เวลาเราดูหนังหรือซีรีส์ที่มีตัวละครเป็นพี่น้อง เรามักจะเห็นว่า พี่น้องแต่ละคนจะมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น พี่คนโตมักมาเป็นคนเฉี่ยว ๆ มั่นใจ จัดการทุกอย่างได้เก่ง พี่คนรองจะออกแนวจืดจาง ไม่มีปากมีเสียงเท่าไรนัก ในขณะที่น้องคนเล็กมักเป็นจะเป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเอง วีนเก่ง โกรธเก่ง เป็นต้น หรือแม้แต่พี่น้องในชีวิตจริง คนที่มีพี่น้องก็มักจะมีคาแรกเตอร์หรือลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คุณเคยสงสัยไหมว่า ทั้ง ๆ ที่พี่น้องเกิดมาจากพ่อแม่ท้องเดียวกันแท้ ๆ ทำไมถึงมีนิสัยแตกต่างกัน
วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับทฤษฎีหนึ่งที่ชื่อว่า Birth Order Theory ที่มองว่า ลำดับการเกิดส่งผลต่อลักษณะนิสัยของพี่น้องแต่ละคนได้จริง ๆ !!!
Birth Order Theory คืออะไร?
Birth Order Theory หรือ ทฤษฎีลำดับการเกิด คิดค้นโดย Alfred Adler นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย ผู้เป็นเพื่อนร่วมงานของ Sigmund Freud จึงทำให้ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ของฟรอยด์มาโดยตรง แต่เขาก็ได้สร้างแนวคิดของตัวเองขึ้นมา ชื่อว่า Individual Psychology หรือ จิตวิทยาของความเป็นปัจเจก
ซึ่งแอดเลอร์มีมุมมองต่อ Birth Order Theory หรือ ทฤษฎีลำดับการเกิด ไว้ดังนี้
- ลูกคนโต
พี่คนโตมักเป็นคนที่มีความรับผิดชอบมากที่สุด เผลอ ๆ อาจเป็นแม่คนที่สองของน้อง ๆ เลยก็ได้ เพราะโตมาก่อน จึงต้องช่วยครอบครัวดูแลน้อง ๆ ก่อนใคร ทำให้กลายเป็นคนที่มีความรับผิดชอบไปโดยปริยาย และทำให้มีลักษณะความเป็นผู้นำอีกด้วย เป็นคนที่มีความกดดันในตัวเองว่าต้องทำทุกอย่างให้สำเร็จ และมีระเบียบแบบแผนมากกว่าใคร ๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่และครอบครัวมีความคาดหวังต่อพี่คนโตว่าต้องเป็นคนที่รับผิดชอบน้อง ๆ ได้ ต่อให้พี่คนโตยังอายุไม่มาก แต่ต้องมีความโตกว่าวัยเพราะต้องช่วยดูแลน้อง ๆ ด่อ อีกทั้งยังเป็นลูกคนแรกของพ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่และครอบครัวจึงอาจเผลอตั้งความหวังที่สร้างความกดดันให้มากเกินไป และด้วยเหตุผลที่เป็นลูกคนแรก พ่อแม่และครอบครัวจึงยังไม่รู้วิธีที่ดีที่สุดในการเลี้ยงเด็กอีกด้วย
- ลูกคนกลาง
ถึงแม้ว่าลูกคนกลางมักเป็นคนที่ไม่ได้รับความกดดันมาจากพ่อแม่และครอบครัวเท่ากับพี่คนโต แต่ในครอบครัวที่มีพี่น้อง 3 คนขึ้นไป ลูกคนกลางมักเป็นคนกลางที่คอยเชื่อมพี่คนโตและน้องคนเล็กเอาไว้ จึงมีทักษะในการเจรจาและปรับตัวได้ง่าย แต่ก็มีความเป็น People Pleaser ด้วย เนื่องจากต้องคอยบาลานซ์ระหว่างพี่คนโตและน้องคนเล็กเอาไว้ เป็นคนที่ต้องการให้คนรอบข้างสนใจ เพราะความสนใจจากพ่อแม่และครอบครัวมักไปตกที่พี่คนโตและน้องคนเล็กมากกว่า จึงทำให้ลูกคนกลางดูจืดจางกว่าใคร และต้องการความรักกว่าใครเพื่อนเลย
- ลูกคนเล็ก
ในหลาย ๆ บ้าน หากลูกคนเล็กไม่เป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเองก็มักเป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงที่สุด เนื่องจากอาจไม่ได้รับความกดดันจากพ่อแม่และครอบครัวเท่าพี่คนอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นลูกคนที่อาจได้รับการดูแลเอาใจใส่มากที่สุด ด้วยความที่เป็นน้องเล็กของบ้าน คนในครอบครัวจึงเป็นห่วงมากที่สุด จนทำให้ได้รับความรักและความสนใจจนรู้สึกพอใจ และด้วยความที่ไม่ได้รับความกดดันมาก จึงกลายเป็นคนในบ้านที่มีความชิล ๆ สบาย ๆ ที่สุด ไม่ค่อยจริงจังมากเท่าไหร่ เพราะไม่ได้ถูกสอนให้รับมือกับความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก และเป็นคนที่ทำอะไรโดยไม่คิดมากที่สุดเพราะถูกเลี้ยงมาแบบโดนสปลอย์นั่นเอง
- ลูกคนเดียว
หลาย ๆ คนน่าจะมีภาพจำของลูกคนเดียวว่า มีลักษณะนิสัยที่น่าจะใกล้เคียงกับลูกคนเล็ก เนื่องจากน่าจะโดนสปอยล์และโดนโอ๋มาพอ ๆ กัน ซึ่งเป็นไปได้ เพราะลูกคนเดียวมักได้รับความสนใจและการดูแลจากพ่อแม่และครอบครัวมาอย่างเต็มที่ และได้รับโอกาสในการทำหลายสิ่งหลายอย่างมากกว่าคนที่มีพี่น้อง เนื่องจากทรัพยากรทั้งหมดไปตกอยู่ที่ลูกคนเดียวหมดเลย แต่ในขณะเดียวกัน ลูกคนเดียวก็มีส่วนผสมของความเป็นพี่คนโตอยู่ด้วย เนื่องจากต้องรับผิดชอบชีวิตของตัวเองด้วยตัวคนเดียว จึงทำให้มีความทะเยอทะยานและมีความเป็นผู้ใหญ่อีกด้วย
ลำดับการเกิด Birth Order ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในสังคมหรือไม่?
ลำดับการเกิดใน Birth Order Theory สามารถส่งผลต่อลักษณะนิสัยบางส่วนได้จริง แต่นิสัยที่ได้รับอิทธิพลมาจากลำดับการเกิดนี้จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตทั่วไปในสังคมด้วยไหม? คำตอบที่ได้คือมีทั้งอาจส่งผลและไม่อาจส่งผล ในครอบครัวที่มีการปฏิบัติต่อลูกแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน มีการสอนให้รับผิดชอบสิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน ให้รู้จักแบ่งปันกัน มีการให้ความสนใจดูแลในระดับที่เท่าเทียมกัน ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจทำให้ได้พี่น้องที่รักกันกลมเกลียวและเป็นตัวของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าครอบครัวมีการดูแลลูกแต่ละคนอย่างที่เราได้กล่าวไปข้างบน เช่น ให้พี่ ๆ ช่วยดูแลน้องเหมือนเป็นแม่คนที่สอง ให้ความรักและความเอาใจใส่แก่ลูกแต่ละคนไม่เท่าเทียมกัน หรือมีการสร้างความกดดันให้ลูกคนใดคนนึงมากเกินไป อาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่ไม่ดีนัก และมีลักษณะนิสัยบางอย่างที่ได้รับอิทธิพลมาจาการเลี้ยงดูแบบนี้ติดตัวไปใช้ข้างนอก เช่น ลูกคนเล็กเอาแต่ใจเอานิสัยเอาแต่ใจไปใช้กับเพื่อนด้วย ก็อาจทำให้เพื่อนเอือมระอาขึ้นมาได้ หรือพี่คนโตติดนิสัยทำอะไรอย่างจริงจังมาเพราะต้องดูแลน้อง ก็อาจกลายเป็นหัวหน้าที่จริงจังเกินไป จนทำให้ลูกทีมรู้สึกกดดันได้ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ สามารถเริ่มได้จากตัวพี่น้องแต่ละคนเอง หรือรวมตัวกันเพื่อมาพูดคุยเปิดอกกันอย่างตรงไปตรงมาถึงปัญหาก็ได้ หรือถ้าหากว่าการพูดคุยด้วยกันเองเป็นเรื่องที่ยากไป ก็สามารถเข้าร่วมการบำบัดแบบกลุ่มหรือแบบครอบครัวเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดมาช่วยให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสมก็ทำได้เช่นกัน
อ้างอิง
MSEd, K. C. (2024, January 22). How Does Birth Order Shape Your Personality? Verywell Mind.