“เครียด vs กังวล” แยกไม่ออก บอกอาการไม่ถูก

หลาย ๆ ครั้ง ความรู้สึกและอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเรามันคล้ายกันมากจนแยกไม่ออก ก็คล้าย ๆ กับการที่คนเรายังแยกการเป็นไข้กับเป็นหวัดไม่ค่อยได้นั่นแหละ ความรู้สึกและอารมณ์ของเราก็เช่นเดียวกัน ตัวอย่างง่าย ๆ เวลาเรารู้สึกดีกับใครคนหนึ่ง บางทีเรายังแยกไม่ออกเลยว่าความรู้สึกนี้คือ ชอบ รัก หรือชื่นชมกันแน่?  

ทุกอาการ ความรู้สึก และอารมณ์ ต่างมีองค์ประกอบของตัวมันเอง เพียงแต่เราต้องสังเกตตัวเองให้มากสักหน่อย ว่าส่ิงที่เกิดขึ้นกับเราในตอนนี้เป็นแบบไหน ยิ่งสังเกตตัวเองได้มากขนาดไหน ยิ่งทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น ในส่วนของวันนี้เราจะพาทุกคนมาสำรวจตัวเอง และมาดูความแตกต่างระหว่าง “ความเครียด” และ “ความวิตกกังวล” ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร และเราจะรับมือกับความรู้สึกเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

เรียนรู้ “ความเครียด” 

ความเครียด (Stress) เป็นการตอบสนองของร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยภายนอกหรือความท้าทายเข้ามาคุกคาม เช่น ตารางงานที่แน่นมาก ธุรกิจที่ทำมีปัญหา แฟนนอกใจ ไปจนถึงเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี โลกจะแตก ก็สามารถทำให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน 

อาการเบื้องต้นของความเครียด ในด้านสภาพจิตใจ เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้นแล้ว เรามักรู้สึกไม่มั่นใจ วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน เมื่อความเครียดอยู่กับเรานานเข้า สามารถส่งผลให้เกิดอาการเบื่ออาหาร ไม่สดใสร่าเริง ทำให้ร่างกายรู้สึกตึงเครียด ปวดหัว ความดันโลหิตสูงขึ้น นอนไม่หลับ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมและการแสดงออกของเราได้ เช่น เริ่มหาที่พักพิงทางใจโดยใช้การเสพติด ไม่ว่าจะเป็นเสพติดแอลกอฮอล์ บุหรี่ ไปจนถึงยาเสพติด และอาจมีการหนีความเครียดด้วยการทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น เพิกเฉยหน้าที่ของตัวเอง ไม่สนใจคนรอบข้าง เป็นต้น

และถ้าหากปรับตัวกับความเครียดไม่ได้ ความเครียดที่มีอาจปรับเปลี่ยนไปเป็นความวิตกกังวลได้ในอนาคตอีกด้วย

ทำความรู้จัก “ความวิตกกังวล” หรือ “ความกังวล” 

ความวิตกกังวล (Anxiety) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ลงมาหน่อยเป็นความกังวล เป็นอารมณ์ที่เกิดจากความไม่พอใจ รู้สึกไม่มั่นใจและไม่มั่นคงต่ออนาคตที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายในของเราที่ตอบสนองด้วยการคิดและจำลองสถานการณ์จำนวนมหาศาล เพื่อรับมือกับทุกความเป็นไปได้ที่ “อาจ” เกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยภายนอกหรือสถานการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้เข้ามา เช่น เปลี่ยนงาน ก็มีความกังวลมาว่าเพื่อนร่วมงานจะไม่ชอบ  

อาการเบื้องต้นของความวิตกกังวล อย่างแรกเลยคือเรื่องความคิดและเรื่องอารมณ์ คือมีความกังวลเกิดขึ้น อารมณ์แปรปรวน มีความเครียด และมีความคิดเกี่ยวกับอนาคต อาจนึกถึงเรื่องแย่ที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น ย้ายงาน กลัวโดนเพื่อนร่วมงานเกลียด เป็นต้น ถ้าความวิตกกังวลเกิดขึ้นนาน ๆ เข้า จะส่งผลให้ร่างกายตึงเครียดตามไปด้วย นอนไม่หลับ รู้สึกไม่ผ่อนคลาย เบื่ออาหาร ซึ่งพอร่างกายกับใจเริ่มรู้สึกไม่ดีแล้ว จะทำให้ความคิดและการแสดงออกของเราแย่ลงไปด้วย เช่น ทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ ตัดสินใจได้แย่ลง รวมไปถึงแสดงอาการที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่คุยกับใครเลย ไม่กล้ารับมือกับสิ่งที่ทำให้เกิดความกังวล 

ความกังวลที่เรายกตัวอย่างในครั้งนี้เป็นเพียงสภาวะอารมณ์ ไม่ใช่โรควิตกกังวล ซึ่งถ้าหากมีอาการจนถึงขั้นเป็นโรคแล้วนั้น มันจะมีคำนิยามที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น มีการวัดผลที่ละเอียดมากขึ้น และจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์เพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลวินิจฉัยที่แม่นยำ

“ความวิตกกังวล vs ความเครียด” แยกยังไงดี

จากเนื้อความข้างบน เราคงเห็นกันแล้วว่า  ทั้งความวิตกกังวลและความเครียดเป็นสองสิ่งที่มีความคล้ายกันมาก ๆ โดยเฉพาะอาการเบื้องต้นที่แทบจะเหมือนกันเลย เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มีอารมณ์แปรปรวนง่าย เป็นต้น อีกทั้งความเครียดอาจพัฒนาเป็นความกังวลได้ แล้วมันจะต่างกันยังไงนะ? 

เราจะมาชี้ข้อแตกต่างให้ดูกัน 3 ข้อ ดังนี้

1. นิยามที่แตกต่างกัน

ความวิตกกังวล ≠ ความเครียด ตามนิยามของทั้งสองอย่างนี้แล้ว ความวิตกกังวลเป็น “สภาวะอารมณ์” ที่เกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยภายนอกเข้ามา แต่ความเครียดเป็น “การตอบสนองของร่างกาย” เมื่อมีความท้าทายเข้ามา 

2. ระยะเวลาที่เกิด

จาก PsychCentral (2022) ระบุว่า ความเครียดมักเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ มากกว่า ในขณะที่ความวิตกกังวลสามารถเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ และถ้าหากความเครียดถูกสะสมและเกิดเป็นระยะนาน ๆ เข้า หรือที่เรียกว่า ความเครียดเรื้อรัง (Chronic Stress) ก็สามารถทำให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นมาได้อีกด้วย

3. ปัจจัยที่เข้ามากระตุ้น

ทั้งความเครียดและความวิตกกังวลมีการพูดถึงสาเหตุที่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามา แต่ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อความเครียดและความวิตกกังวลนั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่เล็กน้อย โดยในความเครียดนั้นจะเกิดจากปัจจัยที่ชัดเจนเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่น เรื่องงาน เรื่องสุขภาพ เรื่องความรัก ในขณะที่ความวิตกกังวลนั้นเกิดจากปัจจัยที่กว้างกว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความเป็นไปได้ เช่น มีความกังวลเรื่องการเปลี่ยนงาน จนพาลให้เรากังวลเรื่องการเดินทางว่าอาจใช้เวลานานขึ้น เพื่อนร่วมงานอาจไม่ชอบเรา บอสอาจจะไม่น่ารัก เป็นต้น

สุดท้ายนี้ การมีความเครียดและความวิตกกังวลเกิดขึ้นในชีวิตนั้นเป็นเรื่องปกติเมื่อมีในปริมาณที่ไม่มากเกินไป และในบางครั้ง ความเครียดและความวิตกกังวลนี่แหละเป็นส่วนที่ทำให้เราผลักดันตัวเองให้ดีขึ้นและฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ แต่ถ้าหากเริ่มรู้สึกว่าความเครียดหรือความวิตกกังวลเริ่มส่งผลให้เราใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่ปกติแล้วนั้น เช่น เริ่มนอนไม่หลับเป็นสัปดาห์ ไม่อยากอาหารเลย กินอะไรก็ไม่อร่อย ไม่อยากคุยกับใคร เราแนะนำให้เข้าพบนักจิตวิทยาและจิตแพทย์เพื่อหาทางออกให้กลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้อีกครั้ง

กายป่วยได้ ใจป่วยได้ แต่ก็หายได้เช่นกัน 

อ้างอิง

Lovering, N. (2022, October 13). Stress vs. Anxiety. Psych Central.

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2023, January 20). Stress – ความเครียด.

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2022, December 1). Anxiety – ความวิตกกังวล.