รู้จักตัวเองให้มากขึ้น ผ่านการสำรวจตัวเอง ด้วย “Introspection”

เคยนั่งจมอยู่กับความคิดตัวเองกันไหม? 

หลาย ๆ คนน่าจะเคยทำเวลามีเรื่องให้ต้องคิดหรือพิจารณา แล้วรู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วการนั่งคิดอะไรแบบนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการทางจิตวิทยาด้วย! โดยเป็นที่รู้จักในชื่อ Introspection หรือ การสำรวจตัวเอง ซึ่งมันมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่เราต้องระวังกันด้วย ซึ่งวันนี้เราจะไปทำความรู้จัก Introspectionให้มากขึ้นกัน!

Introspection คืออะไร?

Introspection แปลเป็นไทยได้หลายความหมาย ตั้งแต่การสำรวจตัวเอง การครุ่นคิดกับตัวเอง การพิจารณาตัวเอง การสะท้อนความคิด ไปจนถึงศัพท์ทางศาสนาพุทธอย่าง วิปัสสนา ได้เลยทีเดียว (ซึ่งจริง ๆ ก็มีหลักการคล้ายกันอีกด้วย) โดย Introspection เป็นกระบวนการที่เราได้สำรวจและทบทวนความคิด อารมณ์ การรับรู้ และการตัดสินใจของเรา ซึ่งในท้ายที่สุดมันจะนำมาซึ่งความรู้และความเข้าใจในตัวเองที่มากขึ้น ได้เข้าใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น และได้ทบทวนตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในฐานะที่เราต้องรู้จักตัวเองและรับรู้ถึงตัวตนของเราในสังคม เพราะสุดท้ายแล้ว Introspection จะสะท้อนให้เราได้เห็นถึงความคิดของตัวเองว่าเราคิดกับตัวเองยังไง เรามองตัวเองเป็นคนยังไง เรามีความเคารพตัวเองไหม เราเกลียดตัวเองหรือเปล่า นอกจากนี้ มันยังช่วยทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของตัวเองและคนอื่นมากขึ้น ถือว่าเป็นวิธีฝึกทักษะความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ของเราได้อีกด้วย 

Introspection มีทั้งข้อดีและข้อเสีย จริงอยู่ที่ว่ามันสามารถช่วยให้เรารู้จักตัวเองได้ดีขึ้น แต่ถ้าหากว่าเรามีอคติต่อตัวเราเองล่ะ? แน่นอนว่าถ้าเรามีอคติต่อตัวเราเอง นั่นแปลว่าเรามองตัวเองในด้านลบ ดังนั้น การทบทวนตัวเองของเราอาจมีข้อสรุปที่มีการกล่าวโทษและดุด่าตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงเราอาจจะไม่ได้ทำผิดอะไรเลยก็เป็นได้ สำหรับบางคนการพิจารณาตัวเองอย่างถี่ถ้วนนี้นำมาซึ่งการคิดซ้ำ ๆ หมกมุ่นอยู่กับความคิดของตัวเองอย่างไม่รู้จบ ซึ่งมันสามารถทำให้เกิดความกลัวหรือความวิตกกังวลในชีวิตขึ้นมาได้ ส่งผลให้เราไม่กล้าทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตไปได้ 

3 สเต็ปวิธีฝึก Introspection ฝึกสำรวจตัวเอง

1. บรรยากาศเป็นสิ่งสำคัญ

หาที่เงียบ ๆ อยู่กับตัวเอง หรือเป็นที่ที่เรารู้สึกสงบและปลอดภัย หากเรารู้สึกสงบและปลอดภัยแล้ว จะทำให้เราไม่เสียสมาธิ และโฟกัสอยู่กับความคิดของเราได้ง่ายขึ้น 

2. ค่อย ๆ ถามตัวเอง

เริ่มจากคำถามว่าเรารู้สึกอะไรอยู่ แล้วค่อย ๆ ถามและหาคำตอบไปเรื่อย ๆ เช่น เรารู้สึกแบบนั้นเพราะอะไร แล้วเราควรทำอย่างไรกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น

3. อยู่กับปัจจุบัน

โฟกัสกับความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นหลัก สิ่งที่เราควรสำรวจคือสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในอนาคต เพราะถ้าหากจมอยู่กับความคิดในอนาคตจะทำให้เราเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตขึ้นมาได้

ดังนั้นแล้วการทบทวนตัวเองควรมีลิมิตของมัน และพิจารณาทุกอย่างด้วยความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างตัวเองและคนอื่นมากเกิน มองทุกอย่างบนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง มองทุกสิ่งด้วยความเข้าอกเข้าใจ และมันจะนำเราไปสู่ความเข้าใจในตนเองและโลกใบนี้ได้ดีขึ้น

อ้างอิง

MSEd, K. C. (2023, April 4). Introspection and How It Is Used In Psychology Research. Verywell Mind.