ยอมรับและโอบกอดตัวตน ด้วย Self-Acceptance

การยอมรับตัวเอง สิ่งสำคัญที่ฟังดูเหมือนทำง่าย แต่ไม่ง่ายเท่าไรนัก และเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนมักมองข้าม เพราะคิดว่า ยังไงตัวเราก็ต้องยอมรับตัวเองได้อยู่แล้วสิ แต่ในระดับจิตใจ ลึก ๆ แล้ว เราอาจจะคิดว่าเรายอมรับตัวเองได้ ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว เรายังอาจมีข้อกังขากับข้อเสียของตัวเอง ความผิดพลาดในอดีต และความเป็นตัวเองอยู่ก็ได้ 

วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับ Self-Acceptance หรือ การยอมรับตัวเอง ให้มากขึ้นกัน เพื่อให้เราสามารถยอมรับตัวตนของเราในทุก ๆ ด้านและในทุก ๆ เวอร์ชั่นด้วยความเข้าใจและมีเมตตาต่อตัวเองได้

Self-Acceptance คืออะไร?

Self-Acceptance หรือ การยอมรับตัวเอง เป็นความสามารถหรือทักษะอย่างหนึ่งในการยอมรับตัวเอง ทั้งในด้านตัวตนที่ประสบความสำเร็จ ตัวตนที่ล้มเหลว ความสามารถหรือความพยายามของตัวเราเอง ไปจนถึงข้อเสียหรือนิสัยที่ไม่ดีของตัวเราด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง และไม่กล่าวโทษหรือตัดสินตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการมองเห็นคุณค่าในตัวเราเอง (Self-Esteem) ของเราอีกด้วย หากเรายอมรับข้อดีข้อเสียของตัวอย่างแท้จริงด้วยความเข้าใจ คำพูดและคำวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่นจะไม่ทำให้คุณค่าในตัวเราลดลง และเรายังคงมองเห็นคุณค่าในตัวเราเอง แต่ถ้าหากเราไม่เรียนรู้ที่จะยอมรับตัวเอง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่นสามารถมีผลต่อการมองเห็นคุณค่าในตัวเราเอง จนกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจ และมักผูกติดคุณค่าของตัวเองไว้กับการยอมรับจากคนอื่น ไม่ใช่การยอมรับจากตัวเอง 

ความสำคัญของ Self-Acceptance

นอกเหนือจากเรื่องของการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem) แล้ว หากเราไม่ได้เรียนรู้ที่จะยอมรับตัวเองให้เป็น เราจะเกิดความวิตกกังวลและความเครียดได้ง่ายขึ้นเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเรา เช่น ป่วยเป็นโรคที่ทำให้ร่างกายเปลี่ยนไป หรือป่วยเป็นโรคที่ตัวเราเองไม่ยอมรับ ถ้าหากเราไม่ยอมรับตัวเองหรือไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็อาจส่งผลให้เราพยายามปกปิดหรือไม่เข้ารับการรักษาตามขั้นตอนที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้การรักษาล่าช้าไปอีก และส่งผลให้ร่างกายเรามีความเครียดและความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

นอกจากนี้ การไม่ยอมรับตัวเองสามารถเป็นตัวขัดขวางเราจากการพัฒนาตัวเองไปสู่เวอร์ชั่นที่ดีกว่านี้ เพราะถ้าหากเราไม่ยอมรับตัวเองว่าเรามีข้อเสียหรือข้อที่ควรพัฒนาอย่างแท้จริง เราก็จะแก้ไขข้อเสียได้ไม่ตรงจุด และรู้สึกไม่อยากพัฒนาตัวเองให้ดีกว่านี้นั่นเอง อีกทั้ง อาจส่งผลให้เรามีปัญหากับความสัมพันธ์รอบข้าง ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะยอมรับสิ่งที่ตัวเองผิดไป อาจส่งผลให้คนในความสัมพันธ์รู้สึกเอือมระอา และหนีออกจากชีวิตเราไปในที่สุด

วิธีการพัฒนา Self-Acceptance

1. ยอมรับคุณค่าของตัวเอง

ลึก ๆ แล้วเราทุกคนต่างรู้ดีว่า ณ ตอนนี้เรามีคุณค่า เราเก่งและแกร่งมากพอที่ยังมีชีวิตอยู่ตรงนี้ ยึดถึอคุณค่าของเราให้เป็นมั่นเป็นเหมาะ เพราะเมื่อเราเจอปัญหา สิ่งนี้แหละจะช่วยให้เราก้าวข้ามผ่านมันไปได้ และเมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าเราไร้ค่า ให้เรานึกถึงคุณค่าและความเก่งของเราให้ได้ เราจะผ่านมันไปให้ได้

2. รับฟังข้อเสียของตัวเอง

ข้อเสียของตัวเราเองไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่อยากจะฟังเสียเท่าไรนัก แต่การจะก้าวไปข้างหน้าให้กลายเป็นคนที่เก่งกว่าเราคนเมื่อวาน เราจำเป็นต้องรับฟังและทำความเข้าใจข้อเสียของเรา อาจทำได้ด้วยการพิจารณาตัวเอง หรือการฟังมาจากคนรอบข้าง จากนั้นนำสิ่งที่รับรู้มามองตามความเป็นจริง ทำความเข้าใจมัน ยอมรับมัน และลองหาวิธีปรับปรุงตัวเองให้เหมาะสมกว่านี้

3. รู้จักให้อภัยตัวเอง

ทุกคนต้องเคยประสบช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าตัวเราเองไม่น่าอภัยกันทั้งนั้นแหละ รู้สึกเก่งไม่พอ สวยไม่พอ ดีไม่พอสักที และมันทำให้เรารู้สึกโกรธตัวเองว่าทำไมเราถึงไปไกลกว่านี้ไม่ได้ เราโกรธตัวเองได้ เป็นเรื่องปกติ แต่อย่าลืมที่จะให้อภัยตัวเอง ในตอนนี้สิ่งที่เราเป็นถือว่าเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ณ เวลานี้แล้ว หลังจากนี้มาพยายามกันเพื่อเป็นเราในเวอร์ชั่นที่ไปได้ไกลกว่านี้ด้วยกันนะ

4. ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

การเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนอื่นรังแต่จะทำให้เรากังวลใจและจมปลักอยู่กับความผิดหวังเสียเปล่า ๆ แต่ถ้าเปรียบเทียบแล้วทำให้เรามีแรงฮึดสู้ในการพยายามปลุกปั้นตัวเองให้เป็นคนที่พัฒนาไปมากกว่านี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องราวดี ๆ แต่ถ้ารู้สึกไม่ดีที่เปรียบเทียบ อย่ารู้สึกเสียใจเลย เราแต่ละคนมีเส้นทางที่แตกต่างกัน พวกเขาพยายามในเส้นทางของพวกเขาและได้ดิบได้ดี เราก็ต้องโฟกัสกับการพยายามในเส้นทางของเราเองเหมือนกัน อย่าเสียเวลาไปเปรียบเทียบกับคนที่อยู่คนละเส้นทางกับเราเลย

5. ขอความช่วยเหลือ

ถ้ารู้สึกว่าต่อให้ทำอะไรไปมากมายแล้ว แต่การยอมรับตัวเองยังถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และสมองของเราก็ยืนยันที่จะไม่ยอมรับเราต่อไป บางทีนี่อาจเป็นสัญญาณที่เราต้องไปเข้ารับการช่วยเหลือทางการแพทย์เพิ่มเติมนะ เพราะการไม่ยอมรับตัวเองมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้า ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจส่งผลต่อชีวิตของเราในด้านอื่น ๆ ต่อไปด้วย

Self-Acceptance การยอมรับและโอบกอดตัวตนด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราโตมากับการไม่ยอมรับตัวเอง แต่การที่มันทำได้ยากไม่ได้แปลว่าเราจะทำไม่ได้ เราเพียงต้องใจเย็นและให้เวลากับตัวเอง การเดินบนเส้นทางการรักตัวเองล้วนใช้เวลากันทั้งนั้น ขอให้ทุกคนยอมรับและโอบกอดตัวเองด้วยความเข้าใจให้มาก ๆ นะ

อ้างอิง

Greater self-acceptance improves emotional well-being. (2016, May 16). Harvard Health.

Gupta, S. (2022, September 14). How to Embrace Self-Acceptance. Verywell Mind.