สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการสร้างทีม (Team Building) คือ การรักษาความสัมพันธ์ของทีม หรือ Team Relationship ให้อยู่ในทิศทางที่ดีอย่างสม่ำเสมอ ถ้ามีปัญหาก็สามารถคุยและจัดการปัญหาได้อย่างราบรื่น มีความเชื่อใจต่อกัน ทุกคนในทีมมีความสุขกับการทำงาน เป็นทีมที่ทำงานออกมาได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมการทำงานของทีม รวมถึงส่งผลดีต่อทางองค์กรที่มีทีมที่แข็งแกร่งอีกด้วย
Team Relationship ความสัมพันธ์ของทีม คืออะไร?
Team Relationship ความสัมพันธ์ของทีม คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของสมาชิกในทีม ซึ่งการจะมีความสัมพันธ์ของทีมที่ดีนั้น ประกอบไปด้วยปัจจัยที่ส่งผลต่อแต่ละบุคคลที่แตกต่างหลากหลายกันไป เช่น ลักษณะนิสัยส่วนตัว ทักษะการเข้าสังคม ลักษณะการพูด สไตล์การสื่อสาร วิธีรับมือกับปัญหา ความเป็นส่วนหนึ่งของทีม ความสนิทสนมและความเชื่อใจที่มีต่อคนในทีม เป็นต้น
ความสำคัญของ Team Relationship ความสัมพันธ์ของทีม
ทีมที่ทำงานดีและมีประสิทธิภาพสร้างได้จากการมีความสัมพันธ์ภายในทีมเป็นไปในทิศทางที่ดี ลองพิจารณาจากปัจจัยที่กล่าวไปเบื้องต้น หากคนในทีมมีลักษณะนิสัยส่วนตัวที่แตกต่างกัน ในบางทีมอาจไม่เป็นปัญหา แต่สำหรับบางทีม อาจมีคนที่ไม่ชอบพูดอยู่ในทีม ก็อาจเป็นปัญหาเวลาประชุมหรือแสดงความคิดเห็นก็เป็นได้ แต่ถ้าหากมีทักษะการเข้าสังคมที่ดี เช่น วางตัวดี ใจเย็น รู้ว่าควรพูดอะไรตอนไหน ก็อาจช่วยการมีนิสัยที่ไม่ชอบพูดเป็นปัญหาสำหรับทีมมากนัก
การมีลักษณะการพูดหรือสไตล์การพูดบางรูปแบบอาจทำให้คนในทีมรู้สึกไม่ดี เช่น ชอบใช้คำพูดที่ไม่รักษาน้ำใจ ก็อาจเป็นปัญหาได้ หรือการรับมือกับปัญหาของทีม บางคนอาจมองว่าปัญหาเป็นเรื่องใหญ่ บางคนมองว่าปัญหาเป็นเรื่องลบ ทีมที่ดีจะมีการพูดคุยกัน แต่ถ้าหากทีมมีความสัมพันธ์ไม่ดี ก็อาจทำให้เข้าใจความสำคัญของปัญหาคาดเคลื่อนได้ และสุดท้าย ความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อทีม หากไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม รู้สึกไม่สนิทสนมหรือเชื่อใจคนในทีม ก็อาจส่งผลให้การทำงานภายในทีมแย่ลงก็เป็นได้ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของทีมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการสร้างทีมภายในองค์กร
วิธีกระชับความสัมพันธ์ของทีม Team Relationship ให้เป็นไปในทิศทางที่ดี
1. เคารพและเชื่อใจในตนเองและทีม
ทุกอย่างจะเริ่มต้นไม่ได้หากเราไม่เชื่อใจในตัวเอง ไม่เชื่อใจในศักยภาพตัวเอง เรามีความสามารถมากพอ เชื่อใจและเคารพความสามารถของตัวเอง และทำงานออกมาให้ดีที่สุด รวมถึงเราควรที่จะเชื่อใจและเคารพคนในทีมด้วย หากเราไม่เชื่อใจ เราก็อาจพะวงในส่วนงานของคนอื่นในทีมมากเกินไปจนไม่ได้โฟกัสในส่วนที่ตัวเองต้องทำ สุดท้ายกลายเป็นว่าออกมาแย่ทั้งหมด แบบนี้ก็ไม่ดี
2. รู้หน้าที่ตัวเอง รู้หน้าที่คนอื่น
แต่ละงานแต่ละโปรเจ็คท์เราอาจได้รับมอบหมายงานไม่เหมือนกัน เราจำเป็นต้องรู้ว่าเราต้องทำอะไร ส่งงานตอนไหน งานเราต้องส่งต่อให้ใคร หรือเราต้องรอรับงานจากใครหรือเปล่า ให้โฟกัสกับหน้าที่ที่ตัวเองต้องทำ ต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง เพื่อให้งานเป็นไปตามไทม์ไลน์ รวมถึงควรรู้ด้วยว่าคนอื่นทำหน้าที่อะไร เรามีความเกี่ยวข้องกับงานเขาไหม จะได้ทำงานด้วยกันได้ราบรื่นขึ้น
3. การสื่อสารระหว่างกันสำคัญมาก
ทั้งการประชุม การปรึกษาคนในทีม การคุยงานระหว่างวัน หรือแม้กระทั่งการพูดคุยเรื่องทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับงานก็สำคัญ เพราะบทสนทนาทุกบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างกันสามารถส่งผลต่อจิตใจได้ทั้งหมด ตอนทำงานเราอาจเผลอจริงจังเลยพูดแข็ง ๆ ออกไป อาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกสบายใจ แต่ตอนพักเที่ยงมีการคุยเล่นกัน ก็สามารถช่วยผ่อนคลายความไม่สบายใจของผู้ฟังก่อนหน้านี้ได้ ฉะนั้น เลือกคำพูด เลือกโทนการพูดให้ดีก่อนพูดออกไป ไม่งั้นผู้ฟังอาจรู้สึกไม่ดีได้ นาน ๆ เข้าอาจส่งผลต่อความสนิทสนมของคนในทีมและการทำงานเป็นทีมต่อไปได้ในอนาคต
4. ปรับตัวและเรียนรู้จากคนในทีม
ทีมแต่ละทีมมีสมาชิกทีมแตกต่างกันไป บางคำพูด บางสไตล์การพูดอาจเหมาะกับสมาชิกทีมคนนี้ แต่อาจไม่เหมาะกับอีกคน หรือพอทำงานด้วยกันไปนาน ๆ อาจพบจุดที่แตกต่างกัน เราอาจได้เรียนรู้ความต่างนั้นและปรับตัวเพื่อหาจุดร่วมให้ทีมมาจูนกันและทำงานร่วมกันได้ดีกว่าเดิม
5. วิจารณ์ และรับมือกับคำวิจารณ์ให้เป็น
ชีวิตการทำงานจะหลีกหนีจากคำวิจารณ์ไปไม่ได้เลย ยิ่งทำตำแหน่งสูง ๆ ก็จะหนีการให้คำวิจารณ์ไม่พ้นเช่นกัน แต่ละคนก็จะมีลิมิตในการรับคำวิจารณ์แตกต่างกันและให้คำวิจารณ์แตกต่างกัน เรียนรู้ลิมิตของตัวเองและเรียนรู้ลิมิตของคนอื่น เพื่อให้คำวิจารณ์นั้นส่งผลดีมากกว่าไปทำร้ายจิตใจสมาชิกในทีม
ทีมจะดีไม่ดี จะอยู่กันนานหรืออยู่กันไม่นาน ล้วนเกิดจากความสัมพันธ์ของทีมที่เราสามารถกำหนดชะตาของมันได้ นอกเหนือจะเป็นหน้าที่ของทีมที่ต้องกระชับความสัมพันธ์กันอย่างเป็นประจำแล้ว มันเป็นหน้าที่ขององค์กรเช่นเดียวกันที่ต้องให้ความสำคัญกับทีมแต่ละทีมว่าพวกเขามีธรรมชาติอย่างไร เราสามารถช่วยให้แต่ละทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นไหม ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายทีมไป และในอนาคต การช่วยกระชับความสัมพันธ์ของทีมจะส่งผลให้ทีมมีความเชื่อใจกันมากขึ้น ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อทั้งตัวทีมเองและองค์กรอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โปรแกรม Team Building จาก Peace Please Studio