กว่าจะมาเป็นนักจิตวิทยาได้ วันหนึ่งเรียนอะไรบ้าง?

หากพูดถึง “จิตวิทยา” หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า จิตวิทยาคืออะไร? จิตวิทยาเกี่ยวกับอะไร? ถึงแม้ว่าคำจำกัดความของมันคือศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจมนุษย์ก็ตาม แต่ด้วยความยากแท้หยั่งถึงของจิตใจมนุษย์เยี่ยงสุนทรภู่เคยกล่าวไว้ ทำให้ใคร ๆ ต่างไม่เข้าใจว่าจิตวิทยาคืออะไรกันแน่ รวมถึงผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาด้วย อาจมีคำถามขึ้นมาว่า “กว่าจะมาเป็นนักจิตวิทยาได้ วันหนึ่ง ๆ เขาเรียนอะไรกันบ้าง?” วันนี้เราจะไปหาคำตอบกันว่า นักศึกษาและนิสิตจิตวิทยาในไทยเรียนรู้อะไรกันบ้าง โดยอิงข้อมูลจากหลักสูตรของแต่ละสถาบันที่มีการสอนจิตวิทยาทั่วประเทศไทย

  • วิชาชีววิทยา

จิตวิทยาไม่ได้ศึกษาเพียงความคิดและความรู้สึกที่เป็นเรื่องนามธรรมของมนุษย์เท่านั้น สิ่งที่ทำให้จิตวิทยาถูกนับว่าเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งเนื่องจากพื้นฐานของจิตวิทยาส่วนหนึ่งมีความเกี่ยวข้องชีววิทยาโดยตรง เพราะการเข้าใจว่า เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายของเราทำงานอย่างไร จะช่วยทำให้เราเข้าใจกลไกการทำงานของร่างกายได้มากขึ้น อีกทั้งเป็นการปูพื้นฐานให้กับวิชาจิตวิทยาอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับกลไกการทำงานของร่างกายอีกด้วย

  • วิชาสรีรจิตวิทยา

วิชานี้ต่อยอดมาจากวิชาชีววิทยา โดยจะเป็นรายวิชาที่เจาะลึกไปที่การทำงานของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยา เช่น การทำงานของสมอง การทำงานของต่อมไร้ท่อ การทำงานของสารสื่อประสาทในร่างกายชนิดต่าง ๆ การทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายว่าผลิตจากไหน ร่างกายเรารับรู้การทำงานของสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร วิชานี้จะช่วยทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงระหว่างร่างกายมนุษย์และการทำงานของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับอาการป่วยทางจิตเวชได้มากขึ้น ซึ่งวิชานี้จะช่วยทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับความผิดปกติทางร่างกายที่ส่งผลต่อสภาวะจิตใจได้ดีมากขึ้นด้วย

  • วิชาจิตวิทยาทั่วไป

วิชาพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาและนิสิตจิตวิทยาทุกคน เพราะวิชานี้จะช่วยปูพื้นฐานเนื้อหาจิตวิทยาแขนงต่าง ๆ ให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับการเรียนจิตวิทยา เช่น จิตวิทยาคืออะไร ประวัติความเป็นมาของจิตวิทยา นักจิตวิทยาชื่อดังที่สำคัญต่อวงการจิตวิทยา จิตวิทยาการเรียนรู้ การสัมผัสและการรับรู้ ทฤษฎีทางจิตวิทยาหรือแนวคิดที่น่ารู้ เช่น ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ลำดับความต้องการของมาสโลว์ ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรักของสเติร์นเบิร์ก เป็นต้น โดยเนื้อหาสำหรับวิชาจิตวิทยาทั่วไปจะเป็นเพียงเนื้อหาเบื้องต้นเพื่อให้เข้าใจจิตวิทยาเพียงเบื้องต้นเท่านั้น 

  • วิชาจิตวิทยาอื่น ๆ 

รายวิชาจิตวิทยาอื่น ๆ จะมีการแบ่งแยกออกไปหลากหลายแขนงตามจิตวิทยาแขนงหลัก ๆ ตามที่นักศึกษาและนิสิตแต่ละคนสนใจ เช่น วิชาจิตวิทยาคลินิก ซึ่งเรียนเพื่อทำความเข้าใจกับจิตวิทยาคลินิกและปูพื้นฐานสำหรับลงลึกในการศึกษาจิตวิทยาคลินิกต่อไป จากนั้นจึงไปเรียนวิชาที่ลึกขึ้นอย่างวิชาการปรับพฤติกรรม เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย หรือวิชาการวัดและประเมินผลแบบทดสอบทางจิตวิทยา ที่จะได้เรียนรู้ในการประเมินผลอาการของผู้ป่วยผ่านแบบประเมินทางจิตวิทยา หรือหากไม่สนใจทางด้านจิตวิทยาคลินิกก็สามารถเรียนวิชาอื่น ๆ ที่สนใจได้ เช่น วิชาจิตวิทยาสังคม เรียนรู้เกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมระดับที่กว้างขึ้น วิชาจิตวิทยาพัฒนาการ เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมของมนุษย์ในทุกช่วงวัย เป็นต้น

  • วิชาสถิติ

วิชาสถิติเป็นวิชาที่หลาย ๆ คนน่าจะสงสัยว่ามันมีความเกี่ยวข้องอะไรกันกับจิตวิทยา? ถึงแม้ว่าจิตวิทยาจะมีภาพจำว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามนุษย์เสียส่วนใหญ่ แต่การจะศึกษามนุษย์ให้ถ่องแท้ได้นั้น จำเป็นต้องผ่านการเก็บข้อมูลที่หลากหลายและมากมายมหาศาล ซึ่งนั่นทำให้จิตวิทยาเป็นวิชาที่จำเป็นต้องมีการใช้สถิติ ทั้งในแง่ของการเก็บข้อมูลและการแปลงข้อมูลในการคำนวณเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีการวัดผลตามหลักการทางสถิติที่มีความน่าเชื่อถือและมีความคาดเคลื่อนน้อยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถปรับใช้กับประชากรส่วนใหญ่ของโลกได้นั่นเอง

  • วิชาระเบียบวิธีวิจัย

เช่นเดียวกับวิชาสถิติ การเรียนรู้และเข้าใจระเบียบวิธีวิจัยจะช่วยให้นักศึกษาและนิสิตจัดทำวิจัยทางจิตวิทยาได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น โดยจะได้เรียนรู้ว่าควรเลือกหัวข้อวิจัยแบบไหน วิจัยมีความเกี่ยวข้องกับหลักการทางจิตวิทยาหรือทฤษฎีทางจิตวิทยาเรื่องไหนบ้าง ควรจะเก็บข้อมูลอย่างไร เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไหน ใช้วิธีการคำนวณทางสถิติรูปแบบใดที่เหมาะสมที่สุด เป็นต้น ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผลวิจัยที่ได้มาจะช่วยเพิ่มขอบเขตทางความรู้ทางด้านจิตวิทยาให้กว้างมากขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้ ในไทยยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรจิตวิทยาต่าง ๆ ในระดับปริญญาโท สำหรับทั้งผู้ที่มีพื้นฐานทางจิตวิทยาในระดับปริญญาตรี และผู้ที่ไม่มีพื้นฐานแต่สนใจอยากต่อยอดความรู้เฉพาะทางทางจิตวิทยาให้มากขึ้นก็มีเช่นกัน อาจเป็นสายเฉพาะทางที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสายวิชาชีพจิตวิทยาโดยตรงก็มีเช่นกัน เช่น จิตวิทยาอาชญากรรม จิตวิทยาการกีฬา จิตวิทยาการตลาด และสายอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นการต่อยอดความรู้ทางด้านจิตวิทยาประยุกต์กับสายอื่น ๆ ได้อีกมากมายเลยทีเดียว