ช่วงหลัง ๆ มานี้ หลาย ๆ คนน่าจะเคยเห็นคำว่า Manifestation ที่เป็นแนวคิดเชิงบวกเพื่อให้ชีวิตประสบความสำเร็จ โดยมีการคิดภาพไว้ในใจประกอบกับฝึกฝนทำกิจกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้นได้ บางคนก็มองว่าสิ่งนี้ช่วยทำให้เราโฟกัสกับเป้าหมายได้มากขึ้น แต่บางคนก็มองว่ามันเป็นเรื่องงมงายและไร้หลักการ อย่างไรก็ตาม วันนี้เราไม่ได้จะมาพูดถึงเรื่อง Manidestation แต่อย่างใด แต่จะมาพูดถึงเรื่องของวิธีการที่หลาย ๆ คนนึกภาพในหัวตามที่อยากให้เป็น ทั้ง ๆ ที่มันอาจจะเป็นหรืออาจจะไม่เป็นความจริงก็ได้ ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า Delusion หรือ อาการหลงผิด
มีประโยคหนึ่งที่คนทำ Manifestation ชอบพูดถึงกันบ่อย ๆ นั่นก็คือ “Delulu is the solulu” เป็นการเล่นบิดคำของคำสองคำ นั่นก็คือ Delusion และ Solution โดยประโยคนี้สามารถแปลได้ว่า การเพ้อฝันนี่แหละคือทางออกสำหรับทุกเรื่อง ในแง่หนึ่ง หากเราแต่ละคนมีอาการหลงผิดเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่ถึงกับรับรู้ความเป็นจริงผิดเพี้ยนไป อาการแบบนี้ก็สามารถมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจาก อาการหลงผิดมีความสอดคล้องกับ Escapism หรือ การหลีกหนีความเป็นจริง ที่มีการเพ้อฝัน จินตนาการถึงสิ่งดี ๆ ที่ไม่มีอยู่จริง เพื่อหลีกหนีจากความรู้สึกกดดันในชีวิตเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งมันมีส่วนช่วยในการคลายความตึงเครียดในชีวิตได้ แต่ถ้าหากว่ามันเริ่มทำให้ความเป็นจริงของเราบิดเบี้ยวขึ้นมานานกว่า 1 เดือนขึ้นไปละก็… เริ่มน่าเป็นห่วงแล้วล่ะ ซึ่งวันนี้เราจะไปเรียนรู้ Delusion หรือ อาการหลงผิด ให้มากขึ้นกัน
Delusion หรือ อาการหลงผิด คืออะไร?
อาการหลงผิด (Delusion) นับว่าเป็นอาการทางจิตรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นอาการเด่นอย่างหนึ่งของกลุ่มโรคทางจิต (Psychotic Disorders) โดยอาการหลงผิดมีจุดเด่นอยู่ที่ผู้ป่วยจะมีความคิดในหัวและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 เดือนเป็นต้นไป เช่น หลงผิดคิดว่ามีคนมารัก หลงผิดคิดว่ามีคนจะมาทำร้าย โดยผู้ป่วยไม่สามารถแยกความคิดของตัวเองออกจากความเป็นจริงได้ คิดว่าสิ่งที่ตัวเองเข้าใจนั้นคือความจริง
สาเหตุของการเกิด Delusion หรือ อาการหลงผิด นั้นมีหลากหลายสาเหตุเช่นเดียวกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม พบว่า หากครอบครัวใดมีผู้ป่วยในกลุ่มโรคทางจิต เช่น โรคหลงผิด (Delusion Disorder) และโรคจิตเภท (Schizophrenia Disorder) จะยิ่งส่งผลเพิ่มความเสี่ยงให้คนในครอบครัวมีอาการหลงผิดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางด้านสารสื่อประสาททำงานได้ไม่เป็นปกติ ปัจจัยด้านทักษะการรับรู้ที่แตกต่าง เช่น เป็นคนที่ชอบสรุปความเร็วเกินไป ชอบฟังความข้างเดียว ก็อาจส่งผลให้มีการรับรู้ที่ผิดไปจากความเป็นจริงได้ หรือปัจจัยที่มาจากประสบการณ์และบาดแผลในอดีตก็อาจส่งผลให้มีอาการหลงผิดเช่นกัน โดยเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อด้านจิตใจโดยตรง มีความเครียดและได้รับความกดดันมาเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้มีการรับรู้ที่ไม่เป็นปกติและทำให้เกิดการหลงผิดตามมาได้เช่นเดียวกัน
ซึ่ง Delusion หรือ อาการหลงผิด สามารถแบ่งแยกย่อยลงไปได้อีก 6 ประเภท
Delusion หรือ อาการหลงผิด 6 ประเภท
- หลงผิดคิดว่ามีคนมารัก (Erotomanic Delusion)
เป็นอาการหลงผิดที่นึกว่ามีคนอื่นมาตกหลุมรักเราเข้าอย่างจัง โดยกลุ่มคนที่มักโดนเข้าใจผิดก็คือเหล่าดารา เซเลบบริตี้ อินฟลูเอนเซอร์ นักการเมือง คนดังต่าง ๆ โดยผู้ป่วยจะคิดว่าเหล่าคนดังพวกนี้มีใจให้พวกเขาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ซึ่งความหลงผิดนี้เองสามารถนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ได้ เช่น การสตอล์ก (Stalk) ที่เป็นการแอบติดตามและถูกมองว่าเป็นการคุกคามความเป็นส่วนตัวรูปแบบหนึ่ง
- หลงผิดคิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น (Grandiose Delusion)
เป็นอาการหลงผิดที่ว่าด้วยความรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่นในหลากหลายมิติ เช่น แข็งแรงกว่า ฉลาดกว่า โด่งดังกว่า มีอำนาจมากกว่า รวยกว่า ทรงภูมิมากกว่า ไปจนถึงมีพลังพิเศษเหนือกว่ามนุษย์ทั่วไปอีกด้วย ซึ่งการหลงผิดแบบนี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการไปทำสิ่งที่อันตราย เช่น หลงผิดคิดว่าตัวเองบินได้ เลยอยากลองกระโดดลงมาจากตึก เป็นต้น
- หลงผิดคิดว่าคนรักนอกใจ (Jealous Delusion)
เป็นอาการหลงผิดที่คิดว่าคนรักของเรานอกใจไปมีคนอื่นและไม่ซื่อสัตย์กับตนเอง โดยผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมในการพยายามค้นหาหลักฐานว่าคนรักนอกใจและมีการตีความพฤติกรรมของคนรักผิดแผกไปจากปกติ เช่น พยายามค้นหาเสื้อผ้าของผู้หญิงคนอื่นในห้องนอนของคนรัก พยายามจับผิดว่าคนรักแอบออกไปเที่ยวที่ไหนกับใคร เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนสองคนได้
- หลงผิดคิดว่าโดนหมายหัว (Persecutory Delusion)
เป็นอาการหลงผิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยผู้ป่วยมักหลงผิดคิดไปเองว่าตนเองโดนจ้องทำร้าย โดนกลั่นแกล้ง โดนสะกดรอยตาม ไปจนถึงโดนลอบสังหารเอาชีวิต โดยคนที่ผู้ป่วยคิดว่าจะมาทำร้ายอาจเป็นคนธรรมดา คนใกล้ตัว ไปจนถึงองค์กรใหญ่ต่าง ๆ ของโลก เครื่องจักรต่าง ๆ หรือมนุษย์ต่างดาวเลยก็มีเช่นเดียวกัน
- หลงผิดคิดว่าตัวเองไม่สบาย (Somatic Delusion)
เป็นอาการหลงผิดที่คิดว่าร่างกายของตัวเองทำงานผิดปกติ คิดว่าอวัยวะภายในร่างกายทำงานได้ไม่ตามปกติ คิดว่าตัวเองป่วย กระดูกบิดเบี้ยว เส้นเลือดภายในแตก เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยกังวลและต้องการที่จะตรวจร่างกายเพื่อค้นหาความผิดปกติของร่างกายอยู่ตลอดเวลา ๆ ทั้งที่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลยก็ตาม
- หลงผิดอื่น ๆ (Mixed or Unspecified Delusion)
ผู้ป่วยอาการหลงผิดสามารถเข้าใจผิดในหลาย ๆ เรื่องพร้อมกันได้ และอาจมีการหลงผิดในเรื่องที่บ่งบอกอย่างเฉพาะเจาะจงไม่ได้ เช่น อาจหลงผิดไปหมดทุกเรื่อง จึงไม่สามารถระบุประเภทได้อย่างเฉพาะเจาะจงนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งประเภทอาการหลงผิดตามเกณฑ์อื่น ๆ เช่น
- หลงผิดแบบเป็นไปไม่ได้ (Bizarre Delusion) เป็นการหลงผิดที่เกิดขึ้นได้ยากในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น คิดว่าตัวเองจะโดนมนุษย์ต่างดาวจับตัวไป คิดว่าพรุ่งนี้โลกจะแตกเป็นผุยผง เป็นต้น
- หลงผิดแบบเป็นไปได้ (Non-Bizarre Delusion) เป็นการหลงผิดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น หลงผิดคิดว่าแฟนจะนอกใจ หลงผิดคิดว่าเพื่อนสนิทมาแอบรักเรา เป็นต้น
- หลงผิดที่เกิดจากอารมณ์ไม่คงที่ (Mood-Congruent Delusion) เป็นการหลงผิดที่เป็นอาการพ่วงมาจากโรคทางจิตเวชที่ส่งผลทางด้านอารมณ์ เช่น โรคไบโพล่าร์ที่มีอาการ Mania ที่ช่วงหนึ่งจะมีอาการดีดหรือมีความสุขขึ้นมาผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อการรับรู้ที่ผิดปกติได้
- หลงผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ (Mood-Incongruent Delusion) เป็นการหลงผิดที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ความเชื่อผิด ๆ ของลัทธิแปลก
อาการแบบไหนถึงเรียกว่าหลงผิด?
- เริ่มมีพฤติกรรมต่อคนรอบข้างแปลกออกไป เช่น ไม่ไว้ใจ ไม่ให้เข้าใกล้
- รู้สึกสับสน รู้สึกข้องใจกับสิ่งรอบตัวหรือคนรอบตัว
- ไม่คิดว่าความคิดของตัวเองแปลกหรือมีความผิดปกติ
- มีปัญหาทางด้านอารมณ์ เช่น หงุดหงิดง่ายผิดปกติ ซึมเศร้า วิตกกังวล
- มีความไวเมื่อมีสิ่งมากระตุ้น และมีการตอบสนองที่มากกว่าปกติ เช่น มีคนพูดถึงเรื่องอุกกาบาต อาจมีการแสดงว่ากลัวและบอกว่ากลัวโดนมนุษย์ต่างดาวลักพาตัว
ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวชอื่น ๆ
Delusion หรือ อาการหลงผิด เป็นอาการที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มโรคทางจิต หรือ โรคจิต (Psychotic Disorders) โดยตรง โดยเฉพาะโรคหลงผิด (Delusional Disorder) และโรคจิตเภท (Schizophrenia Disorder) นอกจากนี้ ยังมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางด้านอารมณ์และการรับรู้อื่น ๆ เช่น กลุ่มโรคทางด้านอารมณ์ (Mood Disorders) อย่างโรคไบโพล่าร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว โรคสมองเสื่อม (Dementia) ที่สมองมีการรับรู้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไป จำไม่ได้เหมือนเดิม ไปจนถึงโรคเสพติดสารต่าง ๆ อย่างรุนแรงที่ทำให้การรับรู้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เช่น การติดเหล้า การติดสารเสพติด ในระดับที่เลิกไม่ได้
การรักษาอาการหลงผิดสามารถทำได้เช่นเดียวกับโรคทางจิตเวชทั่วไป นั่นคือการเข้ารับการช่วยเหลือทางการแพทย์ เข้าพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการอย่างละเอียด จากนั้นจึงเข้ารับการบำบัดร่วมกับนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดด้วยกระบวนวิธีการทางจิตวิทยา อาจมีการทานยาร่วมด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและสาเหตุของอาการในแต่ละเคส และต้องมีการดูแลร่างกายให้เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้กลับมามีอาการที่คงที่และใช้ชีวิตในสังคมอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ
อ้างอิง
Delusional Disorder: Types, Symptoms, and Treatment. (2006, February 1). WebMD.
Pugle, M. (2023, November 28). What Are Delusions? Verywell Health.