ความกังวลที่มาพร้อมกับ FOMO — Fear Of Missing Out ที่ทำให้เรากลัวพลาดไปเสียทุกเรื่อง


สุขภาพจิต Mental Health คือภาวะของจิตใจเราที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตัวเราเอง เช่น ตัวตนของเรา ความคิดของเรา ความรู้สึกที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น การมองโล การมีความเข้าใจและรู้เท่าทันต่ออารมณ์และความรู้สึกของตนเอง รวมไปถึงมีการตระหนักรู้ว่าอารมณ์เชิงลบเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้สำหรับทุกคน รู้ว่าควรรับมือกับอารมณ์เชิงลบอย่างไรให้เหมาะสมกับตนเอง รวมถึงสิ่งรอบตัวต่าง ๆ  ตั้งแต่อาหารการกิน การอยู่อาศัย ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ครอบครัว เพื่อน คนรัก เพื่อนที่ทำงาน เป็นต้น 

เช็กปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นได้ที่นี่


เพราะโลกใบนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เราจะพลาดสิ่งเหล่านั้นที่น่าสนใจไปได้ยังไงกัน?! 

ด้วยความไม่อยากพลาดอะไรสักอย่างและความอยากใส่ใจในทุก ๆ เรื่องนี้เอง ทำให้หลาย ๆ คนต้องตามเทรนด์ให้ทัน อัปเดตทุกความเคลื่อนไหวอย่างว่องไว ทุกข่าวคราวทุกเรื่องราวอยู่ในสายตาของเราหลาย ๆ คนอยู่ตลอดเวลา

พฤติกรรมการติดตามทุกเรื่องราวโดยไม่ละสายตานี้เรียกว่า FOMO หรือ Fear Of Missing Out ที่เกิดจากความกลัวตกขบวนความทันสมัย ทำให้เราสนใจโลกภายนอกมากเสียจนละเลยโลกภายในของตัวเอง และละเลยสุขภาพจิตของตัวเองไปโดยปริยาย  

FOMO คืออะไร?

FOMO หรือ Fear Of Missing Out เป็นความรู้สึกกังวลหรือความรู้สึกกลัวที่เกิดจากการรับรู้ของคน ๆ หนึ่งซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์ภายนอกมากระตุ้นตัวตนหรือความต้องการภายในที่ยังไม่ได้รับการเติมเต็มอย่างเต็มที่ เช่น เวลาเราเล่นโซเชียลมีเดีย เราจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่มักลงรูปที่ตัวเองสวย จนบางทีมันทำให้คนบางคนรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง จึงพยายามไปทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ตัวเองมีความทัดเทียมหรือสวยเท่าคนเหล่านั้น หรืออาจเป็นเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของเรา เช่น เราเห็นคนรู้จักได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้างาน ก็สามารถทำให้ความรู้สึกของเราสั่นคลอนได้ อันเกิดมาจากภายในเรารู้สึกว่าตัวเองเก่งไม่พอ รู้สึกอิจฉาเขา รู้สึกอยากได้รับโอกาสแบบนั้นบ้าง เป็นต้น 

จริง ๆ แล้วการรู้สึกว่าตัวเองยังไปไม่ถึงเป้าหมายหรือการอิจฉาคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกนัก เพราะแต่ละคนต่างมีเส้นทางของตัวเอง แต่ถ้าการรับรู้เรื่องราวของคนอื่น หรือการพบเห็นความสำเร็จของคนอื่นเป็นสิ่งที่มากระตุ้นให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง นั่นย่อมไม่ใช่สิ่งที่ดีแล้ว เพราะมันจะทำให้เรากดดันตัวเอง มองตัวเองไม่ดี ด้อยค่าตัวเอง รวมถึงอาจมีการลงโทษตัวเองตามมาอีกด้วย จนทำให้สุขภาพกายเราพังไปพร้อม ๆ กับสุขภาพจิตได้

นอกจากนี้ ความวิตกกังวลหรือความกลัวที่เกิดขึ้นจาก FOMO นี้ ยังเป็นภาวะที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคจิตเวชหลายโรคที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี อาทิ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล รวมถึงส่งผลเสียต่อการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem) และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเราได้อีกด้วย

ผลกระทบของ FOMO ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต

  • ทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวล
  • อาจทำให้เกิดการปวดหัว ปวดท้อง 
  • ลดความอยากอาหาร
  • ส่งผลต่อการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ
  • มีมุมมองและทัศนคติที่ไม่ดีต่อตัวเอง
  • กดดันตัวเองจนเสียสุขภาพจิต
  • เกิดความคิดด้านลบกับตัวเอง ลงโทษตัวเอง
  • อาจทำร้ายตัวเอง
  • ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น

Amy Sullivan นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้กล่าวไว้ว่า “ในมุมมองทางจิตวิทยาแล้ว หาก FOMO เริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้างของเรา นั่นแปลว่าคุณควรเริ่มมองหาสาเหตุของปัญหา และเริ่มเข้าร่วมกระบวนการทางจิตวิทยาเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกับนักจิตวิทยาไปด้วยกัน”

3 วิธีจัดการ FOMO เพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

  • ใส่ใจความรู้สึกของตัวเองให้มากขึ้น

เวลาเราได้ยินเรื่องราวของคนอื่น บางครั้งเราอาจไม่ได้คิดอะไรมาก แต่บางครั้งเราก็นำเรื่องของเราไปเปรียบเทียบกับพวกเขาเพื่อหาข้อด้อยของตัวเอง และจมอยู่กับเรื่องราวที่ไม่เอาไหนของตัวเอง ก่อนที่เราจะก่นด่าตัวเองอย่างไม่ลืมหูลืมตา เมื่อมีข้อมูลใดก็ตามที่เข้ามาสู่เรา ให้เราสังเกตความรู้สึกของตัวเองว่าสิ่งที่เรากำลังรับรู้อยู่นี้ ทำให้เรารู้สึกแบบไหน ถ้าหากรู้สึกยินดีหรือรู้สึกเฉย ๆ ก็ถือว่าโอเคแล้ว แต่ถ้าหากเกิดอารมณ์ด้านลบขึ้น ให้เราค่อย ๆ มองหาสาเหตุว่า อะไรกันนะที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี หากค้นพบสาเหตุแล้ว ก็ให้เราค่อย ๆ จัดการอารมณ์ของตัวเองอย่างเหมาะสมต่อไป เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพจิตของเราด้วย

  • เข้าใจ Trigger ที่เกิดขึ้น

เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนอยากรับรู้ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลก บางทีบางเรื่องราวก็กระตุ้นอารมณ์ด้านลบของเราขึ้นมา จนทำให้เรารู้สึกไม่ดีไปทั้งวันก็ได้ เช่น เราเพิ่งเลิกกับแฟนมา และเราก็ไม่ได้อยากรู้เรื่องของแฟนเก่า แต่มีคนเอามาเล่าให้ฟัง และทำให้เรารู้สึกแย่ไปทั้งวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถจัดการได้โดยการรู้จักสิ่งที่ Trigger เรา อะไรบ้างที่จะมาเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี ให้เราจดจำเอาไว้ และถ้าหากไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้าก็สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องเหล่านั้นไปได้ก่อน แต่ถ้าจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับมัน เราก็จะต้องมีการเตรียมตัวรับมือกับมันให้ดี เพื่อให้การใช้ชีวิตของเราในแต่ละวันผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่น และเพื่อเซฟสุขภาพจิตของเราอีกด้วยนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Trigger ได้ที่นี่

  • เคารพความแตกต่างของตัวเราเอง

คนเราทุกคนล้วนแตกต่างกันในทุก ๆ ด้าน รวมไปถึงความสามารถในการรับข้อมูลข่าวสาร ความสามารถในการเอาชนะปัญหา และอื่น ๆ อีกมากมาย อย่าโทษตัวเองมากนัก หากเราจะวิ่งไม่ทันคนอื่นบ้าง บางทีเส้นทางของผู้อื่นที่มีฉากหน้าที่สวยงามมาก ๆ อาจจะต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่างที่สาหัสกว่าที่เราจะรู้ก็เป็นได้ การเคารพความแตกต่างทางด้านเงื่อนไขของตัวเราเองและของผู้อื่นจะช่วยให้เรามองทุกอย่างอย่างเป็นกลางด้วยความเข้าใจมากขึ้น และทำให้เราไม่เอาตัวเราเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเพื่อด้อยค่าตัวเองนั่นเอง

  • เข้ารับคำปรึกษาร่วมกับนักจิตวิทยา

หากรู้สึกว่าเราไม่สามารถแก้ไขสิ่งนี้ได้ด้วยตนเอง การเข้ารับการช่วยเหลือทางจิตวิทยาด้วยการเข้ารับคำปรึกษาร่วมกับนักจิตวิทยาอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ควรลองทำ เพราะการพูดคุยกับนักจิตวิทยาจะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาของตัวเอง และช่วยให้เราค่อย ๆ แก้ไขปัญหาต่อไปได้

เพราะมนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างและความเฉพาะตัวเป็นอย่างมาก เราไม่สามารถรับรู้ทุกเรื่องราวได้อย่างหมดจด และเราไม่สามารถเป็นคนที่สมบูรณ์แบบได้ในทุก ๆ ด้าน อย่างที่ FOMO หรือ Fear Of Missing Out ได้นิยามไว้ บางที… พลาดบ้างก็ได้ มันไม่เป็นอะไรหรอก

อ้างอิง

Clinic, C. (2024, April 30). FOMO Is Real: How the Fear of Missing Out Affects Your Health. Cleveland Clinic.