การบำบัดแบบ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) คืออะไร?

เมื่อพูดถึงหัวข้อเรื่อง “การบำบัด” การบำบัดรูปแบบแรก ๆ ที่คุณนึกถึงคือการบำบัดรูปแบบไหน? เรามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า “CBT” น่าจะเป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ทุกคนต้องเอ่ยชื่อขึ้นมาแน่ ๆ แต่ว่า CBT คืออะไร? แล้วมันบำบัดแบบไหน? วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ การบำบัดแบบ CBT หรือ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม ให้มากขึ้นกัน 

CBT (Cognitive Behavioral Therapy) หรือ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม คืออะไร?

การบำบัดแบบ CBT มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Cognitive-Behavioral Therapy และมีชื่อแปลไทยว่า การบำบัดความคิดและพฤติกรรม เป็นวิธีการบำบัดทางจิตวิทยารูปแบบหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการพัฒนา ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงความคิดร่วมกับพฤติกรรมในการช่วยจัดการอารมณ์และให้สามารถดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยโรคทางจิตเวชแล้ว อาการเด่นของโรคเหล่านี้ที่มีร่วมกัน คือทำให้ผู้ป่วยมีความคิดเชิงลบที่บิดเบือนจากความเป็นจริง (Cognitive Distortion) เช่น มีความคิดด้านลบต่อตัวเอง คนรอบข้าง สังคม และโลกใบนี้ในด้านที่แย่ ไม่เป็นไปตามความจริง เช่น คิดว่าตัวเองแย่ คิดว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี คิดว่าตัวเองไม่มีอะไรดี หรือคิดว่าโลกนี้มันไม่มีทางดีขึ้นได้ จึงทำให้รู้สึกว่าตัวพวกเขาเองไม่ควรจะมีชีวิตอยู่ในโลกแบบนี้ต่อไปได้ เป็นต้น

สิ่งที่การบำบัดแบบ CBT ทำ คือการปรับความคิดลบ ๆ เหล่านั้นให้เป็นไปตามความเป็นจริง ให้ผู้ป่วยมีความคิดที่ดีเกี่ยวกับตัวเองตามความเป็นจริง มีการชื่นชมข้อดีในตัวเอง ชื่นชมความใจดีของคนรอบข้างที่ซัพพอร์ตพวกเขา และชื่นชมกับความสวยงามของโลกใบนี้ให้มากขึ้นอีกสักนิดหน่อย เมื่อสิ่งที่อยู่ข้างในเปลี่ยน การจะทำให้สิ่งดี ๆ อยู่กับผู้ป่วยได้อย่างมั่นคง คือการทำให้ข้างนอกของพวกเขาเปลี่ยนไปด้วย คำว่าข้างนอกนี้ไม่ได้หมายถึงรูปร่างหน้าตาหรือร่างกายพวกเขาแต่อย่างใด แต่คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั่นเอง เช่น ผู้ป่วยอาจเคยมีประวัติทำร้ายตัวเอง หรือเคยดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ แต่เมื่อพวกเขาเริ่มเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง พฤติกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามความคิด นั่นก็คือการหันมาดูแลตัวเองนั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น เคสแต่ละเคสและผู้ป่วยแต่ละคนต่างมีปัญหา ประวัติความเป็นมา พื้นเพ นิสัย ความต้องการ สิ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันทั้งสิ้น ผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดก็จะมีการใช้เทคนิคทางจิตวิทยาในการช่วยเหลือผู้ป่วยแตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดนั้นก็เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นทั้งสิ้น   

กระบวนการของการบำบัดแบบ CBT การบำบัดความคิดและพฤติกรรม 

สิ่งแรกที่ทุกคนที่เข้าเซสชั่นการบำบัดจะเจอคือการได้พูดคุยกับนักบำบัดหรือนักจิตวิทยา ซึ่งการพูดคุยแต่ละครั้งก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละเคส โดยเฉลี่ยแล้วมักใช้เวลาอาทิตย์ละประมาณ 1 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 60 นาที อาจมีการทำความรู้จักกันเบื้องต้น ทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้การบำบัดเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยมากที่สุด และมีการพูดคุยถึงความคิด ความรู้สึก อารมณ์ และปัญหาของผู้ป่วย หลังจากนี้จะเป็นการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดและปรับพฤติกรรมไปจนกว่าตัวผู้ป่วยจะรู้สึกพอใจ เพราะบางคนมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน บางคนไม่ได้ตั้งเป้าหมายสูงนักก็อาจใช้เวลาไม่มากนัก ถ้าเป็นเป้าหมายใหญ่หรือแก้ไขได้ยากก็จำเป็นที่อาจจะใช้เวลายาวขึ้นตามความสมเหตุสมผลระหว่างปัญหาและผลลัพธ์ที่ตั้งเป้าเอาไว้ เมื่อจบเซสชั่นในแต่ละครั้ง นักจิตวิทยาหรือนักบำบัดจะให้การบ้านให้ผู้ป่วยกลับไปทำ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยสามารถทำตามเป้าหมายให้ได้นั่นเอง

ข้อดีของการบำบัดความคิดและพฤติกรรม หรือ CBT

  • ได้ปรับมุมมองความคิดและพฤติกรรมที่ไม่ดี
  • การบำบัดแบบ CBT สามารถปรับใช้กับตัวโรคและอาการที่หลากหลายได้ดี
  • ได้รับการดูแลจากนักบำบัดหรือนักจิตวิทยาอย่างเป็นประจำ
  • เห็นพัฒนาการได้ง่าย เนื่องจากมีการเข้าพบนักบำบัดหรือนักจิตวิทยาในรายสัปดาห์ 
  • เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่อยากทานยาต่าง ๆ 

การบำบัดความคิดและพฤติกรรม หรือ CBT เหมาะกับใคร

CBT ถูกออกแบบมาเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าเป็นหลัก แต่เนื่องด้วยหลักการของการบำบัดแบบ CBT ที่มีการเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมเป็นหลัก จึงทำให้  CBT มีการปรับใช้ในหลากหลายโรคและหลากหลายอาการป่วยด้วยกัน ตั้งแต่อาการป่วยที่ดูไม่หนักมากนัก เช่น ภาวะเครียด อาการวิตกกังวล ภาวะ Burnout ไปจนถึงโรคทางจิตเวชที่มีความเสี่ยงอื่น ๆ อาทิ โรค PTSD โรค OCD โรคเสพติดสิ่งต่าง ๆ โรคกลัวสิ่งต่าง ๆ (Phobia) กลุ่มโรคทางด้านอารมณ์ และกลุ่มโรคทางด้านบุคลิกภาพ

แต่ CBT ก็ไม่ได้เป็นการบำบัดที่เหมาะกับทุกคนเสียทีเดียว มันอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ เนื่องจากกระบวนการทางจิตวิทยาของ CBT มีความเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้โดยตรง หรืออาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาในระดับที่ซับซ้อนและมีปัญหาที่หลากหลาย เช่น มีปมปัญหาเกี่ยวกับครอบครัวในวัยเด็กร่วมด้วย หรือมีปัญหาทางด้านร่างกายเพิ่มด้วย จึงอาจทำให้ต้องได้รับการบำบัดในรูปแบบอื่นร่วมด้วย รวมทั้งอาจจำเป็นที่จะต้องทานยาเพิ่มด้วย เพื่อให้อาการป่วยอยู่ในระดับที่คงที่และเหมาะสมในการใช้ชีวิตนั่นเอง

การบำบัดความคิดและพฤติกรรม หรือ CBT ในไทย

การบำบัดแบบ CBT ในไทยเรียกได้ว่าเป็นวิธีการบำบัดแรก ๆ ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในไทยเลยก็ว่าได้ อาจเป็นเพราะ CBT สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และทำให้ผู้ป่วยเห็นพัฒนาการได้ชัดเจน จึงทำให้มีกำลังใจในการปรับเปลี่ยความคิดและพฤติกรรมของตัวเอง จึงทำให้ CBT กลายเป็นการบำบัดที่เป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักในวงกว้างเช่นนี้ ในทางกลับกัน ด้วยความที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่รู้จัก CBT กันเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้นักจิตวิทยาและนักบำบัดสนใจในการบำบัดรูปแบบนี้ จึงทำให้มีผู้เชี่ยวชาญในด้านการบำบัดแบบ CBT มีจำนวนมากกว่านักบำบัดรูปแบบอื่น ๆ อีกด้วย

การบำบัดแบบ CBT จึงเป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ค่อนข้างพบได้ง่ายในวงการจิตวิทยาไทย แต่ก็ไม่ได้ง่ายเสียจนที่คนทั่วไปจะเข้ารับการรักษาได้อย่างทั่วถึงกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนนักจิตวิทยาและนักบำบัดในตอนนี้ยังขาดแคลนและไม่เพียงพอตามความต้องการที่กระจายอยู่ตามทั่วประเทศ ทำให้นักจิตวิทยาหรือนักบำบัดที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ต้องแบกรับเคสในจำนวนที่มากเกินความจำเป็นและอาจทำให้ดูแลได้ไม่ทั่วถึงมากพอเท่าที่ควร จึงอาจส่งผลต่อการออกแบบการรักษาด้วยก็เป็นได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัญหาเหล่านี้ยังต้องใช้เวลาแก้ไขกันที่ระบบอีกนานเลยทีเดียว เราก็ต้องรอดูกันไป

สำหรับวันนี้ หวังว่าผู้อ่านจะได้เข้าใจการบำบัดแบบ CBT หรือ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม เพิ่มมากขึ้น และไม่รู้สึกกลัวที่จะลองเข้ารับการบำบัดเพื่อรักษาอาการป่วยทางใจอีกด้วย เพราะการป่วยทางใจก็เหมือนการป่วยทางกาย อาการทั้งหมดนี้สามารถรักษาให้หายได้เหมือนกัน 

อ้างอิง

MSEd, K. C. (2023, November 2). What Is Cognitive Behavioral Therapy (CBT)? Verywell Mind.

Weatherhead, E. (2023, June 28). What is Cognitive Behavioural Therapy? (Pros and Cons).  

NHS. (2023, November 14). Overview – Cognitive behavioural therapy (CBT). nhs.uk.