Inner Child เมื่อเรื่องราวในวันวาน ส่งผ่านมาถึง “ตัวตน” ในปัจจุบัน

จิตใจของเด็กคนนั้น… ยังอยู่กับเราในวันนี้

ต่อให้พวกเราโตมาอายุเท่าไหร่กันแล้วก็ตาม แต่ข้างในใจลึก ๆ ของเรานั้นยังคงมี “ตัวตนในวัยเด็ก” แฝงตัวมาจนถึงตอนนี้อยู่ดี อาจจะเป็นนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ความทรงจำดี ๆ การประสบความสำเร็จในตอนนั้น ไปจนถึงบาดแผลทางจิตใจที่ถึงแม้อาจจะดีขึ้นแล้ว แต่ยังคงส่งผลต่อตัวตนของเราในปัจจุบันอย่างไม่จางหายไป และสิ่งนี้คือ Inner Child หรือ ตัวตนในวัยเด็ก ของเรา และวันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับตัวตนด้านนี้ของเราให้มากขึ้นกัน

Inner Child คืออะไร?

Inner Child แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ความเป็นเด็กที่อยู่ข้างใน ซึ่งก็คือตัวตนในวัยเด็กของเราทุกคนนั่นเอง ซึ่งครอบคลุมไปถึงตัวเราในวัยเด็กในทุกมิติ ทั้งประสบการณ์ ความทรงจำ สิ่งแย่ ๆ ในวัยเด็ก ไปจนถึง บาดแผลทางจิตใจในวัยเด็ก (Childhood Trauma) ของเราอีกด้วย เช่น ตอนเด็ก ๆ เราได้รับความรักจากครอบครัวไม่เพียงพอ เมื่อโตมา Inner Child ในตัวเราก็จะมองหาและโหยหาความรักแบบที่เราไม่ได้รับในวัยเด็ก อาจหาจากกลุ่มเพื่อน คนรัก หรือในรูปแบบอื่น ๆ 

ถึงแม้ว่าเรื่องราวในอดีตจะเกิดขึ้นผ่านไปนานแล้ว แต่สิ่งใดก็ตามที่ทำให้เราฝังใจ แน่นอนว่า มันฝังอยู่ในใจลึกเสียจนติดตัวมากับเราในวัยผู้ใหญ่ อีกทั้งเรื่องราวในวัยเด็กนี่แหละ เป็นตัววัดผลอย่างดีว่าโตขึ้นมาเราจะโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน บางที การที่เราเป็นเราแบบนี้ในทุกวันนี้ อาจเกิดจากสิ่งที่ตัวเราในวัยเด็กพบเจอมาก็ได้ ถ้าเรามีความทรงจำดี ๆ ติดตัวมา เราก็จะโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยความสุข แต่ถ้าเราโตมาพร้อมกับบาดแผลในใจแผลใหญ่ แน่นอนว่า บาดแผลในวันนั้นยังไม่ได้รับการรักษาที่ดีและติดตัวเรามาด้วย และบาดแผลนั้นอาจเป็นแผลลึกกว่าเดิมเมื่อเจอกับสิ่งเร้ามากระตุ้น (Trigger) ที่ทำให้เรานึกถึงเรื่องราวในอดีตที่น่าเจ็บปวดในวัยเด็ก เช่น ตอนเด็ก ๆ เราโดนลงโทษด้วยการโดนตีด้วยไม้เรียวบ่อย ๆ โตมาจึงรู้สึกระแวงที่ได้เห็นไม้เรียว เป็นต้น

ดังนั้นแล้ว การดูแล Inner Child ของเราจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากเราค้นพบว่าเด็กคนนั้นในตัวเรายังคงต้องการความรัก ต้องการการเยียวยา ดูแล และเอาใจใส่ อย่าได้ปฏิเสธความต้องการของเด็กคนนั้นเลยนะ เพราะมันจะช่วยให้คุณเติบโตได้ดีขึ้น โดยที่แผลไม่ได้อักเสบหนักเหมือนในวัยเด็ก 

การดูแล Inner Child ของเราสำคัญอย่างไร

ถึงแม้ว่า Inner Child จะไม่ใช่ภาวะทางจิตวิทยาหรือจิตเวช หรืออาการป่วยที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด แต่การทำความเข้าใจว่า ตัวตนในปัจจุบันของเราหลอมรวมมาจากเวอร์ชันในแต่ละช่วงวัยของเราทุกเวอร์ชัน ซึ่งเราแต่ละช่วงต่างได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกัน มีความต้องการที่แตกต่างกัน และมีบาดแผลที่แตกต่างกันหรืออาจเชื่อมโยงกันก็ได้ เราแต่ละเวอร์ชันต้องเคยเจอเรื่องทำร้ายจิตใจกันมาทั้งนั้น การทำความเข้าใจ Inner Child จะช่วยให้เราเข้าใจและยอมรับได้ว่า ภายในใจลึก ๆ ของเราแล้ว เด็กคนนั้นยังรู้สึกขาด เด็กคนนั้นยังรู้สึกต้องการการเติมเต็ม และเด็กคนนั้นต้องการให้ตัวเราในวันนี้หันไปโอบกอดพวกเขาด้วยความรักและความเข้าใจอยู่นะ 

ยกตัวอย่างภาพเหตุการณ์ที่หลาย ๆ คนน่าจะพอนึกออกกัน ตอนเด็ก ๆ เราอาจโตมากับการที่ได้มีของเล่นมากมาย การจะได้ของเล่นแพง ๆ อย่างฟิกเกอร์ โมเดล รถบังคับ ตุ๊กตาราคาแพงต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งเลโก้ เป็นเรื่องที่ยากสำหรับเรามาก เพราะด้วยราคาที่สูงเกินพ่อแม่ของเราในตอนนั้นจะเอื้อมถึง แต่พอเราโตมา กลายเป็นว่าเราสามารถซัพพอร์ตตัวเองได้เป็นอย่างดี และมีเงินมากพอที่จะซื้อของเหล่านั้นได้แล้ว ทำให้เราโตมากลายเป็นคนที่ชอบสะสมของเล่นต่าง ๆ ถึงแม้ว่าคนอื่นอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ในใจลึก ๆ เราก็รู้ว่า การได้เก็บสะสมสิ่งเหล่านี้คือความสุขอันล้ำค่าของเรา ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ก็ถือว่าเป็นการดูแล Inner Child ของเรารูปแบบหนึ่งที่ได้มาเติมเต็มความต้องการในวัยเด็กเมื่อกลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว 

วิธีการดูแล Inner Child ของเรา

1. ค้นหาความต้องการภายในใจ

การจะค้นหาว่า จริง ๆ แล้วตัวเราต้องการอะไร ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เราอาจต้องใช้เวลานานกว่าที่จะตอบคำถามนี้ได้อย่างแท้จริง เมื่อเราค้นพบความต้องการของเราแล้ว ความต้องการของเรานี่แหละอาจสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เราขาด และอาจเป็นความต้องการในวัยเด็กของเราที่ไม่ได้รับการเติมเต็มอย่างเพียงพอ ซึ่งมันจะนำเราไปสู่ประสบการณ์หรือความรู้สึกที่ฝังไว้ในวัยเด็ก ทำให้เราได้เผชิญหน้ากับมัน และได้พูดคุยเพื่อปลอบโยนเด็กคนนั้นอีกด้วย

2. ฟื้นฟู ดูแล เยียวยาเด็กคนนั้น ด้วยตัวเราเอง (Reparenting)

การดูแลตัวตนในวัยเด็กของเราด้วยตัวเราเอง มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Reparenting คือการที่เรากลายมาเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองให้กับตัวเราในวัยเด็ก ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธีมาก และตัวเราเองสามารถเลือกได้ว่าเราดูแลตัวเราในช่วงวัยไหนเป็นอันดับแรก อาจเป็นช่วง 5 ขวบที่บังเอิญเจอพ่อแม่ทะเลาะกันเป็นครั้งแรก หรือตอน 7 ขวบที่โดนหมากัด ให้เรานึกถึงตัวเราในวัยนั้น และจินตนาการว่า เด็กคนนั้นต้องการอะไร และต้องการคำปลอบโยนแบบไหน ให้เราพูดประโยคนั้นกับตัวเอง หรือเขียนจดหมายหาตัวเองในวัยเด็กก็ทำได้เช่นกันเดียวกัน 

3. เข้ารับการบำบัด

สำหรับบางคนแล้ว ตัวตนของพวกเขาในวัยเด็กอาจเต็มไปด้วยบาดแผลทางใจและเรื่องราวอันซับซ้อน ลำพังการดูแล Inner Child ด้วยตัวคนเดียวอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมน่าจะเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น การเข้ารับการบำบัดด้วยวิธีการทางจิตวิทยาต่าง ๆ ตามความเหมาะสมในแต่ละเคส เช่น การบำบัดแบบ IFS (Internal Family Systems) หรือการบำบัดครอบครัวภายใน หรือการบำบัดแบบ Psychodynamic เป็นต้น

แล้วคุณล่ะ? ยังรู้สึกว่า เด็กคนนั้นยังไม่ได้รับการเติมเต็มอยู่หรือเปล่า? ใช้เวลาในการค้นหาคำตอบให้กับตัวเอง เมื่อพบเจอคำตอบและพบคำตอบแล้ว โอบกอดเขาไว้และให้ความรักอย่างเต็มที่ เพราะนั่นอาจเป็นสิ่งที่เด็กคนนั้นต้องการมากที่สุดก็ได้

อ้างอิง

Msw, J. C. H. (2023, March 22). Inner Child Work: How Your Past Shapes Your Present. Verywell Mind.