ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน Workplace Relationship คืออะไร? สำคัญกับชีวิตการทำงานอย่างไร?

สำหรับคนส่วนใหญ่ ชีวิตการทำงาน ผู้คน และความสัมพันธ์ในที่ทำงาน เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงและตัดขาดออกจากกันไม่ได้ เช่น การทำงานร่วมกับคนในทีมเดียวกัน โปรเจกต์เดียวกัน แผนกเดียวกัน ประสานงานกันภายในบริษัท ไปจนถึงการทำงานร่วมกับข้างนอกบริษัทก็ด้วยเช่นกัน เพื่อให้พนักงานทำงานได้อย่างไม่มีเรื่องกวนใจ เพื่อให้รู้ว่าควรต้องวางตัวในที่ทำงานอย่างไร และเพื่อให้พนักงานอยู่ร่วมกับคนจำนวนมากได้อย่างไร้กังวล การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในที่ทำงานจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสนใจ 

ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน คืออะไร เป็นอย่างไร?

ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน หรือ Workplace Relationship เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคน 2 คนขึ้นไปที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเกิดขึ้นภายในที่ทำงาน โดยมีจุดมุ่งหมายในการทำงานร่วมกัน หรือเพื่อให้งานประสบความสำเร็จ เช่น ความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนร่วมงาน และถ้าหากความสัมพันธ์ในที่ทำงานเป็นไปได้ด้วยดี ก็สามารถพัฒนาไปเป็นความสัมพันธ์รูปแบบอื่น ๆ ที่มีความสนิทสนมและมีความเชื่อใจต่อกันมากขึ้น เช่น เพื่อน คนรัก หรือครอบครัวก็เป็นได้

รูปแบบความสัมพันธ์ในที่ทำงาน

เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนสามารถเป็นไปได้ในหลากหลายรูปแบบ เราจึงขอจำแนกออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น ประกอบไปด้วย

1. แบบมืออาชีพ (Professional) 

Professional  หรือความเป็นมืออาชีพ ความสัมพันธ์แบบเป็นมืออาชีพ เป็นความสัมพันธ์ที่มีเรื่องงานเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นส่วนใหญ่ และพนักงานจำเป็นต้องรักษาความเป็นมืออาชีพในความสัมพันธ์นี้ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการรักษาความสัมพันธ์และช่วยให้การทำงานราบรื่นต่อไปได้ 

รูปแบบความสัมพันธ์คนที่เกี่ยวข้องในความสัมพันธ์
Co-workerเพื่อนร่วมงานโดยทั่วไป พูดถึงคนทั่วไปที่เราเจอในที่ทำงาน ตั้งแต่เพื่อนร่วมทีม หัวหน้า ไปจนถึงแม่บ้านประจำบริษัท
Manager/Supervisorหัวหน้า ผู้จัดการ หรือคนที่ดูแลควบคุมงานของเราโดยตรง 
Clientลูกค้าของเรา
Industryเพื่อนร่วมงานภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรืออุตสาหกรรมอื่น

2. แบบเป็นส่วนตัว (Personal)

ความสัมพันธ์รูปแบบนี้จะมีความสนิทสนมเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะยังคงมีการวางตัวอย่างเป็นมืออาชีพในการทำงานอยู่ โดยความสัมพันธ์เหล่านี้จะทำให้เรารู้สึกว่ามีเพื่อน ไม่ได้โดดเดี่ยว ทำงานด้วยตัวคนเดียว ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นความสัมพันธ์รูปแบบอื่น ๆ ที่มีความสนิทสนมกันมากกว่าภายในที่ทำงานได้ด้วย 

รูปแบบความสัมพันธ์คนที่เกี่ยวข้องในความสัมพันธ์
Teammate/Team membersเพื่อนร่วมทีมของเรา ซึ่งคนกลุ่มนี้มักเป็นคนที่เราทำงานด้วยบ่อยที่สุด และเจอกันบ่อยที่สุดในการทำงาน 
Work Friendsเพื่อนทำงาน โดยคำนิยามของคำนี้คือเพื่อนในที่ทำงานที่เรารู้สึกสะดวกใจที่จะทำงานด้วย รวมไปถึงสบายใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น กินข้าวเที่ยงด้วยกัน ไปเที่ยวหลังเลิกงานด้วยกัน ไปดื่ม ไปปาร์ตี้ด้วยกันได้ 
Office Spouseเพื่อนคู่คิด คำนิยามของมันมีความหมายใกล้เคียงกับเพื่อนทำงาน แต่มีความสนิทสนมในระดับที่มากกว่า คือเป็นเพื่อนทำงานที่เราสามารถเที่ยวด้วยไ้ด้ ปรึกษาด้วยได้ ขอคำแนะนำได้ 
Life Friendsเพื่อน เป็นรูปแบบของเพื่อนที่ทำงานที่เรามีความสนิทสนมและไว้ใจสูงที่สุด สมมติถ้าลาออกจากงานไป เพื่อนประเภทนี้จะยังคงติดต่อเราอยู่ และมีการรักษาความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนกันต่อไป
Mentor/Menteeผู้ให้คำแนะนำ หรือเราเป็นผู้แนะนำให้คนอื่น หากเราต้องการปรึกษาเรื่องหน้าที่การงาน หรือต้องการคำแนะนำในชีวิตการทำงานหรือเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต เรามักจะไปหาคน ๆ นี้เพื่อขอคำแนะนำ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความสัมพันธ์ทั้งแบบ Professional และ Personal อาจจะมีความคาบเกี่ยวกันอยู่บ้าง ความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งอาจพัฒนาก้าวข้ามจากความ Professional ไปสู่ Personal ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความสบายใจ ความไว้ใจ ความสนิทสนม และความเข้ากันได้ของคนในความสัมพันธ์นั่นเอง แต่สุดท้ายแล้ว  ความสัมพันธ์ทุกรูปแบบในที่นี้มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของเราทั้งสิ้น 

ความสำคัญของความสัมพันธ์ในที่ทำงาน

ขึ้นชื่อว่าเป็นความสัมพันธ์ในที่ทำงานแล้ว แน่นอนว่า ความสัมพันธ์เหล่านี้ย่อมสามารถส่งผลบวกและลบต่อชีวิตการทำงานของเราได้ หากความสัมพันธ์เป็นไปได้ด้วยดี ไม่มีปัญหาต่อกัน ก็อาจส่งผลให้การทำงานของเราราบรื่น เป็นไปได้ด้วยดี ไร้อุปสรรค อีกทั้งยังช่วยให้ Career Path หรือมีการเติบโตทางหน้าที่การงานที่ดีได้ด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม หากความสัมพันธ์ระหว่างกันนั้นไม่ดี ก็อาจส่งผลต่อการทำงานของเราได้ด้วยเช่นกัน เช่น เพื่อนร่วมงานทำงานไม่ละเอียด ไม่รอบคอบ หัวหน้าไม่มีขอบเขตในการสั่งงาน คนในที่ทำงานนินทาไม่ชอบขี้หน้าเรา ก็อาจส่งผลต่อบรรยากาศในการทำงานในบริษัท และท้ายที่สุด เมื่อบรรยากาศในการทำงานไม่น่ารัก มีความอึดอัดในการทำงาน สุดท้ายแล้ว มันจะค่อย ๆ ส่งผลต่อการทำงานของเรา รู้สึกไม่อยากมาทำงาน การติดต่องานไม่ราบรื่น จนทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลง 

ซึ่งปัญหาเหล่านี้เอง สามารถส่งผลได้ต่อทั้งตัวพนักงานและบริษัทเองได้ด้วย เพราะถ้าหากความสัมพันธ์ในที่ทำงานอยู่ในขั้นวิกฤต ก็อาจทำให้ผลงานขององค์กรออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ขั้นตอนทุกอย่างในการทำงานติดขัด มีพนักงานลาออกเพราะบรรยากาศในการทำงานไม่ดี จนมันอาจไปทำลายสู่ภาพลักษณ์ขององค์กรได้ในท้ายที่สุด 

อ้างอิง

Types of Work Relationships: Finding Your People. (n.d.).