“เรื่องส่วนตัว-พื้นที่ส่วนตัว-ความเป็นส่วนตัว” กับมุมมองทางด้านจิตวิทยา

“ขอดูแค่นี้ก็ไม่ได้”

“แตะต้องของในห้องหน่อยก็ไม่ได้”

“ยืมสักนิดจะเป็นอะไรไป”

เรามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า หลาย ๆ ครอบครัวและหลาย ๆ คนน่าจะเคยประสบเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดประโยคข้างต้นขึ้น อย่างเหตุการณ์พ่อแม่ค้นห้อง เพื่อนยืมของ คนรู้จักยืมเงิน และอีกสารพัดเหตุการณ์ที่เข้ามาล่วงล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเรา ซึ่งทำให้เราอึดอัด จนก่อตัวเป็นความไม่ไว้ใจขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคตได้

บางคนอาจจะสงสัยว่า แค่เหตุการณ์ค้นห้อง ยืมของ ยืมเงิน มันจะสร้างปัญหาและนำพาเรื่องแย่ ๆ มาสู่ความสัมพันธ์ได้ขนาดนั้นเลยเหรอ? ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบคือ “ใช่” คำตอบที่อาจถูกถามต่อมาก็คือ ทำไมคนเราถึงหวงของ หวงความเป็นส่วนตัวขนาดนั้น และในขณะเดียวกัน ก็อาจมีคนสงสัยในทางตรงกันข้ามว่า ทำไมคนเราถึงไม่เคารพความเป็นส่วนตัวหรือเคารพของส่วนตัวของคนอื่น ซึ่งวันนี้เราจะพาไปดูคำอธิบายทางจิตวิทยาในเรื่องนี้กัน 

งานวิจัยเรื่องความเป็นส่วนตัว ได้อธิบายถึง ความเป็นส่วนตัว ไว้ว่า ความเป็นส่วนตัว (Privacy) คือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่ช่วยทำให้พวกเราสามารถจัดการตัวเองและ อีกทั้งความเป็นส่วนตัวไม่ได้หมายถึงการปลีกวิเวกจากการเข้าสังคมโดยสิ้นเชิง แต่มันคือ “การจำกัดการเข้าถึงของคนอื่น“ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือมีขอบเขต หรือ Boundary ที่ชัดเจนและเหมาะสมนั่นเอง ซึ่งการมีพื้นที่ส่วนตัวหรือความเป็นส่วนตัวที่พอเหมาะจะช่วยทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและสังคมได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

ความเป็นส่วนตัว อาจฟังดูเป็นคำที่มีความคลุมเครืออยู่สักหน่อย เพื่อให้เราเข้าใจเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เราจึงนำรูปแบบของ ความเป็นส่วนตัวทั้งหมด 6 รูปแบบ มาให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกันเพิ่มขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย 

ความเป็นส่วนตัว 6 รูปแบบ

1. ความสันโดษ (Solitude) : การเลือกไปอยู่ในที่ ๆ คนอื่นจะไม่สามารถรับรู้ได้ว่าเราเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งผู้อื่นจะเข้าใจได้ว่าเราไม่ต้องการถูกรบกวน เช่น การเข้าห้องส่วนตัว การนั่งทำงานในสตูดิโอ การทำงานในห้องงดใช้เสียง

2. การปิดบัง (Reserve) : การที่เราเลือกที่จะไม่บอกผู้อื่นถึงความคิด ความรู้สึก และข้อมูลส่วนตัวของเรา เช่น การไม่พูดถึงข้อมูลส่วนตัวกับคนแปลกหน้า 

3. ความโดดเดี่ยว (Isolation) : การที่เราเลือกที่จะปลีกตัวและสร้างระยะห่างออกมาจากคนอื่น เช่น การดูหนังคนเดียว ทานข้าวคนเดียว

4. การใช้เวลากับครอบครัว (Intimacy with Family) : การใช้เวลากับครอบครัวโดยไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ เลย เช่น ไปเที่ยวกับครอบครัว 

5. การใช้เวลากับเพื่อน (Intimacy with Friends) : มีรูปแบบเดียวกับการใช้เวลากับครอบครัว แต่เปลี่ยนไปเป็นเพื่อนแทน

6. การไม่เปิดเผยตัวตน (Anonymity) : การเลือกไปอยู่ในที่ที่จะไม่มีคนสังเกตเห็นเรา หรือการอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักเรา เช่น การไปคอนเสิร์ตคนเดียว การไปเที่ยวต่างประเทศในที่ที่ไม่มีคนรู้จักเรา 

ความเป็นส่วนตัวในวัฒนธรรมรอบโลก

จริง ๆ แล้วแนวความคิดเรื่องความเป็นส่วนตัวยังถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมเอเชียอยู่เหมือนกัน เพราะที่ผ่านมา หลาย ๆ ชาติในเอเชียต่างให้ความสำคัญกับความเป็นครอบครัว ความเป็นชุมชน ความเป็นกลุ่มก้อน หรือที่เรียกว่า Collectivism กันค่อนข้างมาก จึงทำให้บางทีการที่เราเริ่มให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวกลายเป็นเรื่องที่ถูกมองว่า “ใจแคบ” ไปโดยไปปริยาย หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดมากขึ้น อาจยกเรื่องความเป็นเจ้าของชีวิตมาใช้อธิบายได้ อย่างในครอบครัวคนไทยสมัยก่อนมักยึดถือแนวความคิดที่ว่า “พ่อแม่คือเจ้าของชีวิตลูก” จึงมีการใช้สิทธิ์ในฐานะความเป็นพ่อแม่ในการควบคุมบงการชีวิตลูก ต้องการให้ลูกทำตามสิ่งที่ตนต้องการโดยไม่สนใจว่าลูกก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความคิดและความต้องการที่แตกต่างจากตนเอง ซึ่งถ้าหากลูกขัดขืนขึ้นมา ก็อาจถูกมองว่าเป็นคนอกตัญญู เป็นลูกที่ใจแคบไม่เห็นใจพ่อแม่ก็เป็นได้ 

ในขณะเดียวกัน โลกฝั่งตะวันตกได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัวกันมาก ส่วนหนึ่งมาจากแนวความคิดที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ในฐานะปัจเจก หรือที่เรียกว่า Individualism ที่มีความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งถ้าหากจะต้องอยู่รวมกันให้ได้ การเคารพความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างกันและเคารพความเป็นส่วนตัวของกันและกัน จะทำให้สามารถการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปได้อย่างปกติสุข แต่ในอีกแง่หนึ่ง หากยึดถือความเป็นส่วนตัวมากเกินไป ก็อาจทำให้มีปัญหากับการเข้าสังคม จนนำไปสู่ให้เกิดความโดดเดี่ยวขึ้นมาได้ อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า ความสันโดษที่เกิดขึ้นนี้อาจมีส่วนมาจากปัญหาทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า ซึ่งถ้าหากปล่อยให้พวกเขาอยู่อย่างโดดเดี่ยวนาน ๆ อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ในท้ายที่สุด ดังนั้นแล้ว แนวความคิดเรื่องความเป็นกลุ่มก้อนและความเป็นปัจเจกของทั้งสองโลกนี้ต่างมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป เราสามารถเลือกใช้ความเป็นส่วนตัวให้เหมาะสมกับแต่ละบริบทได้ตามวิจารณญาณของเรา 

ถ้าอย่างนั้นแล้ว ความเป็นส่วนตัว นี่มีความจำเป็นต่อชีวิตเราไหม?

ความเป็นส่วนตัวยังคงมีบทบาทและความสำคัญเป็นอย่างมากในชีวิตของเราในหลาย ๆ แง่มุม เช่น สุขภาพจิตของเรา การอยู่ร่วมกันในสังคม ความคิดเห็นต่อเรื่องต่าง ๆ การรับตัดสินใจ และอีกมากมายหลายเรื่อง โดยในแง่ของจิตวิทยาและสุขภาพจิตนี้ มีการทำวิจัยเพื่อศึกษาผลของความเป็นส่วนตัวว่าส่งผลอย่างไรได้บ้าง ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องการได้ไตร่ตรองถึงตัวตนของตัวเราเอง ได้ค้นพบตัวตนของตัวเอง ได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง ได้ปลดปล่อยตัวตน ได้ฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจ ได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกคนอื่นตัดสินหรือไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้ และเมื่อเราเข้าใจตัวเองแล้ว มันเหมือนกับการที่เราแข็งแกร่งจากภายใน เมื่อเราต้องไปเผชิญหน้าสังคมข้างนอก เราก็จะรับมือกับคนรอบข้างได้อย่างไม่เหมาะสม หากสังคมแว้งมาทำร้ายเรา เราจะสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม และสิ่งร้าย ๆ เหล่านั้นจะมาทำลายตัวตนของเราไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่เราได้จากความเป็นส่วนตัวก็คือเป็นการสร้างเกราะให้กับตัวเองในการเผชิญหน้ากับโลกข้างนอกนั่นเอง แต่ก็อย่าลืมเปิดใจรับฟังสิ่งที่อาจเป็นผลดีกับเราในอนาคตด้วยนะ 

อ้างอิง

Pedersen, D. M. (1997, June 1). PSYCHOLOGICAL FUNCTIONS OF PRIVACY. Journal of Environmental Psychology.