3 เหตุผล ทำไมจิตบำบัดไม่เวิร์กสำหรับบางคน

“ปรึกษาหรือทำบำบัดกับจิตนักจิตวิทยาก็แค่เข้าห้องไปพูด ๆ บ่น ๆ ฟังนักจิตฯ

แล้วก็ออกมา ไม่เห็นช่วยอะไรได้เลย”

ใครเคยมีความคิดเห็นกับการเข้ารับคำปรึกษาหรือการทำจิตบำบัดแบบประโยคด้านบนกันมาบ้าง? เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หลาย ๆ คนน่าจะเคยมีปัญหาทางสุขภาพใจ แต่การเข้ารับคำปรึกษาหรือการทำจิตบำบัดที่เป็นทางออกของปัญหานั้นกลับไม่ได้ทำให้รู้สึกดีขึ้นหรือมีอาการดีขึ้นเท่าไรนัก ซึ่งสาเหตุของการที่มันไม่เวิร์กก็มีหลายเหตุจากหลากหลายมุมมองที่น่าสนใจ เราจึงนำ 3 เหตุผลว่าทำไมจิตบำบัดไม่เวิร์กสำหรับบางคน มาให้ทำความเข้าใจกัน   

1. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้ารับบริการและนักจิตบำบัด 

เรื่องความสัมพันธ์ภายในการทำจิตบำบัดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมันถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้เข้ารับบริการหรือผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้ ซึ่งการจะมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนั้นเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและมีปัจจัยมากมายที่สามารถส่งผลต่อความสัมพันธ์ได้ ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้

  • ไม่เปิดใจ ไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อใจนักจิตบำบัด

การที่ผู้เข้ารับบริการจะไม่เชื่อใจนักจิตบำบัดในระยะแรกนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก แต่ถ้าเริ่มทำบำบัดในหลาย ๆ ครั้งแล้วยังรู้สึกไม่ดี ก็อาจมีสาเหตุมาจากที่ผู้เข้ารับบริการรู้สึกไม่สบายใจที่จะเปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง หรือนักจิตบำบัดไม่สามารถทำให้ผู้เข้ารับบริการรู้สึกสบายใจหรือไว้ใจได้ 

  • การโดนล้ำเส้น

ในชีวิตจริงเราพบเจอกับการโดนล้ำเส้นจากคนรอบข้างหรือคนแปลกหน้าฉันใด การเจอเรื่องนี้ในการทำจิตบำบัดก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เช่นกันฉันนั้น แต่การโดนล้ำเส้นในการทำจิตบำบัดไม่ควรจะเป็นเรื่องปกติ หากรู้สึกว่านักบำบัดมีการถามหรือพูดคุยในเรื่องที่รู้สึกว่ามีความเป็นส่วนตัวสูง หรือเป็นเรื่องที่ยังไม่พร้อมจะเล่า ผู้เข้ารับบริการมีสิทธิ์ที่จะขอไม่เล่า หรือปฏิเสธที่จะเล่าได้ แต่บางคนที่เจอการล้ำเส้นไปก็อาจกลับมาคิดและจำฝังใจ จนทำให้ไม่รู้สึกไว้ใจหรือสบายใจกับนักจิตบำบัดคนเดิมก็เป็นได้ ซึ่งอาจแก้ไขโดยการหานักจิตบำบัดคนใหม่ หรือทำการแจ้งและฟีดแบกให้กับนักจิตบำบัดคนปัจจุบันให้ทราบเพื่อทำการแก้ไขก็ได้เช่นกัน 

  • ความไม่เป็นมืออาชีพของนักจิตบำบัด 

ในโลกของการทำงาน เราจะได้เจอทั้งคนทำงานเป็นกับคนทำงานไม่เป็น เช่นเดียวกับในการเข้ารับการทำจิตบำบัดเช่นกัน นักจิตบำบัดที่ทำงานอย่างไม่เป็นมืออาชีพคือคนที่ไม่ใส่ใจต่อผู้เข้ารับบริการ มีการใช้คำพูดที่ไม่ดี มีการถามจี้ในประเด็นที่อ่อนไหวมากเกินไป มีการล้ำเส้น มีอคติต่อผู้เข้ารับบริการ ไปจนถึงไม่เข้าใจความแตกต่างของผู้เข้ารับบริการ เช่น วัฒนธรรม สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ฐานะทางการเงิน ซึ่งการมีประสบการณ์หรือมีความสัมพันธ์กับนักจิตบำบัดที่ไม่เป็นมืออาชีพ ถือเป็นเหตุผลต้น ๆ ที่ทำให้การทำจิตบำบัดไม่เวิร์กหรือไม่ได้ผลสำหรับใครหลาย ๆ คนเลยทีเดียว เพราะมันเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ทำให้คนเริ่มรู้สึกไม่เปิดใจและปิดกั้นตัวเองจากการเข้ารับจิตบำบัด

2. ทัศนคติต่อการทำจิตบำบัด

ถึงแม้ว่าเรื่องของการดูแลสุขภาพใจ การเข้าพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ รวมไปถึงการทำจิตบำบัดจะเป็นเรื่องปกติสำหรับสังคมสมัยนี้แล้ว แต่สำหรับบางคนหรือบางสังคมที่มีทัศนคติที่ไม่ดีนัก ทำให้มีการมองว่าจิตบำบัดเป็นเรื่องที่แปลก มองว่าการบำบัดเป็นเรื่องของคนที่มีความผิดปกติทางด้านจิตใจเท่านั้น มองว่าอาการป่วยทางใจเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ จึงทำให้ผู้เข้ารับบริการที่มีแนวคิดแบบนี้หรือได้รับรู้แนวคิดแบบนี้มามีการต่อต้านการทำจิตบำบัด หรือมีการตั้งธงอยู่ในใจอยู่แล้วว่าจิตบำบัดเป็นเรื่องไร้สาระ หรือไม่มีการยอมรับตั้งแต่แรกว่าตัวเองมีอาการป่วยทางใจแต่จำเป็นต้องมาก็เป็นได้ 

การมีอาการป่วยทางใจเป็นเรื่องที่ปกติมาก เพราะคนเราทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกัน บางคนอาจมีปัจจัยเรื่องพันธุกรรมเป็นทุนเดิม หรือบางคนมีปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อม เติบโตมาในสถานที่ที่ไม่อบอุ่นนัก หรือบางคนมีภูมิคุ้นกันทางใจที่ไม่ดี มีความคิดไม่ดีเกี่ยวกับตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องของปัจจัยทางด้านจิตใจ เช่นเดียวกับการป่วยทางกาย ร่างกายเราป่วยได้เพราะเรามีร่างกายที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่การที่เรามีปัจจัยพื้นฐานต่างกัน ซึ่งเมื่อเราเจออะไรไม่ดีมา การป่วยทางใจก็สามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกตินั่นเอง 

ในส่วนของเรื่องที่ใหญ่กว่าความคิดของคน ๆ หนึ่ง หรือในระดับสังคม ที่คนบางกลุ่มยังคงมีความคิดแง่ลบต่อการทำจิตบำบัดอยู่ การจะแก้ไขความเชื่อสิ่ง ๆ หนึ่งไม่สามารถทำได้ภายในวันเดียว เรื่องนี้จำเป็นต้องค่อย ๆ ให้ความรู้กับสังคมกันไป และพยายามพูดถึงให้เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ยิ่งมันถูกพูดถึงบ่อยมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้สุขภาพจิตดูเป็นเรื่องพื้นฐานมากขึ้น เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น รวมถึงเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถพูดถึงได้โดยไม่ต้องรู้สึกกลัวการตัดสินจากสังคมนั่นเอง  

3. รูปแบบของจิตบำบัด

การแพทย์มีหลายแขนงฉันใด การทำจิตบำบัดก็มีหลายรูปแบบฉันนั้น มีผู้เข้ารับบริการหลายคนที่มองว่าจิตบำบัดก็เป็นเพียงการเข้าไปพูด ๆ แล้วก็บ่น ๆ ให้นักจิตบำบัดฟัง ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้นเลย แท้จริงแล้ว เราอาจจะไม่เหมาะกับการบำบัดรูปแบบนี้ แต่อาจจะเหมาะกับจิตบำบัดรูปแบบอื่นก็เป็นได้ เพราะจิตบำบัดไม่ได้มีเพียงแค่การพูดคุยกับนักจิตวิทยา (Counseling) เพียงเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเภท ตามตัวอย่างดังต่อไปนี้

  • Art Therapy 

หรือ ศิลปะบำบัด เป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่นำศิลปะมาเป็นสื่อกลางช่วยสื่อสารให้กับผู้เข้ารับบริการเพื่อให้ผู้เข้ารับบริการได้แสดงออกและปลดปล่อยความเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงความกังวลต่าง ๆ อีกทั้งศิลปะบำบัดนั้นไม่มีเรื่องความสวยงามเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ผู้เข้ารับบริการรู้สึกไม่กดดันที่จะแสดงออก และมีความผ่อนคลายมากขึ้นผ่านการทำงานศิลปะอีกด้วย 

  • CBT (Cognitive Behavioral Therapy)

เป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่มีจุดมุ่งหมายในการจัดการกับความคิดและพฤติกรรมของผู้เข้ารับบริการ โดยผู้เข้ารับบริการจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจตัวเองในการจัดการความคิดแย่ ๆ และแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดี ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้ารับบริการรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีความเข้าใจในปัญหา และเรียนรู้ว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้ตัวเองสามารถรับมือเพื่อหาวิธีแก้ปัญหา และมีอาการที่ดีขึ้นได้ 

  • ACT (Acceptance and Commitment Therapy)

แปลเป็นไทยออกมาได้ว่า การบำบัดด้วยการยอมรับและพันธสัญญา ฟังดูอาจจะงง ๆ สักนิด แต่มันเป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่มุ่งเน้นไปที่การยอมรับและเผชิญหน้ากับด้านลบของตัวเรา เช่น ความคิดลบ ๆ พฤติกรรมแย่ ๆ ความรู้สึกเกลียดตัวเอง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้ารับบริการได้เรียนรู้ที่จะยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ได้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และหาทางออกในการจัดการกับความรู้สึกหรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม

  • Satir Model

เป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการปรับตัว เปลี่ยนแปลง และพัฒนาตัวตนของผู้เข้ารับบริการ ขั้นตอนการบำบัดเน้นไปที่การตั้งเป้าหมาย การทำความเข้าใจปัญหาและตัวตนของผู้เข้ารับบริการอย่างเป็นลำดับขั้น และการเปลี่ยนแปลงจากภายในของผู้เข้ารับบริการ โดย Satir Model เชื่อว่า ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ และมีความความเป็นไปได้มากมายที่จะนำเราไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ซึ่งจะนำผู้เข้ารับบริการไปสู่ความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

สุดท้ายแล้ว การทำจิตบำบัดอาจได้ผลหรือไม่ได้ผลมีปัจจัยและรายละเอียดที่ส่งผลแตกต่างกันไปในแต่ละเคส หากรู้สึกว่าตรงไหนแก้ไขได้ คุณสามารถฟีดแบกไปยังนักบำบัดได้เลย หรือถ้าหากรู้สึกว่าอยากลองรักษาด้วยวิธีการบำบัดใหม่ ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือขอให้มีความหวังและความเชื่อมั่นในการทำจิตบำบัดเข้าไว้ เราทุกคนสามารถมีสุขภาพใจที่แข็งแรงได้ 

อ้างอิง

ลิ้มสุวรรณ, & ลิ้มสุวรรณ. (n.d.). การทำจิตบำบัดโดยใช้ Satir Model. Retrieved January 3, 2024.

Glasofer, D. R. (2023, November 15). What Is Acceptance and Commitment Therapy (ACT)? Verywell Mind.

Moore, M. (2022, May 20). 8 Reasons Why Therapy May Not Be Working. Psych Central.