รู้จักกับ TESI Model โมเดลตัวช่วยที่จะทำให้ทีมเข้าใจกันมากขึ้น

ในชีวิตการทำงาน ไม่มีใครที่เข้าใจกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราทุกคนต่างมีพื้นเพและความต้องการที่แตกต่างกัน แต่ถ้าหากเราต้องมาทำงานร่วมหัวจมท้ายด้วยกันแล้ว การทำความเข้าใจเพื่อนร่วมทีมเพื่อให้ทำงานและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขสมกับเป็น Happy Workplace เป็นเรื่องสำคัญมาก

เพื่อให้องค์กรคุณเป็น Happy Workplace สำหรับทุก ๆ คนและทุก ๆ ทีม Peace Please จึงขอมาแนะนำ TESI Model โมเดลตัวช่วยที่จะทำให้เราเข้าใจเพื่อนร่วมทีมกันได้มากขึ้น

TESI Model คืออะไร?

TESI Model หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า Team Emotional and Social Intelligence เป็นโมเดลเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้าใจและพัฒนาความสัมพันธ์ภายในทีม ผ่านการทำความเข้าใจความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานและรูปแบบความสัมพันธ์ของทีม โมเดลนี้คิดค้นขึ้นโดย  Dr. Marcia Hughes และ Dr. James Terrell ผู้เชี่ยวชาญด้านความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)

ที่มาที่ไปของโมเดลนี้เกิดขึ้นมาจากแก่นสำคัญที่ว่า “อารมณ์และความรู้สึก” ของเพื่อนร่วมทีมนั้นถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของทีม รวมทั้งความรู้สึกของสมาชิกทีมสามารถส่งผลต่อคนอื่น ๆ ในทีมได้ ทำให้ทีมหลีกเลี่ยงเรื่องอารมณ์และความรู้สึกไปไม่ได้เลย และจากสาเหตุที่ว่า เพื่อนร่วมทีมของเราแต่ละคนนั้นต่างมีความรู้สึกนึกคิด ประสบการณ์ การตอบสนอง และการแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกัน จึงทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในทีมจึงเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อการทำงานในฐานะทีมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

ดังนั้นแล้ว การจะสร้างองค์กรให้เป็น Happy Workplace ขึ้นมาได้อย่างเต็มรูปแบบ จึงจำเป็นต้องให้สมาชิกทีมทำความเข้าใจตัวเอง และทำความเข้าใจทีมไปด้วยพร้อม ๆ กัน เพื่อให้พวกเขาสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ และสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข

TESI Model มีองค์ประกอบอะไรบ้าง?

ถ้าพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Happy Workplace ไปด้วยกันแล้วละก็ ชวนมาดู 7 องค์ประกอบของ TESI Model ที่มีรากฐานมาจาก The Collaborative Growth® Team Model เครื่องมือที่อิงมาจากงานวิจัยเพื่อส่งเสริมการทำงานเป็นทีมให้ประสบความสำเร็จ

1. อัตลักษณ์ของทีม (Team Identity)

อัตลักษณ์ของทีมหรือสิ่งที่ทีมเป็น ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยสร้างความรู้สึกการเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกทีม (Sense of Belonging) รวมถึงกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ของทีมอีกด้วย หากองค์กรของเราเต็มไปด้วยทีมที่เปิดกว้าง รับฟังคนทุกวัย และพร้อมพัฒนาตัวเองไปด้วยกัน ก็จะทำให้สมาชิกทีมรู้สึกไม่แปลกแยก รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีมได้ง่าย ๆ แต่ถ้าหากเราเจอกับทีมที่ไม่รับฟังกันและกัน ไม่มีการปรับปรุงพัฒนาเพื่อส่ิงที่ดีขึ้น ก็ส่งผลให้สมาชิกทีมรู้สึกอึดอัดและกดดันที่จะต้องทำงานร่วมกับทีมแบบนี้ก็ได้ 

เพื่อให้ทีมมีอัตลักษณ์ที่ดีและสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงานหรือสมาชิกในทีม องค์กรสามารถช่วยผลักดันให้มีการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความเป็นทีม ผ่านการสร้างเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน รวมถึงให้มีการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างทีมที่มุ่งมั่นและมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการผลักดันองค์กรให้เดินหน้า และที่สำคัญพวกเขาต้องทำงานอย่างมีความสุขให้สมกับเป็น Happy Workplace อีกด้วย 

2. แรงจูงใจ (Motivation)

แรงจูงใจเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกำหนดทิศทางการทำงานของทีม เพราะแรงจูงใจช่วยผลักดันให้สมาชิกภายในทีมทำงานได้เต็มที่มากขึ้น โชว์ของมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • แรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) : แรงจูงใจที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคลที่ต้องการพิชิตเป้าหมายส่วนตัวของตัวเองให้ได้ เช่น อยากเก่งขึ้น อยากทำโปรเจกต์นี้ให้ถนัดมากขึ้น เป็นต้น
  • แรงจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation) : แรงจูงใจที่เป็นปัจจัยภายนอกที่ผลักดันให้คนอยากทำให้สำเร็จ เช่น อยากได้เงินเดือนเพิ่ม อยากเลื่อนขั้น อยากได้ตำแหน่ง เป็นต้น

ด้วยการมีแรงจูงใจเหล่านี้เอง จะช่วยให้สมาชิกทีมรู้สึกมีเป้าหมายที่อยากพิชิตและเอาชนะได้มากขึ้น และเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานอีกด้วย

ในฐานะองค์กรที่เป็น Happy Workplace การสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานและทีมสามารถทำได้ด้วยการสร้างเป้าหมายที่เหมาะสมให้กับทีม และมีการทำงานที่ช่วยสะท้อนฟีดแบก มีการให้คำแนะนำ คำติชม หรือคำวิจารณ์เชิงบวกที่จะช่วยให้สมาชิกทีมได้เรียนรู้และรู้สึกอยากพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น

3. การรู้เท่าทันอารมณ์ (Emotional Awareness)

การรู้เท่าทันอารมณ์ไม่ใช่แค่เพียงทักษะที่เราต้องใช้เพื่อสำรวจสมาชิกทีมและบรรยากาศการทำงานของทีม แต่ยังเป็นทักษะที่เราแต่ละคนยังต้องนำมาใช้เพื่อรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเราเองอีกด้วย เพราะการรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองจะช่วยให้เราสามารถบอกเล่า แชร์ความรู้สึก หรือขอความช่วยเหลือจากเพื่อนในทีมได้ อีกทั้งยังช่วยให้ทีมรู้สึกสนิทกันได้มากขึ้น เพราะเวลาที่มีการแชร์ความรู้สึกหรือความในใจจะช่วยให้ทีมเข้าใจกันมากขึ้นและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมได้มากขึ้นนั่นเอง 

ดังนั้น องค์กรจึงควรมีการฝึกสอนหรือฝึกอบรมการทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเอง ฝึกทักษะการฟัง ให้พนักงานมีการสะท้อนความรู้สึกของตัวเองออกมา เพื่อให้ทีมสามารถเข้าใจอารมณ์และสื่อสารกันได้ง่ายมากขึ้นและสามารถทำงานแบบรู้เท่าทันอารมณ์ได้ใน Happy Workplace ซึ่งจะส่งผลให้มีชีวิตการทำงานที่มีความสุขได้ในระยะยาวอีกด้วย 

4. การสื่อสาร (Communication)

เมื่อรู้เท่าทันอารมณ์แล้ว เราก็ควรมีการสื่อสารออกมาอย่างเหมาะสม การสื่อสารถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการทำงานเป็นทีม เพราะมันเป็นสิ่งที่ช่วยให้สมาชิกทีมสื่อสารกันอย่างเข้าใจ มีการแชร์ข้อมูลที่จำเป็นให้กันและกัน และเป็นตัวช่วยในการทำให้ทีมสนิทกันมากขึ้น

ถ้าอยากทำงานได้อย่างสุขใจเป็น Happy Workplace กันทั้งองค์กร ควรมีการฝึกพัฒนาทักษะการสื่อสาร รวมถึงการวางรากฐานการสื่อสารผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เช่น คุยงานกันผ่าน Slack เท่านั้น ไม่คุยงานใน Line เป็นต้น เพื่อให้มีพื้นที่ในการพูดคุยกันอย่างเหมาะสม ไม่รบกวนนอกเวลางาน รวมถึงต้องมีการฝึกทักษะการฟังอีกด้วย

5. การจัดการปัญหา (Conflict Resolution)

ไม่มีใครอยากมีปัญหาในที่ทำงาน แต่บางครั้งเราก็หลีกเลี่ยงปัญหาไม่ได้ ทักษะการจัดการปัญหาจึงเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการเรื่องที่สมาชิกทีมคิดเห็นไม่ตรงกัน และใช้ในการรักษาความสัมพันธ์ของคนในทีมให้ไม่ย่ำแย่ไปมากกว่าเดิม ข้อดีของการเกิดปัญหาขึ้นคือการที่ทีมสามารถเรียนรู้จากปัญหาและข้อผิดพลาดตรงนี้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในอนาคตอีก ซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้าใจกันที่มากขึ้นได้ 

เพราะทักษะการจัดการปัญหาเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ได้มีติดตัวมา องค์กรที่อยากส่งเสริม Happy Workplace จึงควรมีการฝึกทักษะการจัดการปัญหา ฝึกเทคนิคการต่อรอง การสร้างข้อตกลงร่วมกัน และส่งเสริมให้ภายในองค์กรมีความเปิดกว้างและรับฟังกันอยู่เสมอ

6. การจัดการความเครียด (Stress Tolerance)

ชีวิตการทำงานหนีความเครียดไม่ได้ ยิ่งโดยเฉพาะองค์กรที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันสูง มีความกดดันสูง ยิ่งทำให้ความเครียดเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้าหากสมาชิกทีมไม่มีภูมิคุ้มกันต่อความเครียดหรือทักษะการจัดการความเครียดที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตและสุขภาพกายตามมา และอาจส่งผลต่อการทำงานเป็นทีมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Happy Workplace จึงควรมีการฝึกทักษะการจัดการความเครียดให้กับพนักงาน หรือจัดการนโยบายและกิจกรรมที่ช่วยลดความตึงเครียดให้กับพนักงานได้ เช่น การให้มีบริการทางด้านสุขภาพจิต การจัดกิจกรรมออกกำลังกายร่วมกัน เป็นต้น เพื่อให้พนักงานมีทักษะในการรับมือและจัดการความเครียดได้ดีขึ้น และช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุขอีกด้วย

7. ภาวะอารมณ์เชิงบวก (Positive Mood)

เพราะทีมที่อารมณ์ดี มีทัศนคติและภาวะอารมณ์เชิงบวกย่อมทำให้ใคร ๆ ก็อยากทำงานด้วย เพราะการอยู่ในภาวะอารมณ์เชิงบวกจะช่วยให้สมาชิกทีมรับมือกับงานได้ง่ายกว่า ทำงานได้สะดวกกว่า ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า รวมถึงทำให้จัดการปัญหาได้ง่ายมากกว่าด้วย 

การสร้างทีมที่มีภาวะอารมณ์เชิงบวกที่ดีให้สมกับเป็น Happy Workplace ทำได้โดยการให้ทีมได้ทำกิจกรรมที่ส่งเสริมอารมณ์เชิงบวก เช่น ไปฉลองหลังปิดโปรเจกต์ การแสดงความขอบคุณให้กันและกัน การส่งเสริมซัพพอร์ตภายในทีมกันเป็นอย่างดี เป็นต้น 

การปรับใช้ TESI Model ในองค์กร

จากองค์ประกอบของ TESI Model ทั้ง 7 องค์ประกอบ จะเห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นส่ิงที่ปรับใช้ได้ในหลายบริบท จากเว็บไซต์ mutomorro ได้แนะนำให้องค์กรที่อยากส่งเสริม Happy Workplace ปรับใช้กับ TESI Model กับ  4 บริบท ดังนี้

  • Team Building and Development

TESI Model ใช้กับกิจกรรม Team Building ได้อย่างตรงไปตรงมา และสามารถใช้ในการออกแบบกิจกรรมหรือจัดการนโยบายที่ส่งเสริมสภาวะอารมณ์และการทำงานเป็นทีมให้ดีมากย่ิงขึ้น

  • Team Assessment

องค์ประกอบทั้ง 7 ของ TESI model สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดการทำงานของสมาชิกทีมและการทำงานภายในทีมได้ จากนั้นให้นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาการทำงานของแต่ละทีมต่อไป เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีย่ิงขึ้นกว่าเดิม

  • Team Coaching and Consulting

ธรรมชาติของแต่ละทีมมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว เพื่อให้การทำงานเป็นทีมใน Happy Workplace ราบรื่นขึ้น การนำ TESI model มาใช้จะสามารถช่วยไกด์ทีมได้ สมาชิกทีมสามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น และช่วยให้พนักงานทำงานในฐานะทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

  • Team Research

นอกจากนี้ TESI Model ยังสามารถใช้ในการวิจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกของสมาชิกทีมและความสัมพันธ์ในทีมได้ เพื่อนำข้อมูลวิจัยนี้ไปปรับใช้ในอนาคตเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และสร้างทีมที่แข็งแกร่งให้กับองค์กร Happy Workplace ได้นั่นเอง

การทำงานเป็นทีมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การสร้างทีมที่แข็งแกร่งและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปเช่นกัน สำหรับองค์กรที่ต้องการเป็น Happy Workplace แล้ว การให้ความสนใจกับการสร้างทีมให้ทำงานกันได้อย่างราบรื่น มีความสุข และเข้าใจกัน ถือเป็นพื้นฐานสำคัญอันดีที่จะช่วยให้การทำงานเป็นทีมขององค์กรเข้มแข็ง และช่วยให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะสะดุดล้ม เพราะถ้าหากรากฐานภายในแข็งแรง ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดีตามไปด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

Freeman-Gray, J. (2024, July 11). TESI model – Mutomorro. Mutomorro.