ชวนมาดูการใช้ AI ในวงการจิตวิทยาว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน และมันจะมาแทนที่นักจิตหรือนักบำบัดได้ไหม?

AI (Artificial Intelligence) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อไทยว่า ปัญญาประดิษฐ์ ได้เข้ามาเขย่าวงการทุกวงการในโลก ทุกวันนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ใคร ๆ ก็หันมาใช้ AI ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น OpenAI, ChatGPT, Bing AI, DALL-E, Midjourney หรือฟีเจอร์ของโปรแกรมและแอปพลิเคชันต่าง ๆ อย่างใน Canva ซึ่ง AI พวกนี้ช่วยให้การทำงานของเรารวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น แถมยังประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน และทำให้ผลิตงานได้มากขึ้นอีกด้วย

AI มีข้อดีก็จริง แต่มันก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน ยิ่งในปัจจุบัน ที่มีการใช้ AI เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตเป็นเท่าตัว ทำให้ผู้คนเริ่มมองเห็นการมีอยู่ของ AI อย่างเด่นชัดมากขึ้น และมีการใช้งาน AI ในบริบทที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น บางคนพร้อมเปิดใจให้ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน แต่บางคนก็มองเห็น AI เป็นเครื่องมือคุกคามชีวิตมนุษย์ อย่างในวงการศิลปะและภาพยนตร์ที่ยังไม่มีกฎระเบียบในการใช้ AI อย่างแน่ชัด ศิลปินหลาย ๆ คนมองว่า AI ขโมยงานศิลปินคนอื่นเพื่อสร้างผลงานใหม่ โดยศิลปินที่โดนขโมยผลงานกลับไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่กลายเป็นเจ้าของผู้ผลิต AI ต่างหากที่สร้างเม็ดเงินจากการทำงานของ AI นั้นไป แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย

ในวงการฮอลลีวูดก็มีปัญหากับการใช้ AI เช่นกัน หากใครตามข่าววงการหนังฮอลลีวูดอยู่บ้างคงจะเห็นข่าวคราวการประท้วงจากกลุ่ม SAG-AFTRA ซึ่งเป็นกลุ่มสหพันธ์แรงงานของคนในวงการบันเทิงที่ออกมาประท้วงทวงคืนค่าแรงที่เป็นธรรม และต่อต้านการใช้ AI ในวงการฮอลลีวูด เพราะถ้าหาก AI ถูกใช้ในวงการฮอลลีวูดขึ้นมาจริง ๆ นักแสดงตัวเล็กตัวน้อยจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากทางฮอลลีวูดจะมีการจ่ายค่าตัวนักแสดงเพียง 1 ครั้งเพื่อใช้ในการสแกนใบหน้าและร่างกาย หลังจากนั้นจะนำสิ่งที่สแกนได้ไปใช้ต่อในหนังและโฆษณา ซึ่งมันสามารถใช้ซ้ำได้นับครั้งไม่ถ้วน แต่นักแสดงได้รับค่าแรงเพียงครั้งเดียว ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมอีกเช่นกัน

นอกเหนือจากวงการที่เราได้พูดถึงไปแล้ว วงการนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดก็ได้รับความท้าทายจากการมีอยู่ของ AI เช่นกัน โดยเฉพาะ AI Chatbot ที่สามารถโต้ตอบบทสนทนาได้ ซึ่งก็มีคนได้ลองใช้ AI Chatbot ในฐานะเป็นนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดขึ้นมาจริง ๆ !! โดยผู้ใช้ Reddit รายหนึ่งได้ออกมาบอกว่า

“ChatGPT ดีกว่านักบำบัดของเขาเสียอีก”

ผู้ใช้ Reddit คนนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่เขาไม่คิดจะใช้ ChatGPT แทนการบำบัดของเขาจริง ๆ เพียงแต่ว่า ChatGPT สามารถตอบข้อสงสัยของเขาได้ทุกประการ จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าเขาถูกรับฟังอย่างแท้จริง ต่างกับนักบำบัดของเขาที่อาจตอบข้อสงสัยเขาได้ไม่ครบทุกประการนั่นเอง

แล้ว AI Chatbot ยังถือว่าเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงในวงการจิตวิทยาไหม?

เรียกได้ว่ามีบางประเด็นที่น่าเป็นห่วงอยู่ แต่ไม่ถึงกับว่าเราต่อต้าน AI ไปเลย เพราะมีนักจิตวิทยาหลาย ๆ คนมองเห็นช่องทางในการปรับใช้ AI และ AI Chatbot ในการวางแผนการรักษาและบำบัดโรคทางใจ จากบทความของ TIME (2023) ได้กล่าวถึงการใช้ AI ในแอปพลิเคชันเกี่ยวกับสุขภาพจิต ซึ่งทางแอปฯ มีการใช้ AI ในการเก็บข้อมูลและประเมินอาการผู้ใช้งาน เช่น ใช้เป็น Mood Tracker ใช้ในการให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองให้กับผู้ใช้งาน ใช้ในการประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ นอกจากนี้ ในวงการแพทย์ยังมีการใช้ AI ในการช่วยเลือกยาต้านเศร้าที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยอีกด้วย

ในส่วนของประเด็นที่น่าเป็นห่วงและยังเป็นความท้าทายในการพัฒนา AI นั่นก็คือด้านความหลากหลายของข้อมูล ถ้าหากจะให้ AI ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาจริง ๆ อาจมีปัญหาเรื่องการตอบรับต่อความหลากหลายของผู้คน ประเด็นอ่อนไหวของแต่ละบุคคลที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และประเด็นด้านสุขภาพจิตเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและมีความละเอียดอ่อนสูงมาก จึงทำให้การสร้างชุดคำตอบหรือคำแนะนำที่ครอบคลุมในทุกเคสจึงเป็นไปได้ยากและต้องใช้เวลา

และอีกสิ่งหนึ่งที่ AI หรือ AI Chatbot อาจมาทำแทนได้ยาก นั่นก็คือในส่วนของการทำหน้าที่ปรึกษาและการบำบัด เพราะหน้าที่เหล่านี้เป็นของบุคลากรที่เป็นมนุษย์โดยตรง ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างนักจิตหรือนักบำบัดและผู้ป่วยถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ การจะมาแทนที่ความสัมพันธ์รูปแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับ AI

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความเจ็บป่วยทางใจของแต่ละคนเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก วิธีบำบัดวิธีหนึ่งอาจไม่เวิร์กกับคนบางคน แต่อาจเวิร์กกับคนบางกลุ่มแทน ดังนั้น ทั้งวงการการปรึกษาและการบำบัดเองก็ต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้รองรับความต้องการของผู้ป่วยทุกคนได้ เช่นเดียวกับการพัฒนา AI และ AI Chatbot สำหรับใช้ในทางจิตวิทยา จำเป็นต้องมีการพัฒนาและวิจัยในอีกระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่แน่ในอนาคต AI และ AI Chatbot นี่แหละจะมาเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงความช่วยเหลือทางสุขภาพจิตได้มากขึ้น ซึ่งเราต้องรอดูกันต่อไป

To be continued…

อ้างอิง

Reardon, S. (2023, June 26). AI Chatbots Could Help Provide Therapy, but Caution Is Needed. Scientific American.

Ducharme, J. (2023, October 4). Can AI Chatbots Ever Replace Human Therapists? TIME.