เวลาเรารู้สึกว่าสุขภาพใจสุขภาพจิตเราไม่ค่อยดี ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ สิ่งที่เราจะทำเป็นลำดับต่อมา คือการหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ไม่ก็ถามคนใกล้ตัวว่า ขั้นตอนต่อไปต้องทำอะไรต่อ ต้องไปหาหมอที่ไหนดี ซึ่งก็จะมีทั้งคำตอบที่ให้ไปหา “นักจิตวิทยา” แต่บางคำตอบก็ให้ไปหา “จิตแพทย์” ซึ่งทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า สองอาชีพนี้เหมือนหรือแตกต่างกันไหม หาคำตอบกันได้ที่บทความนี้เลย
นักจิตวิทยา Psychologist คือใคร?
นักจิตวิทยา Psychologist คือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาจิตใจของมนุษย์ สังเกตพฤติกรรมมนุษย์ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการเข้ารับคำปรึกษา และให้การบำบัดแก่ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าต้องได้รับการบำบัด ในส่วนของหน้าที่ของนักจิตวิทยา เพราะจิตวิทยามีหลากหลายประเภท ดังนั้น หน้าที่ของนักจิตวิทยาแต่ละประเภทก็จะมีความแตกต่างกันไปตามเนื้องานและองค์กรที่ทำงานอยู่
นักจิตวิทยาที่ทำงานใกล้ชิดกับการดูแลสุขภาพจิตของคนในสังคมมากที่สุด มี 2 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่
- นักจิตวิทยาคลินิก
นักจิตวิทยาคลินิกคือนักจิตวิทยาที่เรามักเจอที่โรงพยาบาลนั่นเอง เพราะนักจิตวิทยาคลินิกมีหน้าที่ช่วยกันดูแลรักษาร่วมกับจิตแพทย์ หน้าที่หลัก ๆ จะเป็นการทำแบบทดสอบเพื่อตรวจสอบอาการของผู้ที่เข้ารับการรักษา สัมภาษณ์เพิ่มเติม ให้คำปรึกษา รวมถึงช่วยบำบัดผู้เข้ารับการรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละเคสด้วย โดยคนที่จะมาเป็นนักจิตวิทยาคลินิกได้นั้นต้องมีการฝึกงานที่โรงพยาบาลและต้องสอบใบประกอบโรคศิลป์สำหรับนักจิตวิทยาคลินิกอีกด้วย
- นักจิตวิทยาการปรึกษา
นักจิตวิทยาการปรึกษามักทำงานอยู่ตามองค์กรต่าง ๆ ทั้งเอกชนและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการเข้ารับคำปรึกษาโดยใช้หลักการทางจิตวิทยา นักจิตวิทยาการปรึกษาไม่จำเป็นต้องสอบใบอนุญาต แต่ต้องมีชั่วโมงบินในการให้คำปรึกษาเป็นจำนวนมากเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการให้คำปรึกษานั่นเอง
ซึ่งทั้งนักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาการปรึกษาสามารถขอเข้ารับบริการได้ที่หน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล ศูนย์บริการต่าง ๆ คลินิก สายด่วนสุขภาพจิต คอร์สหรือโปรแกรมการดูแลสุขภาพจิตของภาคเอกชน ก็สามารถทำได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ เพราะการเข้าพบนักจิตวิทยาถือเป็นการตรวจเช็กสุขภาพจิตเบื้องต้นไปในตัวอยู่แล้ว หากจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติม นักจิตวิทยาก็สามารถแนะนำให้ผู้เข้ารับบริการไปพบจิตแพทย์ต่อไป
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ นักจิตวิทยา ได้ที่นี่
จิตแพทย์ Psychiatrist คือใคร?
จิตแพทย์ Psychiatrist คือแพทย์ผู้ทำการรักษาที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านจิตเวช (Psychiatry) หรือความผิดปกติทางด้านความคิด จิตใจ และพฤติกรรม ที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง จิตแพทย์มีหน้าที่ในการซักประวัติเพื่อดูภาพรวมของชีวิตและอาการของผุ้ป่วย วินิจฉัยอาการจากข้อมูลที่ได้ ประเมินอาการป่วย ให้การดูแลรักษาตามการวินิจฉัย และจ่ายยากับผู้ป่วยบางรายที่มีความจำเป็นต้องปรับฮอร์โมน ซึ่งการจ่ายยานี้ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการป่วยและตัวโรคเอง ผู้ป่วยที่เข้าพบจิตแพทย์ไม่จำเป็นต้องได้รับการจ่ายยาทุกคน
นอกจากนี้ หากจิตแพทย์ประเมินและวินิจฉัยอาการเบื้องต้น จนได้ข้อสรุปว่า หากผู้ป่วยควรได้รับการทำจิตบำบัด (Psychotherapy) หรือการปรึกษา (Counseling) ซึ่งเป็นกระบวนการทางจิตวิทยา จิตแพทย์จะส่งข้อมูลผู้ป่วยให้แก่นักจิตวิทยา และให้นักจิตวิทยาดำเนินการตามแผนการรักษา หรือในบางกรณี จิตแพทย์อาจดำเนินการกระบวนการทางจิตวิทยาด้วยตัวเอง
เปรียบเทียบความเหมือนและแตกต่างของ นักจิตวิทยา Psychologist vs จิตแพทย์ Psychiatrist
อาชีพ/ ความแตกต่าง | นักจิตวิทยา Psychologist | จิตแพทย์ Psychiatrist |
แนวทางที่ใช้ในการรักษา | จิตวิทยา (Psychology)ศึกษาและสังเกตพฤติกรรมมนุษย์ ให้คำปรึกษา-ให้การบำบัด แก่ผู้ใช้บริการ | จิตเวช (Psychiatry)ศึกษา วินิจฉัย และให้การรักษาแก่ผู้ใช้บริการที่มีความผิดปกติทางสมอง |
วุฒิการศึกษา | วท.บ. (B.Sc.) วิทยาศาสตร์บัณฑิต ศศ.บ. (B.A.) ศิลปศาสตรบัณฑิต | พ.บ. (M.D.) แพทยศาสตรบัณฑิต |
การให้บริการ | วางแผนการรักษา ทำแบบทดสอบ ทำการบำบัดและให้คำปรึกษา โดยขึ้นอยู่กับอาการของผู้ใช้บริการ ไม่สามารถจ่ายยาให้แก่ผู้ใช้บริการได้ | ให้การวินิจฉัย ประเมินอาการ วางแผนการรักษา และจ่ายยาให้แก่ผู้ใช้บริการ |
ถึงแม้ว่าจะเป็นการใช้ศาสตร์ในการให้การรักษาผู้ใช้บริการที่แตกต่างกัน แต่ทั้ง นักจิตวิทยา Psychologist และ จิตแพทย์ Psychiatrist ต่างก็ต้องทำงานร่วมกัน และมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นก็คือ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีอาการดีขึ้นและรู้สึกดีขึ้น
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Personal Solutions จาก Peace Please Studio