พวกเราทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับความเครียดกันดี เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นคนวัยไหนหรืออายุเท่าไหร่ ความเครียดก็ไม่เลือกที่เกิด ไม่ว่าใครก็เครียดได้ จินตนาการถึงตอนเราเป็นเด็กอนุบาล เรามักได้ยินเรื่องเล่าจากพ่อแม่มาเสมอว่า วันแรกของการไปโรงเรียนมักเป็นวันที่เราร้องไห้ขี้มูกโป่งอยากกลับบ้าน ซึ่งนั่นคือเราในร่างจิ๋วรู้สึกเครียดจากการต้องไปทำความรู้จักกับสภาพแวดล้อมใหม่ ซึ่งในที่นี้คือโรงเรียนนั่นเอง เช่นเดียวกับตัวเราในวัยผู้ใหญ่ การไปทำงานที่ใหม่วันแรกก็สร้างความตื่นเต้นและความประหม่าได้ไม่แพ้กัน จนเราอาจง่วนอยู่กับความคิดที่ว่า เจ้านายจะดุไหม? เพื่อนร่วมงานจะน่ารักกับเราไหม? งานที่ได้จะตรงตาม JD หรือเปล่า? แต่แน่นอนว่าถ้าเราเกิดเครียดขึ้นมาจากการเข้าออฟฟิศวันแรก เราคงไม่ได้ร้องไห้ให้ใครเห็นที่ออฟฟิศหรอก แต่เราจะแสดงพฤติกรรมด้านอื่น ๆ ออกมาแทนเพื่อรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้น
ดังนั้นแล้ว ความเครียดนี่แหละ เป็นหนึ่งในสิ่งที่ไม่ว่าใครก็หนีไม่พ้นจริง ๆ วันนี้เราจึงจะมาจับเข่าพูดคุยกันถึงเรื่องของ “ความเครียด” กันให้มากขึ้น
ความเครียดคืออะไร? มาจากไหน?
จาก พจนานุกรมของ APA (2018) ได้ระบุความหมายของ ความเครียด (Stress) ไว้ว่า ความเครียดเป็นการตอบสนองทางร่างกายและทางจิตใจต่อสิ่งเร้าภายนอกและภายในที่มากระตุ้นความเครียด ซึ่งสิ่งเร้าเหล่านี้ก็มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล เช่น สภาพแวดล้อม อาจมีเสียงดังเกินไป หรือมีความกดดันจากการทำงาน คำพูดไม่ดีของคนใกล้ตัว ไปจนถึงสิ่งเร้าภายใน เช่น โดยพื้นฐานเป็นคนกังวลง่ายอยู่แล้ว เมื่อมีปัญหาเข้ามาก็ส่งผลให้เกิดความกังวลได้ง่ายขึ้นมากกว่าปกติ เป็นต้น
.
ความเครียดเกิดขึ้นเมื่อเรารับรู้ได้ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับเรานี้เป็นการคุกคาม ไม่ปลอดภัย และทำให้ชีวิตของเราไม่สมดุล หากเรายังแก้ปัญหาไม่ได้ ก็สามารถทำให้ความเครียดยังคงอยู่กับเราต่อไปจนกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง (Chronic Stress) ที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาวได้
ไม่เพียงแต่ความเครียดเรื้อรังเท่านั้นที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ความเครียดเพียงเล็กน้อยหรือชั่วคราวก็ส่งผลต่อตัวเราและพฤติกรรมที่เราแสดงออกได้เช่นกัน ดังนี้
อาการทางกายเมื่อเกิดความเครียด
- หายใจไม่ทั่วท้อง หายใจลำบาก
- หัวใจเต้นเร็ว
- เหงื่อออกที่มือมากขึ้น
- ร่างกายสั่น มือสั่น ตัวสั่น
- พูดติด ๆ ขัด ๆ
- รู้สึกปวดตัวหรือตามร่างกาย
- เวียนหัว ปวดหัว
- รู้สึกล้ากว่าปกติ
- น้ำหนักลด ไม่อยากอาหาร
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- อาการป่วยที่เป็นอยู่หรืออาการของโรคประจำตัวมีอาการหนักขึ้น
อาการทางใจเมื่อเกิดความเครียด
- รู้สึกไม่พอใจต่อสิ่งรอบตัวได้ง่าย
- มีความรู้สึกกังวลหรือกลัว
- รู้สึกเยอะกว่าปกติ
- ซึมเศร้า ไม่สนใจเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต
- คิดมาก
- โดดเดี่ยว เก็บตัว
วิธีจัดการกับความเครียดเบื้องต้น
ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายและพบเจอได้ทั่วไปตามปกติก็จริง แต่ความเครียดก็เป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม และควรมองหาวิธีจัดการกับความเครียดที่เหมาะสมกับตัวเราให้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเราเองมีปัญหาสุขภาพจิตหรือกลายเป็นมีความเครียดเรื้อรังในอนาคต
- ดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรง
การดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ และทานอาหารที่มีประโยชน์ หลักการดูแลร่างกายง่าย ๆ เพียงเท่านี้ก็ส่งผลให้ตัวเราเองคลายเครียดและมีสุขภาพจิตที่สดใสอยู่เสมอได้แล้ว
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
เพราะการนอนหลับส่งผลต่อความคิดและความรู้สึกของเราได้โดยตรง การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยให้เรารู้สึกกระปรี้กระเปร่าพร้อมรับมือกับปัญหาในแต่ละวันได้อย่างมีสติ
- จัดสรรเวลาให้สิ่งที่ชอบ
ชีวิตคนเราไม่ได้มีเพียงแค่งาน แต่ยังมีมุมอื่น ๆ การได้ทำกิจกรรมที่ชอบหรือทำงานอดิเรกจะช่วยให้เราได้กลับมาใช้เวลากับตัวเอง ได้พูดคุย ถามไถ่ และดูแลตัวเองมากขึ้น ซึ่งการทำความเข้าใจตัวเองตรงนี้จะช่วยให้เรารู้จักสร้างความสุขให้กับตัวเองมากขึ้น นำไปสู่การจัดการตัวเองและจัดการความเครียดได้อย่างง่ายดาย
- พูดคุย ขอความช่วยเหลือ
เราทุกคนไม่ได้เกิดมาตัวคนเดียว เรายังมีคนอื่นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก ครอบครัว พ่อแม่ เพื่อนที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งนักจิตวิทยาก็ตาม เวลาที่เกิดเรื่องเครียดขึ้นเราสามารถไปพูดคุยกับพวกเขาได้ นอกจากจะได้คลายเครียดผ่านการพูดคุยแล้ว ยังช่วยทำให้เราสนิทกันมากขึ้นได้อีกด้วย
- ฝึกสติ Mindfulness จัดการความเครียด
กิจกรรมการฝึกสติอย่างเช่น การนั่งสมาธิ การเดินเล่น การจดบันทึก การทำโยคะ เป็นต้น ช่วยให้เราได้พักจากเรื่องเครียดที่เกิดขึ้น และช่วยให้เราได้มาใช้เวลาในปัจจุบัน ซึ่งการใช้เวลากับตัวเองในปัจจุบันจะช่วยให้เราได้พักจากเรื่องเครียด และมันมักนำวิธีการแก้ปัญหามาให้เราได้อีกด้วย เพียงแค่มีสติ ทุกอย่างก็จัดการได้อย่างแน่นอน
เพราะเราล้วนหนีความเครียดกันไม่ได้ แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันและจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสมด้วยวิธีของเราได้ อย่ากลัวไปเลย คุณจัดการมันได้!
อ้างอิง