ทำความเข้าใจ “Gen Alpha” คนรุ่นหลัง Gen Z ที่จะมาอยู่ในยุคเทคโนโลยีครองเมืองอย่างเต็มตัว

ช่วงหลังมานี้ หลาย ๆ คนน่าจะได้เห็นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับคน Gen Z ที่เริ่มเข้ามาสู่ชีวิตการทำงานมากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่คนยุคต่างกันจะมีมุมมองหรือมายด์เซ็ตที่แตกต่างกันจนทำให้มีวัฒนธรรมในการทำงานมีความต่างออกไปด้วย ในยุคหนึ่ง ความเป็น Gen Y ก็เคยทำให้คน Gen X ปวดหัว ไม่ต่างอะไรกับที่ Gen Z กำลังเป็นอยู่ตอนนี้ แต่ละคนจากแต่ละยุคสมัยต่างก็มีเอกลักษณ์ที่เกิดจากการหลอมรวมของสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทั้งนั้นแหละ 

วันนี้เราไม่ได้จะมาพูดถึงเรื่องราวของ Gen Z แต่อย่างใด ถึงแม้ว่าในตอนนี้พวกเขาได้ทยอยขึ้นมาเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่กำลังขับเคลื่อนโลกใบนี้ไปแล้วเรียบร้อย แต่ในขณะที่คน Gen Z กำลังทำงานหัวหมุนเพื่อต่อสู้กับสภาพทางเศรษฐกิจที่ดูไม่สู้ดีนัก คนในวัยถัดมาอย่าง Gen Alpha ก็ได้เริ่มทยอยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วท่ามกลางยุคที่เทคโนโลยีกำลังบานสะพรั่งและกลายมาเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการใช้ชีวิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และใช่แล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึง Gen Alpha กัน

Gen Alpha คือใคร?

Gen Alpha เป็นคำใช้เรียกกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นไปจนถึงประมาณปี ค.ศ. 2025 ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์หลาย ๆ คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในเพียงปี ค.ศ. 2010 ก็มีเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น เป็นปีที่ iPad รุ่นแรกได้ถูกวางขาย รวมถึงเป็นปีแรกที่แอปพลิเคชันสุดฮิตอย่าง Instagram ได้เปิดตัวใช้งานอย่างเป็นทางการด้วย ทำให้คน Gen Alpha เติบโตมากับเทคโนโลยี ประหนึ่งว่าออกจากท้องแม่ปุ๊บก็ใช้โทรศัพท์เป็นเลย พวกเขาจึงมีความคุ้นเคยและสามารถปรับตัวต่อการใช้เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด รวมถึงจะได้เรียนรู้ทักษะการเขียนโค้ดอย่าง JavaScript, HTML/CSS, SQL หรือ Python ซึ่งจะกลายมาเป็นสิ่งพื้นฐานที่เด็กรุ่นนี้(น่าจะ)ต้องเรียนรู้ 

เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาเพียงทำให้การใช้ชีวิตของเราง่ายขึ้นเป็นเท่าตัว แต่มันยังช่วยจัดระเบียบใหม่ ๆ ให้กับชีวิตเราในมิติอื่น ๆ ด้วย เช่น ด้านการเรียน ในยุคที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง Covid-19 เป็นช่วงเวลาเกือบ 3 ปีที่ทำให้เราเห็นว่า การทำงาน WFH จากบ้าน การเรียนผ่าน Zoom หรือการเรียนคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ นั้น ช่วยทำให้การเข้าถึงแหล่งความรู้เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว และในอินเทอร์เน็ตยังเต็มไปด้วยสื่อการเรียนที่หลากหลายอีกด้วย ดังนั้นแล้ว การเข้าเรียนตามสถาบันหรือตามหลักสูตรเก่านั้นอาจไม่ใช่แนวทางในการเรียนของคน Gen Alpha อีกต่อไป พ่อแม่ของพวกเขาอาจสอนแบบ Homeschool หรือให้ลูก ๆ สอบเทียบเอาก็เป็นได้ อีกทั้งการเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่ายมากขึ้นภายในคลิกเดียว อาจส่งผลให้เด็ก ๆ เข้าสู่ตลาดแรงงานได้ง่ายและไวขึ้น และมีเวลาให้ได้ลองผิดลองถูกมากขึ้นด้วย

เราขอแวะแตะเรื่องของ Gen Z กันสักนิด ชาว Gen Z ที่กำลังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมกับเราตอนนี้เป็นตัวอย่างและเค้าลางของ Gen Alpha ที่กำลังจะเข้ามาใช้ชีวิตและขับเคลื่อนสังคมไปกับเรา ยุคนี้ที่ Gen Z กำลังถือครองเป็นยุคที่ Creator หรือผู้ผลิตสื่อต่างก้าวเข้ามามีอำนาจในพื้นที่สื่อมากกว่าสื่อกระแสหลักมากขึ้น ไม่ว่าใครก็เป็น Creator ได้ ซึ่งมันทำให้เราเห็นว่า ค่านิยมของสังคมเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ผู้คนให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกมากขึ้น Creator แต่ละคนต่างก็มีเสน่ห์ในแต่ละด้านต่างกันออกไปและมีทิศทางในการนำเสนอตัวเองต่างกันออกไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้นี่เองที่ผลักดันให้คนกล้าเป็นตัวเองมากขึ้น เราจึงได้เห็นเยาวชน วัยรุ่น และคนวัยทำงานชาว Gen Z ที่กล้านำเสนอความเป็นตัวเองอย่างไม่ต้องกลัวสายตาเหยียดหยันมากขึ้นในสังคมนั่นเอง

สิ่งแวดล้อมและสังคมในอนาคตของ Gen Alpha

เคยได้ยินคำว่า Climate Anxiety กันไหม? คำนี้แปลว่าความกังวลที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือความกังวลที่มีต่อภาวะโลกเดือด (Climate Change) จากยุค Gen Z ที่ผู้คนต่างมีความตระหนักรู้ต่อปัญหาและความวุ่นวายในโลกมากขึ้น Gen Alpha ก็มีแนวโน้มที่จะมีความสนใจต่อปัญหาในโลกเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน  ทั้งปัญหาทางสิ่งแวดล้อมก็ดี ปัญหาสังคมก็ดี โดยความใส่ใจต่อปัญหาเหล่านี้อาจนำไปสู่ความเครียดและความวิตกกังวลในเวลาต่อมาได้ ยิ่งปล่อยให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมคาราคาซังนาน ผลกระทบหรือภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นก็จะยิ่งหนักขึ้น หากผู้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงยังไม่เริ่มทำอะไรเสียที Gen Alpha นี่แหละที่จะต้องรับกรรมจากการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบของคนยุคก่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   

ในด้านสภาพสังคมที่จะเปลี่ยนไปในยุคของ Gen Alpha จากบทวิเคราะห์ของ McCrindle (2020) ได้ระบุไว้ว่า ประเทศในฝั่งเอเชียจะกลายมาเป็นมหาอำนาจของโลกแทนประเทศทางฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ยังมีอัตราการให้กำเนิดประชากรอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย หนึ่งปัจจัยหลักที่จะทำให้คลื่นมหาอำนาจเปลี่ยนมายังโลกฝั่งตะวันออก เป็นเพราะว่าในประเทศกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนกลุ่มชนชั้นกลางมากกว่าประเทศฝั่งตะวันตก ซึ่งชนชั้นกลางนี่แหละที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอีกหนึ่งปัจจัยนั่นก็คือ Gen Alpha มีแนวโน้มที่จะมีความยอมรับ เปิดใจ และมีความเคารพต่อวัฒนธรรมและความหลากหลายอื่น ๆ มากขึ้นด้วย จึงทำให้มหาอำนาจเปลี่ยนฝั่งไปโดยปริยาย  

ปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นกับ Gen Alpha

ถึงแม้ว่าการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีนั้นจะฟังดูเป็นเรื่องที่ดี แต่ทุกอย่างต่างก็มีข้อดีข้อเสียของมันกันใช่ไหมล่ะ? สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นกังวลอันดับแรกเลยก็คือเรื่องของการจดจ่อหรือสมาธิ เราพอเห็นตัวอย่างกันมาบ้างใช่ไหมว่าการปล่อยให้เด็ก ๆ อยู่กับ iPad เป็นเวลานานจะส่งผลต่อพวกเขาอย่างไรบ้าง? ทั้งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค ADHD ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ และมีทักษะในการเข้าสังคมที่ไม่ดีนัก ซึ่งผลกระทบเหล่านี้สามารถทำให้ชีวิตของพวกเขายากขึ้นได้ ทั้งต่อตัวพวกเขาเอง ครอบครัว พ่อแม่ ไปจนถึงคนรอบข้างได้อีกด้วย

นอกจากนี้ การเสพสื่อและใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไปยังสามารถส่งผลให้เกิดโรควิตกังวลและโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากที่พื้นที่โซเชียลมีเดียมีความแข่งขันสูงและมีการให้คุณค่ากับภาพลักษณ์เป็นอย่างมาก จึงอาจทำให้คนที่ไม่ได้มีภาพลักษณ์ตรงตามมาตรฐานอาจไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จนทำให้เกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทำให้รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง เกลียดตัวเอง ส่งผลให้มีปัญหาทาง Self-esteem และส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ในท้ายที่สุด

ปิดท้ายด้วยปัญหาเรื่องการเข้าสังคม ถึงแม้ว่าโซเชียลมีเดียจะถือว่าเป็นสังคมรูปแบบหนึ่งเพียงแต่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ก็ตาม แต่โลกโซเชียลมีความแตกต่างจากโลกความเป็นจริงอยู่มากโข สิ่งที่เวิร์คในโซเชียลมีเดีย อาจไม่ใช่สิ่งที่คนในชีวิตจริงทำกัน เช่น การพูดหรือดุด่าอย่างตรงไปตรงมา เป็นต้น รวมถึงคน Gen Alpha อาจมีความคุ้นเคยกับการมีเพื่อนแก้เหงาเป็น Virtual Assisstant ที่ไม่ใช่คนจริง ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ขาดทักษะในการเข้าสังคมกับคนจริง ๆ เช่น ไม่รู้ว่าต้องเข้าหาคนอื่นยังไง ปรับตัวไม่เป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองอาจทำให้คน Gen Alpha มีปัญหากับการเข้าสังคมในชีวิตจริงได้ 

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการวิเคราะห์และการคาดการณ์จากข้อมูลในตอนนี้ ในอนาคต คนใน Gen Alpha อาจเป็นอย่างที่เราได้วิเคราะห์ไว้ หรืออาจไม่เป็นอย่างนี้เลยก็ได้ เพราะหลังจากนี้อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้สังคมของเราเปลี่ยนไปอีกทีก็ได้ ซึ่งเราต้องคอยจับตาดูกันไว้ และเราควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับพวกเขาไว้ด้วย สักวันหนึ่งในอนาคตเราจำเป็นต้องใช้ชีวิตร่วมกับพวกเขาและคนรุ่นหลังพวกเขาต่อไปอีกนานเลย

อ้างอิง

Generation Alpha and mental health. (2024, February 2). therapist.com.

I. (2021, April 22). GENERATION ALPHA. Iberdrola.

McCrindle Research Pt. Ltd. (2020, February). Understanding-Generation-Alpha-McCrindle. Retrieved February 5, 2024.