ในโลกที่ทุกอย่างหมุนเวียนกันเป็นวงจร ทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด จากนั้นทุกอย่างจะเกิดขึ้นวนเวียนกันเป็นวงจรต่อไป เช่นเดียวกับห่วงโซ่อาหาร ในโลกของสิ่งแวดล้อมเราน่าจะคุ้นเคยกับการเห็นพืชและสัตว์เล็ก ๆ เป็นเหยื่อของผู้ล่า หรือในที่นี้คือสัตว์ใหญ่ ซึ่งก็คือมนุษย์นั่นเอง แต่กระนั้นในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์เอง เรามิอาจไม่ใช่ผู้ล่าที่ใหญ่ที่สุดหรือมีอำนาจที่สุดในห่วงโซ่ โลกข้างนอกนั่นยังคงมีผู้ล่าอีกมากมายที่พร้อมจะหาประโยชน์จากหรือเกาะกินเราได้ทุกเมื่อ
ในห่วงโซ่อำนาจของมนุษย์ สิ่งที่ผู้ล่าต่างใช้ในการขึ้นสู่ความเป็นผู้นำคือเงินทอง อำนาจ พลัง ความแข็งแกร่ง ความเป็นผู้นำ และหนึ่งสิ่งที่หลาย ๆ คนนึกไม่ถึง นั่นก็คือ ความสามารถในการควบคุมหรือบงการจิตใจคน (Psychological Manipulation)
เราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เราสามารถเป็นได้ทั้งเหยื่อและผู้ล่าสำหรับใครสักคนได้เสมอ แต่ทำไมเราถึงต้องอยากควบคุมหรือบงการคนอื่นกันด้วย? มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สบายใจกับสิ่งที่คาดเดาได้และอยู่ภายใต้การควบคุม ลองสังเกตเวลาที่เราเจอความเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้เลย ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เวลาเจอความเปลี่ยนแปลงเข้ามา สิ่งแรก ๆ ที่เราจะรู้สึกคือความกลัวและความไม่สบายใจ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราจัดการชีวิตเราได้มากขึ้น ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางมากขึ้น และเราสามารถควบคุมทิศทางของชีวิตเราได้เป็นอย่างดีมากขึ้น สุดท้ายแล้วมันจะนำพาเราไปสู่ความสบายใจ
เรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็เช่นเดียวกัน เราทุกคนต่างมีอิทธิพลถึงกันไม่มากก็น้อย และความสัมพันธ์ของเรากับคนรู้จักของเราต่างมีเรื่องของอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนเลย ลองเริ่มจากความสัมพันธ์ที่มีความแตกต่างกันในด้านอำนาจอย่างชัดเจนก่อน เช่น ความสัมพันธ์ระห่วางครอบครัว โดยมีพ่อแม่ที่มีความห่วงใยต่อลูกในระดับที่มากเกินไป เช่น ไม่ปล่อยให้ลูกไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนเพราะให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ทั้ง ๆ ที่ลูกอายุ 20 กลาง ๆ แล้ว ซึ่งนั่นสามารถส่งผลให้ลูกรู้สึกไม่ดีแต่ต้องจำยอมเพราะไม่อยากทำร้ายความรู้สึกของพ่อแม่ เจ้าความรู้สึกจำยอมเพราะกลัวไปทำร้ายความรู้สึกนี่แหละ ถือเป็นตัวอย่างของการถูกควบคุมบงการชั้นดี
หรือในความสัมพันธ์ที่มีอำนาจในระดับที่ใกล้เคียงกันก็สามารถพบเจอกับการถูกควบคุมบงการได้ เช่น ในความสัมพันธ์แบบคู่รัก ฝ่ายหนึ่งอาจมีการทำร้ายร่างกายกันโดยอ้างว่าเป็นการลงโทษเพื่อให้อีกฝ่ายปรับปรุงตัวในการเป็นคนที่ดีขึ้น เรียกว่า “ทำไปเพราะรัก” ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ว่าในความสัมพันธ์แบบไหนก็ตาม การทำร้ายร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะสามารถสร้างบาดแผลทั้งทางกายและทางใจให้กับคนโดนทำร้ายร่างกายได้ อย่างไรก็ดี ตัวอย่างนี้ก็เป็นการหาประโยชน์จากความไม่เทียมกันทางอำนาจเช่นกัน โดยฝ่ายที่เป็นผู้กระทำนั้นหาประโยชน์จากการใช้ความรักและความเชื่อใจที่อีกฝ่ายมีต่อตัวเองมาใช้ในการเป็นข้ออ้างในการทำร้ายร่างกาย ในขณะที่ฝ่ายเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำมองเพียงว่าตัวเขาเองอาจจะไม่ดีพอจริง ๆ และก็ยอมให้อีกฝ่ายทำเพราะรักและมองว่าการทำร้ายร่างกายนี้เป็นสิ่งสมควรให้เกิดขึ้นแล้ว เหตุการณ์แบบนี้เองมีชื่อเรียกที่เฉพาะเจาะจงว่า Gaslighting หรือ การปั่นหัว ที่นับว่าเป็นวิธีการควบคุมบงการผู้อื่นรูปแบบหนึ่งอีกด้วย
ถึงแม้ว่าการควบคุมบงการถูกมองว่าเป็นการเล่นเกมจิตวิทยา (Mind Game) ที่ปั่นประสาทคนมาได้นักต่อนัก และถูกมองในด้านลบมากกว่าด้านดี แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังมีมุมที่ดีอยู่ ในแง่ที่ถ้าเราบังเอิญเจอคนที่ชอบเล่นเกมบงการควบคุมมา ถ้าเจอมาก็ทำกลับ เอาให้แฟร์ ๆ กันก็ถือเป็นวิธีการเอาตัวรอดรูปแบบหนึ่ง ในสังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย บางทีเราอาจจะต้องไปเจอคนแบบนี้ก็ได้ เรียนรู้ไว้เพื่อเอาตัวรอดก็ไม่เสียหาย
แต่ก็ใช่ว่าทุกความสัมพันธ์จะมีแต่การควบคุมบงการกันเท่านั้น หากคนในความสัมพันธ์ให้ความสำคัญและเคารพต่อตัวตนของอีกฝ่ายอย่างแท้จริงแล้ว จะไม่มีการควบคุมบงการเกิดขึ้น แต่จะเป็นการปฏิบัติกันอย่างเท่าเทียมและเหมาะสมแทน ซึ่งในส่วนนี้เองยังคงส่งผลต่อกันและกันได้ แต่เป็นในระดับที่เรียกว่า “การมีอิทธิพลถึงกัน” หรือ Influencing ซึ่งจะไม่มีผลต่อจิตใจ ตัวตน และร่างกายของอีกฝ่าย ทำใหคนที่มีความสัมพันธ์แบบนี้ยังคงรักษาตัวตนของตัวเองได้เป็นอย่างดี และรู้จักให้การเคารพกับอีกฝ่ายอย่างเหมาะสมนั่นเอง
อ้างอิง
Shaw, J. (n.d.). Is it human nature to be manipulative? BBC Science Focus Magazine.