Retail Therapy เครียดทั้งที ต้องชอปปิงแก้เครียดสักหน่อย! 

เคยรู้สึกเครียดมาก ๆ จนคันไม้คันมืออยากใช้เงินกันไหม?

คิดว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเคยใช้เงินไปกับการจับจ่ายใช้สอยตามใจอยากเพื่อคลายเครียดกันบ้าง เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมพอเราได้ซื้อของหรือได้ใช้เงินกับการชอปปิงทีไร มันถึงช่วยคลายเครียดได้แบบนี้? (ส่วนใหญ่แล้วจะไปเครียดกันอีกทีตอนเช็กยอดเงินคงเหลืออีกทีหนึ่ง) วันนี้เราจะไปชวนไปทำความรู้จักกับ Retail Therapy หรือ การชอปปิงเพื่อคลายเครียด กัน


สุขภาพจิต Mental Health คือภาวะของจิตใจเราที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตัวเราเอง เช่น ตัวตนของเรา ความคิดของเรา ความรู้สึกที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น การมองโล การมีความเข้าใจและรู้เท่าทันต่ออารมณ์และความรู้สึกของตนเอง รวมไปถึงมีการตระหนักรู้ว่าอารมณ์เชิงลบเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้สำหรับทุกคน รู้ว่าควรรับมือกับอารมณ์เชิงลบอย่างไรให้เหมาะสมกับตนเอง รวมถึงสิ่งรอบตัวต่าง ๆ  ตั้งแต่อาหารการกิน การอยู่อาศัย ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ครอบครัว เพื่อน คนรัก เพื่อนที่ทำงาน เป็นต้น 

เช็กปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นได้ที่นี่


Retail Therapy คืออะไร?

Retail Therapy หรือที่บางทีเรียกว่า Shopping Therapy คือพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยเพื่อคลายเครียดและความรู้สึกทางลบที่เกิดขึ้น หรือเรียกง่าย ๆ ว่าชอปปิงเพื่อคลายเครียดนั่นเอง แต่ในอีกกรณีหนึ่งที่เรามักพบก็คือการซื้อของเพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น สัมภาษณ์งานผ่าน สอบติดตามที่หวังไว้ เป็นต้น เรียกได้ว่า การชอปปิงถือเป็นพฤติกรรมการระบายอารมณ์ทางบวกและทางลบได้เป็นอย่างดีได้เลยทีเดียว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการชอปปิงแบบนี้ไม่ใช่การบำบัดหรือเป็น Therapy เพื่อใช้ในการรักษาอาการป่วยทางจิตจริง ๆ 

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะมีศัพท์อย่าง Retail Therapy หรือ Shopping Therapy ก็มีพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการชอปปิงอย่าง Window Shopping เหมือนกัน แต่ Window Shopping จะไม่ได้เป็นการซื้อของจริง ๆ แต่เน้นเป็นการดูสินค้าต่าง ๆ อาจทำไปเพื่อฆ่าเวลา หรือเพื่อดูสินค้าที่สวยงามเพื่อความพึงพอใจของตัวเอง แม้ไม่ได้ซื้อมาไว้ครอบครองก็ไม่เป็นไร ได้ดูเฉย ๆ ก็ดีแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นพฤติกรรมคลายเครียดรูปแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน 

Retail Therapy ทำให้เรารู้สึกดีได้อย่างไรบ้าง?

เคยมีใครสักคนกล่าวไว้ว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้” สำหรับคุณแล้ว คุณว่าคำพูดนี้จริงสำหรับคุณหรือไม่? 

มันอาจจะจริงสำหรับคุณก็ได้ หากคุณเป็นคนที่ไม่ได้ให้ค่ากับเงินทองหรือของนอกกาย แต่ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่เล็งเห็นความสำคัญของเงินตราว่า มันมีคุณค่ามากพอที่จะไปแลกเปลี่ยนกับอย่างอื่น โดยเจ้าอย่างอื่นนี่แหละ คือความสุขของคุณเอง นึกภาพตามอย่างง่าย ๆ คุณชอบทานพิซซ่ามาก การซื้อพิซซ่ามาทานถือเป็นการซื้อความสุขรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ซึ่งรวมไปถึงการซื้อส่ิงของอื่น ๆ ด้วย เช่น อัลบั้มของศิลปินที่ชอบ เซ็ทเลโก้ หรือแม้แต่ของจุกจิกต่าง ๆ อย่างของใช้ในบ้านก็ด้วยเช่นกัน อะไรก็ตามที่เงินใช้แลกเปลี่ยนได้ เราก็ซื้อความสุขกันได้ทั้งนั้น 

ในขณะเดียวกัน เพื่อให้เงินที่เราใช้ไปนั้นคุ้มค่ากับเรามากที่สุด เวลาที่เราซื้อของเราก็ต้องเลือกและคิดเสียหน่อยเพื่อให้เราได้สิ่งที่ดีกับเราที่สุด การที่เราใช้เวลาไปกับตรงนี้ ช่วยให้เราได้พักสมองจากเรื่องที่กังวลอยู่ หรือได้เบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องที่เครียดมาสนใจกับการชอปปิงแทน ซึ่งช่วยให้เราได้พักความเครียดไว้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะไปลุยกับมันต่อในอนาคตนั่นเอง

เมื่อเราได้ของที่เราต้องการมาครอบครองแล้ว แน่นอนว่า มันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับการได้สปอยล์ตัวเอง หรือเป็นการให้รางวัลตัวเอง ซึ่งร่างกายเราก็มีระบบภายในสมองที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการให้รางวัลโดยตรงด้วย นั่นก็คือ Reward System โดยสมองของเราจะหลั่งฮอร์โมนโดปามีนที่ทำให้เรามีความสุขเมื่อเราได้รับรางวัลจากการทำอะไรสักอย่าง อย่างเช่นการซื้อของให้ตัวเองก็ด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับมุมมองจาก Chris Gray นักจิตวิทยาผู้บริโภค (Consumer Psychologist) ได้กล่าวไว้ว่า “พฤติกรรมการซื้อของมันไม่ใช่แค่การที่เราต้องการจะซื้อของ แต่มันเป็นการเติมเต็มความต้องการทางด้านจิตใจภายในของเรา”

สรุปประโยชน์ของ Retail Therapy ต่อสุขภาพจิต

  • เงินซื้อความสุขได้
  • ฮอร์โมนโดปามีนหลั่งมากขึ้น
  • ได้เบี่ยงเบนความเครียดของตัวเอง

2 ข้อควรระวังเกี่ยวกับ Retail Therapy

  • ตั้งงบไว้ก่อนสักนิด

เพราะบางทีเราก็ชอปกันเพลินจนลืมดูเงินในกระเป๋า กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็สูญเงินไปเยอะเลยทีเดียว ก่อนจะชอปล้างผลาญคลายเครียด เราควรจำกัดงบเอาไว้ เพื่อไม่ให้ตัวเราเองใช้เงินเยอะเกินความจำเป็นนั่นเอง ไม่งั้นจะได้ความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมาได้

  • ระวังเป็นพฤติกรรมเสพติด

การชอปปิงจนกลายเป็นการเสพติดมีอยู่จริง เนื่องจากเราเสพติดความรู้สึกตอนที่ได้ซื้อของที่ต้องการ ฮอร์โมนโดปามีนหลั่งทำให้เรามีความสุข พอทำบ่อย ๆ เข้าก็อาจทำให้เราเสพติดการชอปปิงเพื่อคลายเครียดขึ้นมาได้ ซึ่งถือเป็นปัญหาสุขภาพจิตรูปแบบหนึ่ง และจำเป็นต้องได้รับการดูแลด้วยกระบวนการทางจิตวิทยาร่วมกับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ รวมถึงอาจต้องเข้ารับการบำบัดร่วมด้วยเลยทีเดียว

Retail Therapy ถือเป็นวิธีคลายเครียดรูปแบบหนึ่งที่ใคร ๆ ก็ทำได้ เพียงแต่ต้องรู้จักหักห้ามใจและระมัดระวังการใช้เงินในกระเป๋าเสียหน่อย มิฉะนั้นอาจเครียดที่เงินเหลือน้อยจนต้องไปจัดการปัญหาสุขภาพจิต ถ้าชอปหนักแบบนี้ละก็ ไม่ดีเลย

อ้างอิง

Tan, S. (2021, September 10). Is Retail Therapy for Real? WebMD.