นักจิตวิทยาการปรึกษา Counselor คือใคร ที่ไปปรึกษาด้วยคือนักจิตคนนี้หรือเปล่า?

ถ้านักจิตวิทยาที่ทำงานในโรงพยาบาลคือนักจิตวิทยาคลินิก แล้วนักจิตวิทยาที่คอยรับฟังเรื่องราวปัญหาชีวิตของเราคือนักจิตวิทยาแบบไหน? ใช่นักจิตวิทยาคลินิกหรือไม่? หรือเป็นนักจิตวิทยารูปแบบอื่น ๆ วันนี้เราจะชวนมาทำความรู้จักกับนักจิตวิทยาอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต หรือ Mental Health โดยเฉพาะ ซึ่งนั่นก็คือ “นักจิตวิทยาการปรึกษา” นั่นเอง 

นักจิตวิทยาการปรึกษา Counselor คือใคร?

นักจิตวิทยาการปรึกษา (Counselor) เป็นนักจิตวิทยาประเภทหนึ่งที่มีหน้าที่ในการให้บริการการเข้ารับคำปรึกษาอันเป็นกระบวนการทางจิตวิทยารูปแบบหนึ่ง ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้บริการหรือผู้ป่วยได้เข้ารับคำปรึกษาได้จัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและจัดการปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย โดยนักจิตวิทยาการปรึกษาสามารถพบได้ในสถานที่ที่หลากหลาย ตั้งแต่สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาล

องค์กรเอกชนด้านสุขภาพจิตที่มีบริการการให้คำปรึกษา ไปจนถึงบริการการให้คำปรึกษาที่ให้บริการโดยนักจิตวิทยาการปรึกษาเองอีกด้วย

ทักษะที่นักจิตวิทยาการปรึกษาจำเป็นต้องใช้ในการให้คำปรึกษานั้นไม่ได้มีเพียงทักษะการสื่อสารอย่างเดียว แต่ทักษะที่สำคัญอย่างการใช้กระบวนการและเทคนิคทางจิตวิทยานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะกว่าที่จะใช้ทักษะเหล่านั้นได้อย่างคล่องตัวและใช้ได้ถูกคนถูกเวลา จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนและขัดเกลาทักษะมาเป็นระยะเวลาที่ไม่น้อยเลย จึงทำให้นักจิตวิทยาการปรึกษาหลาย ๆ คนมีประสบการณ์ในการให้บริการการปรึกษาที่สูงและนานหลายพันชั่วโมง ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าบริการของนักจิตวิทยาการปรึกษานั้นมีอัตราที่ค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับค่าประสบการณ์และค่าวิชาชีพแล้ว สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่มีความเหมาะสมแล้ว เพียงแต่การทำให้บริการการเข้ารับคำปรึกษาทางจิตวิทยาเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้สำหรับคนทุกคนและทุกชนชั้นยังถือว่าเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญกันต่อไปในอนาคต

หน้าที่ของนักจิตวิทยาการปรึกษา Counselor

  • ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่สนใจหรือผู้ป่วยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่ต้องการ ปรับพฤติกรรม ให้คำแนะนำที่เหมาะสม และช่วยให้หาทางออกที่เหมาะสมกับพวกเขา
  • สามารถสร้างบรรยากาศที่ทำให้ผู้ที่สนใจหรือผู้ป่วยสามารถพูดคุยและเปิดใจได้อย่างเป็นธรรมชาติและไม่รู้สึกอึดอัดใจที่จะบอกเล่า
  • สร้างความเชื่อใจและความไว้วางใจให้กับผู้ที่สนใจหรือผู้ป่วยในกระบวนการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาได้เป็นอย่างดี
  • คอยเช็กอาการของผู้ที่สนใจหรือผู้ป่วยว่ามีปฏิกิริยาต่อกระบวนการให้คำปรึกษาอย่างไร หากกระบวนการปรึกษาที่ใช้อยู่ไม่ได้ผลหรือทำให้รู้สึกไม่ดีขึ้น อาจต้องปรับปรุงโดยการใช้กระบวนการปรึกษาอื่น ๆ ที่มีความเหมาะสมมากกว่า
  • ศึกษาและอัปเดตทักษะและกระบวนทางจิตวิทยาใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เข้ารับการปรึกษาอย่างเป็นประจำ

ความแตกต่างระหว่าง นักจิตวิทยาการปรึกษา และ นักจิตวิทยาคลินิก

อาชีพความแตกต่างนักจิตวิทยาการปรึกษา
Counselor
นักจิตวิทยาคลินิก
Clinical Psychologist
ความรู้เฉพาะทางจิตวิทยาการปรึกษา : มีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ด้านการให้คำปรึกษาผ่านเทคนิคและกระบวนการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาแก่ผู้ใช้บริการโดยเฉพาะ จิตเวชคลินิก : วินิจฉัยอาการ วัดผลและประเมินผลแบบทดสอบทางสุขภาพจิต ให้การบำบัด วางแผนการรักษา รวมถึงอาจมีการให้คำปรึกษาร่วมด้วย
วุฒิการศึกษาวท.บ. (B.Sc.) วิทยาศาสตร์บัณฑิต
ศศ.บ. (B.A.) ศิลปศาสตรบัณฑิต
วท.บ. (B.Sc.) วิทยาศาสตร์บัณฑิต 
สถานที่ให้บริการสังกัดอยู่ตามโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล องค์กรผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต รวมถึงการเปิดให้บริการโดยตรงจากนักจิตวิทยาการปรึกษาเองสังกัดอยู่ตามโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงในบริษัทเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs)

เส้นทางสู่การเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา Counselor ในไทย

นักจิตวิทยาการปรึกษาส่วนใหญ่มักเรียนจบมาจากคณะหรือสาขาจิตวิทยาโดยตรง โดยเรียนวิชาจิตวิทยาการปรึกษาเป็นวิชาเอก มีการเก็บชั่วโมงเรียนและประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาตามที่หลักสูตรระบุไว้ แต่ถ้าหากไม่ได้จบปริญญาตรีมาทางจิตวิทยาสายตรง ก็สามารถเรียนเฉพาะทางเพิ่มเติมในระดับปริญญาโทได้ หากแต่ต้องเก็บประสบการณ์ในการให้บริการให้คำปรึกษาที่มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าใจและปรับใช้กระบวนการและเทคนิคการให้คำปรึกษาทางด้านจิตวิทยาได้อย่างคล่องแคล่ว และเป็นประโยชน์ให้กับผู้ใช้บริการมากที่สุดนั่นเอง

และเมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ทางสมาคมนักจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย ได้ประกาศให้นักจิตวิทยาการปรึกษาจำต้องมีใบรับรองเพื่อยืนยันสถานภาพในการประกอบอาชีพ และเป็นเครื่องยืนยันว่านักจิตวิทยาการปรึกษาที่มีใบรับรองนี้เป็นผู้ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากทางสมาคมนักจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งการออกใบรับรองนี้จะช่วยทำให้บริการการให้คำปรึกษามีมาตรฐาน ช่วยคัดกรองบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการให้การช่วยเหลือผู้ใช้บริการต่อไปได้ และทำให้ผู้ใช้บริการมั่นใจได้ว่านักจิตวิทยาการปรึกษาที่มาให้บริการนี้เป็นผู้ที่มีจรรยาบรรณเหมาะสมตามที่สมาคมนักจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทยได้ เนื่องจากกระบวนการปรึกษาเป็นกระบวนการที่มีความละเอียดอ่อนทางด้านจิตใจสูงมาก กระบวนการทุกขั้นตอนจึงควรอยู่ในการดูแลของนักจิตวิทยาการปรึกษาที่มีความรู้และประสบการณ์นั่นเอง