling and Psychological Services.

Pedersen, T. (2022, April 28). What Are Triggers, and How Do They Form? Psych Central.