Mental Health in Workplace ตอนที่ 2 : ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานมีอะไรบ้าง?

Mental Health in Workplace

บทความที่เกี่ยวข้อง


เนื้อหาสำคัญ

  • ภาวะเครียด (Stress) ภาวะวิตกกังวล (Anxiety) ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) เป็นหนึ่งในผลกระทบหลักที่เกิดจากการทำงาน
  • โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder : MDD) เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้ทั่วไปในกลุ่มคนวัยทำงาน
  • ปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานเกิดได้จากปัจจัยต่าง ๆ ขององค์กร รวมถึงปัจจัยภายนอกที่มาจากสภาพสังคม สภาวะเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และชีวิตส่วนตัว
  • องค์กรที่มีการสนับสนุนด้านสุขภาวะจิตที่ดีจะทำให้มีอัตราการลาออกต่ำ และช่วยดึงดูดให้มีพนักงานสนใจอยากร่วมงานมากขึ้น

การทำงานหรือการประกอบอาชีพเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราทุกคน บางคนอาจได้ทำงานที่ตัวเองชอบ มีสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อนร่วมงานดี มี Work-Life Balance ที่ดี ทำให้ชีวิตการทำงานเป็นเรื่องที่สนุก แต่เราบางคนอาจต้องไปทำงานที่ตัวเองไม่ชอบ มีเจ้านายใจร้าย เพื่อนร่วมงานไม่ให้ความร่วมมือ เนื้องานไม่น่าทำ จนส่งผลให้ไม่มี Work-Life Balance ทำให้ชีวิตการทำงานเต็มไปด้วยความเครียดและเรื่องไม่น่าประทับใจ ซึ่งสามารถส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้ รวมถึงส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลง ส่งผลเสียต่อทั้งพนักงานและองค์กร

ภาวะอันตรายและโรคทางใจ ที่วัยทำงานมักจะเจอ

หนึ่งในภาวะที่คนวัยทำงานมักจะเจอและหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ ภาวะเครียด (Stress) ที่เกิดจากปัจจัยทั้งคนสภาพแวดล้อม และเนื้องานที่ต้องรับผิดชอบ อาจมีภาระงานมากเกินไป สภาพแวดล้อมการทำงานมีแต่เพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ หรืออาจเกิดความเครียดจากปัจจัยภายนอกที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับงาน เช่น ปัญหาครอบครัว ก็ทำให้คนวัยทำงานเกิดความเครียดได้เช่นกัน ภาวะวิตกกังวล (Anxiety) กังวลเรื่องของอนาคต หน้าที่การงาน Career Path หรือความกังวลที่เจอจากสภาพแวดล้อมรอบนอก เช่น มลพิษ สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ก็อาจทำให้เกิดความกังวลจนส่งผลต่อการทำงานได้เช่นกัน ภาวะหมดไฟ หรือ ภาวะ Burnout (Burnout Syndrome) ที่คนทำงานในยุคนี้มักประสบกันเป็นประจำ เมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นแล้ว จะทำให้รู้สึกไม่อยากทำงาน ไม่มีแรงจูงใจในการไปทำงาน ซึ่งความหมดไฟเหล่านี้เอง สามารถกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการทำงานในอนาคตได้ ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งภาวะที่วัยทำงานหลายคนน่าจะเป็นเยอะไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) ที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนมองว่าตัวเองไม่เก่ง กลายมาเป็นคนที่กังวลกับศักยภาพที่ตัวเองมี ถึงแม้ว่าจะมีความสามารถและความรับผิดชอบในการทำงานที่เหมาะสมอยู่แล้วก็ตาม ทำให้หลาย ๆ คนเผลอทำงานหนักเกินลิมิตของตัวเองไป 

หากปล่อยให้ภาวะเหล่านั้นเกิดขึ้นนาน ๆ เข้า สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือการป่วยเป็นโรคทางจิตเวชที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ เช่น โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder : MDD) ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่คนไทย รวมถึงคนวัยทำงานเป็นกันมาก โรคซึมเศร้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งด้านพันธุกรรม ผู้ป่วยบางคนอาจมียีนที่เอื้อต่อการเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า มีสภาพร่างกายและสภาพจิตใจที่มีความอ่อนไหวต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากกว่า หรือปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนเนื่องจากสถานการณ์โลก และอีกหลากหลายปัญหา ทำให้หลาย ๆ คนประสบกับภาวะปัญหาเหล่านี้จนมีความกังวลต่ออนาคต ทำให้มีความเครียดเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ รวมถึงปัจจัยใกล้ตัวอย่างผู้คนรอบข้าง ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เช่น ครอบครัวไม่เข้าใจ เพื่อนร่วมงานไม่ดี ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน ซึ่งส่งผลกระทบได้ทั้งต่อตัวพนักงาน รวมถึงองค์กรที่อาจขาดแคลนพนักงานที่มีศักยภาพด้วย 

ด้วยผลกระทบเหล่านี้ ทำให้การหันมาดูแลใส่ใจและส่งเสริมสุขภาพจิตในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งที่คนวัยทำงานและองค์กรสมัยนี้ต้องให้ความสนใจมากขึ้น  

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดในที่ทำงาน

WHO (2022) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความเครียดในที่ทำงาน ซึ่งมีสาเหตุดังนี้  

  • การไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองในการทำงานอย่างเต็มที่
  • ภาระหน้าที่การงานมากเกินไป การมีคนทำงานไม่เพียงพอ
  • ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานมากเกินไป มีชั่วโมงการทำงานที่ไม่ยืดหยุ่น
  • การไม่สามารถควบคุมหรือจัดการภาระงานของตัวเองได้ 
  • การอยู่ในสภาวะการทำงานที่ไม่ปลอดภัย หรือมีการจัดการที่แย่
  • วัฒนธรรมองค์กรที่มีช่องว่างให้คนแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี 
  • การได้รับความช่วยเหลือที่ไม่เพียงพอจากเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชา
  • ความรุนแรง การล่วงละเมิด รวมไปถึงการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน 
  • การแบ่งแยกหรือการกีดกันทางด้านเชื้อชาติ สีผิว และเพศ
  • การกำหนดหน้าที่ในการทำงานที่ไม่ชัดเจน 
  • การได้เลื่อนขั้นหรือการสนับสนุนที่ไม่เหมาะสม
  • หน้าที่การงานไม่มีความมั่นคง ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอ องค์กรไม่สนับสนุนในการพัฒนาอาชีพ  
  • ปัญหาที่เกิดจากครอบครัว 
  • ปัญหาความต้องการแรงงานในท้องตลาด

ทำไมองค์กรต้องใส่ใจปัญหาสุขภาพจิตของพนักงาน?

โดยปกติแล้ว หากมีความเครียดจากการทำงานเกิดขึ้น ย่อมทำให้พนักงานหลาย ๆ คนเกิดความเหนื่อยล้าจากการทำงานมากขึ้น เป็นความเหนื่อยล้าทางกายและความเหนื่อยล้าทางใจ จนทำให้เกิดภาวะทางใจไปจนถึงโรคทางจิตเวชชนิดต่าง ๆ ซึ่งสามารถส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ส่งผลเสียต่อคุณภาพงาน ตัวพนักงานเอง เพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงองค์กรได้

จากงานวิจัยและการสำรวจของหลาย ๆ หน่วยงานทั่วโลกเกี่ยวกับสุขภาพจิตในที่ทำงาน โดยส่วนใหญ่แล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยมักออกมาในทิศทางเดียวกัน อย่างการสำรวจของประเทศนิวซีแลนด์พบว่า 1 ใน 5 ของคนวัยทำงานมีความเครียดที่เกิดจากการทำงาน ที่สหราชอาณาจักรพบว่า กว่า 76% ของชาวอังกฤษในวัยทำงานประสบกับปัญหาด้านสุขภาพจิตจากการทำงาน และอีก 60% มีความรู้สึกวิตกกังวลที่เกิดจากงาน และจากการสำรวจพบว่า มีเพียง 35% ของกลุ่มตัวอย่างที่สามารถจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งนับว่าคนที่สามารถจัดการกับความเครียดในที่ทำงานได้นั้นมีไม่ถึงครึ่งของกลุ่มตัวอย่างด้วยซ้ำ 

นอกจากคนวัยทำงานจะประสบความเครียดที่เกิดจากการทำงานแล้ว สถานการณ์โลกก็มีผลต่อคนวัยทำงานเช่นกัน หลาย ๆ งานวิจัยพบว่า หลังวิกฤตการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น ผลกระทบต่าง ๆ จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีอิทธิพลส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนวัยทำงานเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน เช่น การโดนเลย์ออฟ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงานเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น นอกจากนี้ ทั่วโลกยังต้องเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) บวกกับภาวะสงครามที่ส่งผลให้กำลังการผลิตในบางอุตสาหกรรมถดถอยไปอีก แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อราคาของสิ่งของเครื่องใช้ไปจนถึงอาหารให้มีราคาที่สูงขึ้น ของขึ้นราคาแต่เศรษฐกิจไม่เติบโต รายรับไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย ส่งผลให้เกิดความเครียดทางด้านการเงินเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น พนักงานหลาย ๆ คนในตอนนี้กำลังแบกรับหน้าที่การงานไปพร้อม ๆ กับความกังวลหลาย ๆ ด้าน ในฐานะองค์กร นอกจากจะควรให้ความช่วยเหลือและจัดสรรสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางด้านการงานและรายได้ให้กับพนักงานแล้ว สุขภาวะจิตที่ดีในที่ทำงานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่พนักงานให้ความสำคัญเช่นกัน จากบทความ CEO Required Reading: 2023 Workplace Mental Health Resolutions ของ Forbes (2023) ได้ระบุไว้ว่า ปัจจัยด้านสุขภาพจิตในที่ทำงานได้กลายมาเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานลาออกจากการทำงาน ในขณะเดียวกัน หากองค์กรใดมีการส่งเสริมสุขภาพจิตของพนักงานที่เป็นรูปธรรมก็สามารถดึงดูดพนักงานที่มีศักยภาพเข้ามาทำงานที่องค์กรได้อย่างง่ายดายเช่นกัน นอกจากนี้ จาก 8 ใน 10 ของคนวัยทำงาน ได้กล่าวกับ American Psychologist Association (APA) ไว้ว่า หากองค์กรใดมีการสนับสนุนสุขภาวะจิตที่ดีในที่ทำงาน นั่นเป็นสิ่งที่สามารถดึงดูดให้พวกเขารู้สึกอยากร่วมงานกับองค์กรนั้นมากขึ้น ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดว่า หากองค์กรหันมาใส่ใจสุขภาพจิตของพนักงานอย่างแท้จริงนั้นจะเป็นผลบวกต่อทางองค์กรมากกว่า

บริการของ Peace Please Studio สำหรับองค์กร

อ้างอิง

American Psychological Association. (n.d.). Workers appreciate and seek mental health support in the Workplace. American Psychological Association. https://www.apa.org/pubs/reports/work-well-being/2022-mental-health-support 

Staglin, G. (2023, January 20). CEO required reading: 2023 workplace mental health resolutions. Forbes. https://www.forbes.com/sites/onemind/2023/01/19/ceo-required-reading-2023-workplace-mental-health-resolutions/?sh=47f6aae45e97 

Statistics on Mental Health and Wellbeing in New Zealand workplaces. Mental Health Foundation. (n.d.). https://mentalhealth.org.nz/workplaces/statistics-on-mental-health-and-wellbeing-in-new-zealand-workplaces 

World Health Organization. (n.d.). Mental health at work. World Health Organization. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/mental-health-at-work