Dopamine ฮอร์โมนแห่งความสุข

หากจะพูดถึงฮอร์โมนหรือสารสื่อประสาทสักชื่อหนึ่งที่หลาย ๆ คนรู้จัก หนึ่งในนั้นน่าจะมี “โดปามีน” Dopamine อย่างแน่นอน ชื่อเรียกของมันอีกอย่างหนึ่งที่หลาย ๆ คนรู้จักกันก็คือ “ฮอร์โมนแห่งความสุข” ที่หลั่งออกมาเพิ่มขึ้นเมื่อเรารู้สึกมีความสุข ผ่านการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เราชอบทำ เช่น เล่นเกม ดูหนัง ได้กินอาหารมื้อโปรด ได้ใช้เวลากับคนที่รัก ได้ออกกำลังกาย และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ช่วยทำให้เรามีภาวะอารมณ์ที่สดใสเบิกบานมากยิ่งขึ้น และช่วยคลายความเศร้ามัวหมองของชีวิตไปได้บ้าง เพื่อให้เรารู้จักใช้ประโยชน์จากโดปามีนได้อย่างสูงสุด วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ Dopamine หรือ ฮอร์โมนแห่งความสุข ให้มากขึ้นกัน

Dopamine โดปามีน คืออะไร?

Dopamine โดปามีนเป็นสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ชนิดหนึ่งที่ช่วยให้เซลล์ประสาทและระบบประสาททำงานได้อย่างราบรื่น และควบหน้าที่ในการเป็นฮอร์โมนให้ร่างกายเราทำงานได้อย่างเป็นปกติ โดปามีนพบได้ในสมองและไขสันหลังของเรา หน้าที่ของมันสามารถส่งผลต่อพฤติกรรม อารมณ์ความรู้สึก ความพึงพอใจ การเรียนรู้ การเคลื่อนไหวร่างกาย แรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่าง ๆ รวมไปถึงความสามารถในการจดจ่อสิ่งต่าง ๆ ด้วย 

ความรู้สึกพึงพอใจที่เกิดขึ้นกับเราล้วนได้รับอิทธิพลจากการทำงานโดปามีน โดยโดปามีนนั้นเป็นเหมือนกับศูนย์กลางการกระจายรางวัล (Reward Center) ให้กับระบบการให้รางวัล (Reward System) โดยรางวัลในที่นี้ที่เราพูดถึงกันอยู่คือ “ความรู้สึกดี” หรือ “ความพึงพอใจ” ของเรานั่นเอง กลไกการทำงานของมันก็มีหลักการง่าย ๆ เมื่อใดก็ตามที่เราแสดงพฤติกรรมที่เราชอบและทำให้เรารู้สึกดี โดปามีนจะหลั่งออกมาเมื่อร่างกายเราได้ทำกิจกรรมเหล่านั้น และเมื่อเราทำกิจกรรมนี้บ่อยครั้งแล้ว ร่างกายจะเริ่มจดจำว่าพฤติกรรมนี้ช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้นได้ไปโดยปริยาย ซึ่งกลไกแบบนี้เอง เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ร่างกายเราได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่ทำให้เราพึงพอใจ และทำให้เราพยายามทำพฤติกรรมนั้นเพิ่มมากขึ้น เช่น สมมติว่าตอนเด็ก ๆ เรามักได้กินอาหารมื้อพิเศษเมื่อมีผลการเรียนดี เราจึงพยายามรักษาผลการเรียนให้อยู่ในระดับที่ดีเพื่อให้ได้กินอาหารมื้อพิเศษบ่อย ๆ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดจากการทำงานของโดปามีน เนื่องจากการได้ทานอาหารมื้อพิเศษนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข 

อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างมีด้านที่ไม่ดีกันทั้งนั้น โดปามีนก็เช่นกัน หากเรามีความสุขกับการแสดงพฤติกรรมที่ดี มันก็สามารถทำให้ชีวิตของเราราบรื่นและมีความสุขดีได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง โดปามีนนี่แหละ ที่ทำให้เรารู้สึก “เสพติด” กับบางสิ่งบางอย่างมากเกินไป กลายเป็นการเสพติดความสุข หรือที่เรียกว่า Dopamine Addiction ที่มักเกิดกับพฤติกรรมการเสพติดอะไรที่ไม่ดีนัก เช่น เสพติดการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเพราะมันทำให้โดปามีนพลุ่งพล่าน หรือเสพติดการเล่นพนันมากเกินไปเพราะเวลาที่ชนะมาจะทำให้เรารู้สึกมีความสุข ซึ่งอาจเป็นการเสพติดหนักที่ถึงขั้นต้องไปบำบัดเลยก็ได้ ดังนั้น ในหลาย ๆ ครั้ง เราไม่ควรปล่อยให้ความสุขมาครอบงำพฤติกรรมเรามากเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อตัวเราในระยะยาวได้ 

อาการที่เกิดขึ้นเมื่อระดับของ Dopamine โดปามีน ไม่คงที่

นอกจากนี้ การมีระดับโดปามีนในร่างกายที่น้อยหรือมากเกินไปยังสามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้อีกด้วย ดังนี้ 

ผลเสียทางด้านร่างกาย

  • มีปัญหาด้านการนอน นอนไม่หลับ นอนไม่เพียงพอ 
  • ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริวได้ง่าย
  • เกิดอาการสั่น
  • มีปัญหาด้านการย่อยอาหารและการขับถ่าย
  • น้ำหนักลด
  • เคลื่อนไหวร่างกายเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายตามมาได้

ผลเสียทางด้านจิตใจ 

  • อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย สูญเสียการควบคุมในตนเอง
  • รู้สึกเหนื่อยล้า ซึมเศร้า ไม่อยากทำอะไรเลย หรือรู้สึกกระปรี้กระเปร่าและตื่นตัวมากเกินไป
  • สูญเสียความรู้สึกทางเพศ หรือมีอารมณ์ทางเพศมากเกินไป
  • รู้สึกวิตกกังวล หรือมีความหุนหันพลันแล่น ไม่ทันคิด
  • เห็นภาพหลอน (Hallucination)

นอกจากนี้ ระดับของโดปามีนยังส่งผลต่อการเกิดโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) ที่เกิดจากการมีระดับของโดปามีนในระดับที่ต่ำเกินไป ส่งผลให้การเคลื่อนไหวร่างกายมีปัญหา อีกทั้งส่งผลต่อโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย เพราะหากมีโดปามีนน้อยนั่นแปลว่าอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มีความสุขกับชีวิตเลยก็ได้ ในขณะที่หากมีระดับโดปามีนสูงเกินไป สามารถส่งผลต่อโรค ADHD โรคจิตเภท (Schizophrenia) หรือโรคเสพติดประเภทต่าง ๆ ได้ เนื่องจากการมีโดปามีนมากเกินไปจะกระตุ้นให้ขาดการควบคุม ไม่มีสมาธิ มีความหุนหันพลันแล่น ไม่มีการยับยั้งชั่งใจในการคิดมากนัก ซึ่งส่งผลให้อาการของโรคแย่ลงได้ 

วิธีรักษาระดับ Dopamine โดปามีน

1. ทานอาหารที่มีประโยชน์

ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีน โอเมก้า 3 และกรดอะมิโนไทโรซีน เช่น เนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ ปลาทะเลอย่างแซลมอนหรือปลาแมคเคอเรล ถั่วประเภทต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง วอลนัท กล้วย อะโวคาโด้ โยเกิร์ต ชีส นม เป็นต้น   

2. ออกกำลังกายเป็นประจำ

เพราะการออกกำลังกายช่วยกระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาทหลายชนิด ซึ่งรวมถึงโดปามีนด้วย เวลาเราออกกำลังกายเราจึงมักรู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า มีความสุข เหมือนเป็นการได้ปลดปล่อยรูปแบบหนึ่งนั่นเอง 

3. ทานยาเพื่อคงระดับโดปามีนในร่างกาย

หากได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์แล้วว่าเรามีโดปามีนในร่างกายที่ไม่สมดุลและไม่เสถียรนัก ในผู้ป่วยที่มีระดับโดปามีนมากเกินไปหรือน้อยเกินไปนี้ จำเป็นต้องทานยาเพื่อรักษาระดับโดปามีนให้คงที่ มิฉะนั้นอาจส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจในมิติอื่น ๆ ได้ 

อ้างอิง

Sheppard, S. (2023, May 19). How Dopamine Influences Your Mental Health. Verywell Mind.

Dopamine. (2023, October 17). Healthdirect.