อาการหนักแค่ไหน ถึงควรเข้ารับการบำบัด

two people in the counseling session

คุณคิดว่าเราต้องมีปัญหาหนักขนาดไหนถึงสามารถไปพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้?”

แล้วการที่เราไปพบผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มันแปลว่าเรากำลังป่วยหรือเปล่า?

ปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่าประเด็นปัญหาด้านสุขภาพจิตจะได้รับการเผยแพร่มากขึ้น มีการให้ความรู้มากขึ้น รวมถึงมีการให้ความสำคัญมากขึ้นกว่าในอดีตแล้วก็จริง แต่อคติเกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยาและสุขภาพจิตก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในสื่อต่าง ๆ และสังคมรอบข้างมักนำเสนอให้เราเข้าใจว่าคนที่ต้องเข้ารับการบำบัด หรือคนที่ไปรับคำปรึกษาคือคนที่ป่วยเท่านั้น รวมถึงค่านิยมทางสังคมที่มักมีอคติกับการบำบัดหรือการไปพบนักจิตวิทยา จิตแพทย์ และนักบำบัดว่าเป็นเรื่องของคนสติฟั่นเฟือนเท่านั้น อาจรวมไปถึงมีการล้อเลียนคนป่วยอีกด้วย ซึ่งทำให้หลาย ๆ คนมีความกลัวต่อการเข้ารับบริการทางด้านจิตวิทยาและสุขภาพจิต เพราะกลัวจะโดนมองว่าไม่ดีหรือกลัวถูกมองว่าสติไม่ดีไปโดยปริยาย

แต่สมมติว่าถ้าเราไม่ได้ป่วย แต่ก็มีความเครียด มีปัญหาที่แก้ไม่ได้ เราควรทำอย่างไร? ปัญหาของเรามันสมควรได้รับความช่วยเหลือหรือเปล่า?

อย่างแรกที่เราควรทำความเข้าใจ คือ ไปหาจิตแพทย์ ≠ เป็นบ้า การที่เรารู้สึกว่าความคิด ความรู้สึกในด้านลบเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เกิดความรู้สึกลำบากในการรับมือกับปัญหาต่างๆ และอยากได้คำแนะนำที่เหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญ เราก็สามารถขอเข้ารับคำปรึกษาได้ และจะดีมาก ๆ ถ้าหากเราเข้ารับการบำบัดก่อนที่จะเจอเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิต เพราะเมื่อถึงวันที่เราต้องประสบเหตุการณ์แย่ ๆ ขึ้นมา อย่างน้อยเราก็มีภูมิคุ้มกันในการจัดการ และดูแลใจตัวเอง ไม่ต่างจากเวลาที่เราตรวจสุขภาพประจำปี หรือฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

a woman is stressed out in counseling session

อย่างที่สอง ความรู้สึกแย่ ≠ สิ่งต้องห้าม ความเศร้า ความกังวล ความเหนื่อยล้า ความเครียด ไม่ใช่สิ่งร้ายแรง เรื่องต้องห้าม หรือเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับเรา หากความสุขคือส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต ซึ่งมันเป็เรื่องปกติธรรมดาของการเป็นมนุษย์ที่มีชีวิต มันไม่แปลกเลย ถ้าหากชีวิตเราจะมีความเศร้าบ้างและเรื่องแย่ ๆ เกิดขึ้นบ้าง และถ้าหากเราต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเพราะเรากำลังรู้สึกแย่ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างปัญหาที่สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

  • ความคิด และความรู้สึกในแง่ลบ รบกวนจิตใจจนเริ่มส่งผลกับการใช้ชีวิตประจำวัน
  • การเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ส่งผลต่ออารมณ์ และความรู้สึก
  • มีปัญหาในความสัมพันธ์ หรือการเข้าสังคม
  • ภาวะความมั่นใจในตนเองต่ำ (Low self-esteem) หรือ พูดกับตัวเองในแง่ลบ (Negative Self-talk)
  • มีความคิดทำร้ายตัวเอง

มีผู้ป่วยอีกหลายคนที่กลัวโดนมองว่าเป็นบ้า มีคนที่เครียดอีกหลายคนที่ไม่กล้ามาพบนักจิตวิทยาเพราะกลัวจะถูกมองไม่ดี ซึ่งอคติเหล่านี้ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตและอคติด้านลบเกี่ยวกับสุขภาพจิตและจิตวิทยายังคงมีให้เห็นอยู่ในสังคม และทำให้บุคลากรไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยและคนที่มีปัญหาสุขภาพใจได้อย่างเต็มที่

อย่าอายหากเราต้องการความช่วยเหลือ อยากพูดคุยกับใครสักคน หรืออยากขอรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่เป็นเพราะเราอ่อนแอ ในทางตรงกันข้าม มันคือความกล้าที่เราอยากรักตัวเองให้มากขึ้น และอยากดูแลจิตใจตัวเองได้ดีขึ้น เพื่อให้ตัวเราเองได้กลายเป็นตัวเราในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิมนั่นเอง

บริการ Private Counseling จาก Peace Please Studio สำหรับบุคคล