นักจิตวิทยา หรือ Psychologist คือใคร? มีหน้าที่อะไร? ทำไมนักจิตวิทยาถึงสามารถช่วยให้คนรู้สึกดีขึ้นได้ วันนี้เราจะไปหาคำตอบกัน
นักจิตวิทยา (Psychologist) คือใคร?
นักจิตวิทยาคือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาจิตใจของมนุษย์ สังเกตพฤติกรรมมนุษย์ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการเข้ารับคำปรึกษา และให้การบำบัดแก่ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าต้องได้รับการบำบัด ในส่วนของหน้าที่ของนักจิตวิทยา เพราะจิตวิทยามีหลากหลายประเภท ดังนั้น หน้าที่ของนักจิตวิทยาแต่ละประเภทก็จะมีความแตกต่างกันไปตามเนื้องานและองค์กรที่ทำงานอยู่ โดยนักจิตวิทยามีประเภทแยกย่อยลงไปอีก ดังนี้
- นักจิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychologist)
นักจิตวิทยาคลินิกคือนักจิตวิทยาที่เรามักเจอที่โรงพยาบาลนั่นเอง เพราะนักจิตวิทยาคลินิกมีหน้าที่ช่วยกันดูแลรักษาร่วมกับจิตแพทย์ หน้าที่หลัก ๆ จะเป็นการทำแบบทดสอบเพื่อตรวจสอบอาการของผู้ที่เข้ารับการรักษา สัมภาษณ์เพิ่มเติม ให้คำปรึกษา รวมถึงช่วยบำบัดผู้เข้ารับการรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละเคสด้วย โดยคนที่จะมาเป็นนักจิตวิทยาคลินิกได้นั้นต้องมีการฝึกงานที่โรงพยาบาลและต้องสอบใบประกอบโรคศิลป์สำหรับนักจิตวิทยาคลินิกอีกด้วย
- นักจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychologist)
นักจิตวิทยาการปรึกษามักทำงานอยู่ตามองค์กรต่าง ๆ ทั้งเอกชนและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการเข้ารับคำปรึกษาโดยใช้หลักการทางจิตวิทยา นักจิตวิทยาการปรึกษาไม่จำเป็นต้องสอบใบอนุญาต แต่ต้องมีชั่วโมงบินในการให้คำปรึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาให้กับกลุ่มคนที่หลากหลายนั่นเอง
- นักจิตวิทยาอุตสาหกรรม หรือ นักจิตวิทยาองค์กร (Industrial-Organizational Psychologist)
นักจิตวิทยาสายนี้จะเป็นสายประยุกต์ ไม่ใช่สายตรงอย่าง 2 รูปแบบด้านบน โดยนักจิตวิทยาอุตสาหกรรม หรือ นักจิตวิทยาองค์กร มักทำงานอยู่ตามองค์กรเอกชนต่าง ๆ มีหน้าที่สอดคล้องกับฝ่ายทรัพยากรบุคคล โดยมีหน้าที่ในการคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน การทดสอบพนักงานในด้านต่าง ๆ เช่น ความพึงพอใจในการทำงานของพนักงาน ความเครียดในที่ทำงาน เป็นต้น รวมถึงการจัดอบรมพัฒนาความสามารถของพนักงาน การหาแนวทางใหม่ ๆ ด้านจิตวิทยาในการทำให้ชีวิตการทำงานของบุคลากรเป็นไปได้ดีที่สุด
- นักจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychologist)
นักจิตวิทยาพัฒนาการมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตเราตั้งแต่เกิดจนโต เพราะว่านักจิตวิทยาพัฒนาการมีหน้าที่ในการศึกษา ช่วยวางแผน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับพัฒนาการของคนในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยชรา ซึ่งจะช่วยเราดูตั้งแต่ด้านร่างกาย จิตใจ ไปจนถึงสังคมและสภาพแวดล้อมที่จะส่งผลต่อพัฒนาการของเรา
- นักจิตวิทยาการศึกษา (Educational Psychologist)
นักจิตวิทยาการศึกษา หรือที่เราเรียกกันอย่างคุ้นหูว่า ครูแนะแนว ที่ประจำตามโรงเรียนต่าง ๆ มีหน้าที่ในการช่วยผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุน และให้คำปรึกษาแก่นักเรียน ไม่เพียงแต่ด้านการศึกษา แต่ยังรวมถึงการเข้าสังคม การปรับตัว การใช้ชีวิตในโรงเรียนร่วมกับคนอื่น รวมถึงการวางแผนด้านการเรียนในอนาคตอีกด้วย
- นักจิตวิทยาสังคม (Social Psychologist)
นักจิตวิทยาสายนี้มักทำงานสายวิจัย เนื่องจากต้องมีการศึกษาสภาพสังคม พฤติกรรมของมนุษย์ในแต่ละสังคมต่าง ๆ รวมถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้เราเข้าใจมนุษย์ในแต่ละสังคมมากขึ้น และเพื่อนำไปปรับใช้ในด้านอื่น ๆ ต่อไป เช่น การตลาด การออกแบบ เป็นต้น
- นักจิตวิทยาการกีฬา (Sports Psychologist)
การแข่งขันด้านกีฬาจำเป็นต้องมีการฝึกฝน ซึ่งการฝีกฝนต้องใช้แรงจูงใจที่เหมาะสม ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยาการกีฬาที่ต้องเข้ามาดูแลตรงนี้ เพื่อให้นักกีฬาสามารถแสดงฝีมือและศักยภาพที่มีให้ได้มากที่สุด และเพื่อดูแลสุขภาพกายและจิตใจของนักกีฬาให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมนั่นเอง
นักจิตวิทยา (Psychologist) มีหน้าที่อะไรบ้าง?
จากตัวอย่างนักจิตวิทยาแต่ละประเภท จะเห็นได้ว่าหน้าที่ของนักจิตวิทยามีอยู่หลากหลาย แตกต่างกันไปในองค์กรและสายงานที่นักจิตวิทยาแต่ละประเภททำงานอยู่ ซึ่งหน้าที่หลักที่ทุกคนมีร่วมกัน คือ
- ศึกษาและวิจัยพฤติกรรมของมนุษย์
- สังเกตพฤติกรรม
- ให้คำปรึกษา
- ทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ (Wellbeing) ที่ดีขึ้น
นักจิตวิทยา (Psychologist) ในไทยเป็นอย่างไร?
ในปัจจุบัน ตามโรงพยาบาลที่มีแผนกจิตเวช องค์กรเอกชนต่าง ๆ และองค์กรผู้ให้บริการนักจิตวิทยา ต่างมีนักจิตวิทยาแต่ละประเภทประจำการอยู่ และมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีจำนวนนักจิตวิทยาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเด็นสุขภาพจิตได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีผู้คนสนใจและเล็งเห็นความสำคัญที่จะผลักดันประเด็นสุขภาพจิตให้เป็นวาระสำคัญในระดับสาธารณสุข เพื่อให้ผู้คนทุกกลุ่มได้เข้าถึงบริการของนักจิตวิทยาเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น บุคลากรทางด้านจิตวิทยาคลินิกในไทยที่ทำงานตามโรงพยาบาลนับว่ายังค่อนข้างขาดแคลนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในโรงพยาบาลตามต่างจังหวดต่าง ๆ สังเกตได้จากจำนวนนักจิตวิทยาต่อผู้เข้ารับบริการซึ่งยังถือว่ามีอัตราที่สูงเกินกว่าที่ควรมาก ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวระบบเอง ค่าตอบแทน รวมถึงสังคมที่เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นปัจจัยอ้อม ๆ ที่ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นด้วยก็ตาม