Mental Health in Workplace ตอนที่ 1: การดูแลสุขภาพจิตในที่ทำงาน สำคัญอย่างไร?

mental health in workplace

การทำงานหรือการประกอบอาชีพเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราทุกคน บางคนอาจได้ทำงานที่ตัวเองชอบ มีสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อนร่วมงานดี มี Work-Life Balance ที่ดี ทำให้ชีวิตการทำงานเป็นเรื่องที่สนุก แต่เราบางคนอาจต้องไปทำงานที่ตัวเองไม่ชอบ มีเจ้านายใจร้าย เพื่อนร่วมงานไม่ให้ความร่วมมือ เนื้องานไม่น่าทำ จนส่งผลให้ไม่มี Work-Life Balance ทำให้ชีวิตการทำงานเต็มไปด้วยความเครียดและเรื่องไม่น่าประทับใจ ซึ่งสามารถส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้ รวมถึงส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลง ส่งผลเสียต่อทั้งพนักงานและองค์กร 

ทำไมถึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตในที่ทำงาน?

  1. ชีวิตการทำงานสัมพันธ์กับสุขภาพจิตโดยตรง

ไม่ว่าจะเป็นเพราะภาระหน้าที่เยอะล้นมือ เจ้านายไม่ดี เพื่อนร่วมงานไม่น่ารัก หรือลูกค้าไม่เข้าใจ เรื่องแย่ ๆ เหล่านี้สามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตเราได้โดยตรง และทำให้เรามีความรู้สึกต่อชีวิตการทำงานแย่ลง 

  1. ช่วยลดความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ

เพราะสุขภาพกายและสุขภาพใจมีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง หากชีวิตการทำงานของเราเครียดเป็นระยะเวลานาน ๆ จะทำให้ร่างกายของเราแย่ลงตามไปด้วย เช่น ปวดหัวได้ง่ายขึ้น เป็นไมเกรนบ่อยขึ้น นอนน้อยลง ปวดหวัง ซ้ำร้ายอาจเป็นโรคร้ายแรงอย่างโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง ก็เป็นได้ ดังนั้น การส่งเสริมสุขภาพจิตในที่ทำงานให้ดีตั้งแต่แรกจะเป็นเครื่องป้องกันชั้นดี  

  1. บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อสภาพจิตใจได้

สภาพแวดล้อมสามารถส่งผลต่อสภาพจิตใจของเราได้โดยตรง หากบรรยากาศในการทำงานตึงเครียด การทำงานของเราก็จะเครียดตามไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเราลดลงไป เนื่องจากได้รับความเครียดและความกดดันจากบรรยากาศการทำงาน ดังนั้น การให้ความสำคัญกับสุขภาพใจโดยให้ความสนใจกับสภาพแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่องค์กรควรพิจารณาเช่นกัน 

officers are celebrating

  1. ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงาน

ความตึงเครียดจากชีวิตการทำงานสามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานได้โดยตรง เช่น งานเยอะทำให้ต้องรีบทำงานจนไม่ได้พักผ่อน หรือลูกค้าต้องการงานด่วยทำให้ต้องโหมทำงานให้ทันตามความต้องการของลูกค้า การต้องเคลียร์งานเยอะ งานรีบ งานด่วน ทำให้เวลาพักผ่อนของพนักงานน้อยลง พอพักผ่อนน้อย สภาพร่างกายและพลังงานที่ใช้ในการทำงานก็จะไม่ได้ถูกเติมเต็มอย่างที่ควร ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลง ดังนั้น การจัดการงานเพื่อรักษาสุขภาพใจของพนักงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ

  1. ช่วยลดอัตราการลาออก

ถ้าองค์กรใดมีความ Toxic และไม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงานแล้วนั้น จะทำให้พนักงานไม่รู้สึกอยากทำงานอยู่กับองค์กรนาน ๆ ส่งผลให้มีอัตราการลาออกสูง และทำให้องค์กรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคัดเลือกพนักงานใหม่ ดังนั้น การรักษาพนักงานด้วยการใส่ใจสุขภาพจิตของพวกเขาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก 

  1. ทำให้พนักงานมีมุมมองที่ดีต่อองค์กร

การใส่ใจสุขภาพจิตของพนักงานตั้งแต่การวางนโยบายและกฎต่าง ๆ ขององค์กร เช่น การควบคุมเวลาการทำงาน ผลตอบแทนในการทำงานนอกเวลา การจัดสรรเวลาพักให้พนักงานไม่หักโหมทำงานมากเกินไป และมีวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นธรรมต่อพนักงาน นับว่าเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตในที่ทำงาน ทำให้พนักงานรู้สึกมีความสุขกับชีวิตการทำงานและมีมุมมองที่ดีต่อองค์กร รวมถึงส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กรอีกด้วย

ดังนั้น การให้ความสนใจดูแลสุขภาพจิตของพนักงานจึงเป็นเรื่องที่ดีต่อทั้งพนักงานและองค์กรเอง โดยเป็นทั้งการช่วยยกประเด็นความสำคัญของชีวิตการทำงานและสุขภาพใจที่ส่งผลกันโดยตรง ช่วยลดผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ สร้างความตระหนักรู้ในการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงาน ลดอัตราการลาออก รวมถึงส่งเสริมทัศนคติทางบวกที่พนักงานมีต่อองค์กรอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ทั้งพนักงานและองค์กรสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งและแข็งแกร่งไปด้วยกันได้ในอนาคต

อ่าน Mental Health in Workplace ตอนที่ 2 ต่อได้ที่นี่

บริการของ Peace Please Studio สำหรับองค์กร