Fight or Flight สู้หรือถอย ทำยังไงดี!?

เช้าวันหยุดวันหนึ่งคุณตื่นมาด้วยความรู้สึกสดใจจากการได้นอนเต็มอิ่มในรอบหลายสัปดาห์ วันหยุดแบบนี้ได้นอนตื่นสายบ้างก็ช่วยให้ร่างกายได้พักเต็มที่ได้ดีทีเดียว เวลาช่วงเช้าล่วงเลยผ่านไปอย่างช้า ๆ และเป็นไปตามที่คุณต้องการ แต่ทว่า… จู่ ๆ เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น มีคนโทรเข้ามาในวันหยุดแบบนี้เนี่ยนะ? คุณคิดในใจ พร้อมกับเกิดคำถามในใจว่าก็ไม่ได้นัดใครไว้นี่นา ทำไมถึงมีคนโทรมา คุณหยิบโทรศัพท์มาเช็กเบอร์และค้นพบว่าเป็นเบอร์แปลกที่ไม่ได้บันทึกเอาไว้ ด้วยความที่ไม่ได้คิดอะไรมาก คุณจึงกดรับสายไปในทันที ”คุณมีพัสดุตกค้าง…” มาแนวนี้จะเป็นอะไรไม่ได้นอกจาก…คุณพี่มิจฉาชีพ

ถ้าคุณเจอเหตุการณ์ดังกล่าว คุณจะรับมืออย่างไร? 

1. รับสายแต่ไม่พูดอะไรจนกว่าจะอีกฝ่ายจะวางสายไปเอง 

2. ด่ากลับ 

3. รีบวางสาย

เวลาที่เราเผชิญหน้ากับปัญหา เรื่องชวนโมโห หรือเรื่องเครียด ๆ คุณมีแนวโน้มที่จะ “เผชิญหน้า” หรือ “หนี” หรือ “ช็อก” กับปัญหาที่ถาโถมเข้ามา? บางคนก็บอกว่า ปัญหามีไว้พุ่งชนสิ ถ้าเราไม่เผชิญหน้ากับปัญหาเพื่อแก้มัน แล้วปัญหาจะหายไปได้ยังไง ในขณะที่คนอืกกลุ่มมองว่า ปัญหาบางปัญหามันใหญ่เกิดตัวเราไปเสียหน่อย จะให้แก้ปัญหาทั้งหมดด้วยตัวคนเดียวก็คงไม่ไหว หนีปัญหายังจะง่ายกว่าเสียอีก 

ต่างคนต่างความคิดกันไป เช่นเดียวกับกลไกการเอาชีวิตรอดที่เราจะพากันไปทำความรู้จัก นั่นก็คือ Fight or Flight Response การตอบสนองที่จะพาเรา “สู้” หรือ พาเรา “หนี” เมื่อเผชิญหน้ากับความเครียด นั่นเอง

Fight or Flight Response คืออะไร?

การตอบสนองรูปแบบนี้จะเกิดก็ต่อเมื่อมีความเครียดฉับพลัน (Acute Stress) ขึ้นมา ซึ่งเป็นความเครียดที่เกิดขึ้นในชั่วอึดใจ ในขณะที่เรากำลังเผชิญหน้ากับเรื่องไม่คาดคิด เช่น จู่ ๆ ไฟก็ดับ แถมมีเสียงระเบิด พร้อมกับมีเสียงผู้คนกรีดร้องอย่างน่าหวาดหวั่น หรือเหตุการณ์โดนโจรจี้ หมาวิ่งไล่ จอสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เสียความรู้สึก เช่น เจอรูปแฟนเก่า เจอคนที่เคยทำร้ายร่างกายเรามาก่อน ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองรูปแบบนี้ได้เช่นกัน 

ซึ่งในระหว่างเสี้ยววินาทีที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) ที่ทำให้ห้วใจเต้นเร็ว ส่งผลให้เลือดสูบฉีดมากขึ้น  เพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์ในขั้นต่อไป ใบหน้าและผิวหนังจะขึ้นสีแดง เนื่องจากเลือดสูบฉีดขึ้นมากขึ้น หายใจถี่ขึ้น เพื่อให้เลือดส่งออกซิเจนไปให้อวัยวะทั่วร่างกาย รูม่านตาขยายขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการมองเห็นเพื่อเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ตรงหน้า 

ทางด้านสภาพจิตใจ สำหรับคนที่พร้อมสู้ (Fight) เราจะรู้สึกตื่นตัวและรู้สึกพร้อมสู้กับเหตุการณ์ตรงหน้า อย่างในบางคนที่กำลังเผชิญหน้ากับโจร เราจะสู้สุดตัวราวกับเรียนเทควันโดสายดำมา ทั้งนี้เป็นเพราะร่างกายรับรู้ความเจ็บปวดน้อยลง จึงพร้อมสู้หมดหน้าตัก ในส่วนของคนที่พร้อมถอย (Flight or Flee)  จะรู้สึกสั่นกลัว ในบางคนที่กำลังเผชิญหน้ากับการโดนหมาวิ่งไล่ อาจจะวิ่งฉิวจนลืมเหนื่อย นอกจากนี้ ยังมีการตอบสนองในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ “Freeze”  ซึ่งเกิดจากภาวะที่เลือกไม่ถูกว่าจะสู้หรือจะถอย ในบางรายอาจเกิดเป็นความทรงจำที่ไม่ดี หรือที่แย่ไปกว่านั้น อาจก่อให้เกิดบาดแผลในจิตใจจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว หรืออาจส่งผลให้มีความเสี่ยงเป็นโรค PTSD เลยก็ได้

ถ้าหากร่างกายอยู่ในภาวะที่เผชิญหน้ากับความเครียดซ้ำ ๆ จนร่างกายมีการแสดงอาการภายใต้ Fight or Flight Response อย่างต่อเนื่อง สามารถส่งผลเสียให้ร่างกายมีความตึงเครียดเป็นระยะเวลานที่นานเกินไป และทำให้อ่อนแอลงได้ เนื่องจากไม่ได้รับการพักผ่อนและมีการผ่อนคลายที่เหมาะสม เช่น มีอาการล้าเรื้อรัง ปวดหัว ไมเกรน ความดันโลหิตสูง มีระดับคอเลสเตอรอลที่สูง หายใจลำบาก ระบบภูมิคุ้มกันไม่ดีนัก ระบบการเผาผลาญทำงานได้ไม่ดีเช่นเคย และแน่นอนว่า ความเครียดที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจในระยะยาวได้เช่นกัน อาทิ เกิดความเครียดเรื้อรัง ทำให้เกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) ส่งผลต่อการนอนหลับ และทำให้อารมณ์แปรปรวนขึ้นมาได้ และอาจส่งผลทำให้เกิดโรคทางจิตเวชชนิดต่าง ๆ ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่จำเป็นต้องอยู่ในการตอบสนองแบบ Fight or Flight เป็นระยะเวลานาน เช่น อยู่ในภาวะสงคราม หรือเอาตัวรอดจากเหตุการณ์รอการช่วยเหลือ อาทิ ประสบภัยพิบัติ หรือประสบอุบัติเหตุในพื้นที่ห่างไกล   

ดังนั้น การอยู่ภายใต้การตอบสนองแบบ Fight or Flight สามารถช่วยให้เราจัดการและเผชิญหน้ากับปัญหาและความเครียดต่าง ๆ ได้จริง แต่การที่ร่างกายและจิตใจเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาและอยู่ภายใต้การตอบสนองแบบ Fight or Flight ในระยะเวลานาน ๆ ก็ส่งผลให้สภาพร่างกายและสภาพจิตใจของเราล้าไปได้ตามกัน ทุกคนจึงควรมีการเช็กร่างกายและจัดการความเครียดอย่างสม่ำเสมอนะ มิเช่นนั้นถ้าปล่อยไว้นาน ๆ ร่างกายและจิตใจจะอ่อนแอกันทั้งหมด

อ้างอิง

Heckman, W. (2019, August 21). How the Fight or Flight Response Works – The American Institute of Stress. The American Institute of Stress.

MSEd, K. C. (2022, November 7). What Is the Fight-or-Flight Response? Verywell Mind.