Hyper Independence เรื่องราวของนักแบกและบาดแผลทางใจในอดีต

เราเป็นคนเดียวที่จัดการทุกอย่างได้ไหว

เราดูแลทุกอย่างนี้ได้ด้วยตัวคนเดียว

เราไหวอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องยืมมือคนอื่น

มีใครเคยคิดแบบนี้กันบ้าง? และมักมีความคิดแบบนี้แทบจะทุกสถานการณ์ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตการทำงาน ความสัมพันธ์ หรือการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เรารู้สึกว่า “เราไหว” หรือ “ทำฝืนว่าไหว” อยู่ตลอดเวลา เพราะกลัวว่าคนอื่นจะมารับภาระของเรามากเกินไป หรือเกิดจากความรู้สึกที่ว่าคนอื่นไม่น่าเชื่อถือเท่าตัวเราก็ได้ สิ่งนี้เรียกว่า “Hyper Indepencde” หรือ การพึ่งพาตัวเองมากเกินไป ถ้าหากความคิดแบบนี้เกิดขึ้นกับเพียงไม่กี่เรื่องก็คงจะไม่ใช่ปัญหาเท่าไรนัก แต่ถ้ามันเกิดขึ้นกับหลาย ๆ เรื่องอย่างเป็นประจำ เช่น แบกงานทำคนเดียว หรือไม่กล้าพูดความต้องการของเราในความสัมพันธ์ พอปล่อยไว้นาน ๆ เข้า สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นดาบแหลมที่วกเข้ามาทิ่มเราแทน วันนี้เราจึงจะไปทำความเข้าใจ Hyper Independence หรือ การพึ่งพาตัวเองมากเกินไป ให้มากขึ้นกัน

Hyper Independence คืออะไร?

Hyper Independence หรือ การพึ่งพาตัวเองมากเกินไป ไม่ใช่ภาวะความผิดปกติทางจิตเวชหรือทางจิตวิทยาแต่อย่างใด หากแต่เป็นคำที่ใช้เรียกลักษณะของกลุ่มคนที่มีการพึ่งพาตัวเองมากเกินไปจนมันเริ่มกระทบความสัมพันธ์ และส่งผลต่อเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต โดยคนที่มีลักษณะเป็น Hyper Independence มักปฏิเสธการช่วยเหลือ ร้องขอความช่วยเหลือไม่เป็น เกรงใจง่าย และมีความสามารถในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทำได้ไม่ดีนัก ยกตัวอย่างการทำงานกลุ่ม หากเราไม่แบ่งงานให้ใครเลย เพราะเกิดความกลัวขึ้นมาว่าคนอื่นจะทำไม่ดีหรือไม่เพอร์เฟ็กต์เท่าเรา นั่นหมายความว่าเราเป็นคนเดียวที่แบกงานไว้กับตัวเอง ทั้ง ๆ ที่เราสามารถแบ่งงานให้คนอื่นทำได้

ถึงแม้ว่าการพึ่งพาตัวเองให้ได้ถูกมองว่าเป็นทักษะที่มีความสำคัญในการเอาตัวรอด แต่ถ้าเราพึ่งพาตัวเองในทุกเรื่องมากเกิน โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ที่มีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวพันด้วย จะกลายเป็นว่าเราเป็นคนออกแรงพยายามทุกอย่างในความสัมพันธ์นั้น ๆ มากเกินไป หากวันใดวันหนึ่งเรารู้สึกเหนื่อยขึ้นมา จะกลายเป็นว่า เราไม่ได้ปล่อยให้อีกฝ่ายพยายามเลย ทั้ง ๆ ที่เรื่องของความสัมพันธ์คือการสื่อสารสองทาง เมื่อมีฝ่ายหนึ่งพยายาม อีกฝ่ายต้องพยายามเช่นกัน เพื่อให้เป็นความสัมพันธ์ที่มีความเท่าเทียมกัน เคารพกัน และเห็นคุณค่ากันโดยไม่มีใครเอาเปรียบกันและกัน   

สาเหตุของ Hyper Independence ส่วนหนึ่งมาประสบการณ์ในอดีต เมื่อก่อนอาจจะมีคนเคยหักหลังหรือทรยศ ในชีวิตมีแต่คนไม่น่าไว้ใจ บอกอะไรไปไม่เคยทำให้ จึงทำให้เมื่อไปมีความสัมพันธ์ใหม่ ๆ อาจเกิดความระแวงและไม่ไว้ใจในการขอความช่วยเหลือจากใครเลย ส่วนหนึ่งมีผลมาจากเรื่อง Trust Issues หรือ ปัญหาด้านการเชื่อใจ อีกด้วย ซึ่งทำให้กลายเป็นคนที่ไว้ใจคนอื่นยากไปโดยปริยาย และส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากโรคทางจิตเวช เช่น โรค PTSD โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น เพราะสำหรับบางคนแล้ว อาการของโรคเหล่านี้ทำให้เกิดความคิดลบต่อคนอื่น จนทำให้เรายากที่จะไว้ใจคนอื่น แต่สำหรับโรคหลงตัวเอง (Narcississtic Personality Disorder) ที่ทำให้ผู้ป่วยมองว่าไม่มีใครสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีเท่าพวกเขาก็อาจเป็นสาเหตุด้วยเช่นกัน

ลักษณะของคนที่เป็น Hyper Independence

  • กังวลและไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่น
  • รู้สึกเครียดหรือกังวลเมื่อต้องพึ่งพาคนอื่น
  • ไม่ชอบแชร์เรื่องส่วนตัว
  • ไม่ไว้ใจใครง่าย ๆ
  • บ้างานมากเกินไป ชอบกองงานไว้ที่ตัวเองคนเดียว
  • ไม่ชอบเข้าสังคม
  • เป็นคนที่ชื่นชอบความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist)

วิธีเยียวยาความ Hyper Independence ในตัวเราเอง

1. เรียนรู้ถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล

ด้วยสาเหตุที่มาจากประสบการณ์ในอดีต การไปเจอคนแย่ ๆ ที่พึ่งพาไม่ได้ในสมัยก่อน อาจทำให้ชาว Hyper Independence ไม่ไว้ใจใครอีกเลย และทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว แต่คนเก่าที่เราเคยรู้จักกับ กับคนใหม่ที่เข้ามาในชีวิตเรา ทั้งสองคนนี้เป็นคนคนละคนกัน ทำความรู้จักผู้คนใหม่ ๆ เหล่านั้น และลองให้พวกเขาลองรับผิดชอบกับงาน เพื่อให้เราได้รู้จักพวกเขามากขึ้น และได้เข้าใจวิธีรับมือกับสิ่งที่ต้องรับผิดชอบของพวกเขา เมื่อเจอผลงานที่เป็นรูปธรรมจะช่วยให้เราไว้ใจคนอื่นได้มากขึ้นนั่นเอง

2. ทำความเข้าใจข้อเสียของการไม่ไว้ใจคนอื่น

งานที่เราสามารถขอความช่วยเหลือคนอื่นได้ เช่น การทำงานบ้าน การทำงานกลุ่ม การทำงานเป็นทีม หากเราไม่ขอความช่วยเหลือจากคนที่เกี่ยวข้องกับงานนั้น ๆ รู้ตัวได้เลยว่าคุณจะเหนื่อยอยู่คนเดียวหากต้องแบกรับงานทั้งหมด ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่แฟร์เลย ดังนั้นแล้ว หากมีอะไรที่ต้องทำเป็นทีม เราควรแบ่งงานให้แฟร์ ๆ กันทุกฝ่าย ทุกคนจะได้รู้สึกแฟร์กันหมด รวมถึงเราจะได้ไม่ต้องเหนื่อยคนเดียวอีกด้วย

3. บอกคนอื่นอย่างตรงไปตรงมา

ในบริบทการทำงานอาจจะทำได้ยากเสียหน่อย อาจลองปรึกษากับหัวหน้าเพิ่มเติมว่า เราเป็นคนชอบแบกงานนะ มีอะไรที่ช่วยแก้ไขด้วยกันได้ไหม เป็นต้น ในบริบทของความสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น ครอบครัว พ่อแม่ เพื่อน คนรัก ลองบอกพวกเขาไปตรง ๆ ว่าเราชอบแบกงานมากเกินไป ขอความช่วยเหลือไม่เก่ง พวกเขาจะได้เข้าใจเรามากขึ้น และช่วยผลักดันให้เรารู้สึกสบายใจที่จะขอความเชื่อเหลือในอนาคตนั่นเอง 

4. เช็กตัวเองอย่างเป็นประจำ

การจะจัดการกับความ Hyper Independence ของตัวเองให้อยู่มัด เราต้องคอยเช็กตัวเองอย่างเป็นประจำว่า เรากลับมาทำตัวพึ่งพาตัวเองมากเกินไปเหมือนเดิมหรือเปล่า? เช็กตารางงานว่าเราแบกงานเยอะไปไหม เช็กความรู้สึกกับร่างกายของเราว่าเหนื่อยเพราะทำงานหรือทำกิจกรรมอะไรมากเกินจำเป็นหรือเปล่า หากได้คำตอบแล้วว่าทำมากเกินไป ให้เราลองพักจากงานก่อน และค่อย ๆ มาจัดการงานว่ามีอะไรที่คนอื่นช่วยเราทำได้ไหม เพราะไม่งั้นเราจะแก้ไขความ Hyper Independence ไม่ได้เลย

5. เข้ารับการบำบัด

การเป็นคน Hyper Independence อาจมีสาเหตุมาจากโรคทางจิตเวช ซึ่งเราจำเป็นต้องไปรับการตรวจและวินิจฉัยจากจิตแพทย์ให้แน่ใจก่อน จากนั้นจึงมาเข้าร่วมกระบวนการทางจิตวิทยาเพื่อปรับและแก้ไขความ Hyper Independence ต่อไป เช่น เข้ารับการบำบัดปรับพฤติกรรม (CBT) หรือเข้ารับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยา เป็นต้น

การเป็นคน Hyper Independence หรือคนที่พึ่งพาตัวเองได้มากเกินไป อาจฟังดูเป็นเรื่องที่ดีและเราฟังดูเป็นคนที่เก่งก็จริง แต่เราแบกทุกอย่างในชีวิตด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ จริงไหม? การไว้ใจคนอื่นอาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่สักวันหนึ่งคุณจะรู้ว่า โลกนี้ยังมีคนน่ารักอีกมากมายที่พร้อมช่วยเหลือคุณอย่างเต็มใจอยู่นะ 

อ้างอิง

Buchwald, N. (2023, June 15). Understanding Hyper-Independence: Is It a Trauma Response? Manhattan Mental Health Counseling.

PsyD, A. M. (2022, September 19). Hyper-Independence and Trauma: What's the Connection? Verywell Mind.

White-Gibson, Z. (2022, February 18). Can Hyper-Independence Be a Trauma Response? Psych Central.