“เด็กติดจอ” ปัญหาเด็ก ๆ ที่ไม่เล็กของพ่อแม่ยุคใหม่

a tourist kids playing on the smartphone

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกวันนี้ บรรดาเทคโนโลยีทั้งหลายอย่างสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญสำหรับทุกคน ทั้งวัยผู้ใหญ่ที่ต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้เพื่อให้การทำงานสะดวกขึ้น วัยเรียนที่หันมาใช้แท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์หลักในการศึกษา รวมไปถึงเด็กเล็ก ๆ วัยแรกเกิดจนถึง 5 ขวบ ที่ได้ใช้สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตในฐานะเป็น “เพื่อนแก้เหงา” เมื่อพ่อแม่ยุ่งจากงานนั่นเอง

จริง ๆ แล้วพฤติกรรมเสพติดหรือให้ความสนใจกับอย่างใดอย่างหนึ่งนานเกินไปเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำในทุก ๆ ยุคอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าสิ่งที่ทำให้คนเสพติดนั้นเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย อย่างก่อนหน้านี้ ผู้ใหญ่วัย Millennial หลาย ๆ คนน่าจะเติบโตมากับการดูทีวี และครั้งหนึ่งเคยมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “TV Addiction” เป็นการเสพติดการดูทีวีตลอดระยะเวลาหลายชั่วโมง แน่นอนว่า การเสพติดการดูทีวีจนไม่เป็นอันทำอะไรเนี่ย อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้น หรือ ADHD ขึ้นมาได้ ซึ่งไม่ต่างจากสิ่งที่เด็กรุ่น Alpha ในตอนนี้กำลังเผชิญอยู่เลย แน่นอนว่ามันมีผลทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นจริง จากหลาย ๆ งานวิจัยกล่าวไว้ว่า การที่เด็ก ๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับอุปกรณ์เหล่านี้จะทำให้มีพัฒนาการที่ไม่ดีเท่าไรนัก นอกจากร่างกายไม่ได้พัฒนา ด้านสติปัญญาก็ไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างพอเหมาะเช่นเดียวกัน 

สาเหตุหลักที่ทำให้สมาร์ตโฟนกลายเป็นตัวร้ายในเรื่องนี้ คือการที่เราปล่อยให้เด็ก ๆ ใช้เวลากับอุปกรณ์เหล่านี้นานและมากเกินไป ซึ่งขัดกับพัฒนาการของช่วงวัยที่ควรได้มีการขยับร่างกายและออกไปเล่นข้างนอก เพราะเด็ก ๆ วัยนี้มีความต้องการที่จะเรียนรู้โลกภายนอกมากขึ้น พวกเขาควรได้สำรวจโลกโดยมีพ่อแม่ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การได้ออกไปเล่นข้างนอกยังช่วยให้พวกเขาได้ออกกำลังกายและฝึกฝนทักษะการเข้าสังคมอีกด้วย ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่การที่พวกเขาถูกปล่อยให้อยู่กับสมาร์ตโฟนโดยไร้การควบคุมดูแลนั้นเป็นสิ่งที่หยุดพวกเขาจากพัฒนาการในส่วนนี้ไป นอกจากนี้ ในด้านร่างกาย ยังส่งผลให้ร่างกายล้าได้ เช่น ปวดหัว ตาล้า ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้อาจส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลได้อีกด้วย หากปล่อยให้เด็ก ๆ อยู่กับจอนาน ๆ เข้า อาจทำให้เด็ก ๆ ไม่รู้จักการควบคุมตัวเองไปด้วยก็ได้ เพราะการรู้จักควบคุมเวลาใช้อุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้รู้จักกับ “วินัย” ที่เป็นอีกหนึ่งสิ่งในการใช้ชีวิตในวันข้างหน้าเช่นกัน 

a girl playing game on smartphone

ทีนี้ เรามาดู อาการของเด็กที่ติดสมาร์ตโฟน กันหน่อยดีกว่าว่าพวกเขามีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้แกัปัญหาได้ทันท่วงที

  • ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับสมาร์ตโฟนอย่างเดียว ไม่ทำอะไรเลย
  • ควบคุมตัวเองเวลาอยู่กับสมาร์ตโฟนไม่ได้ 
  • เริ่มมีอารมณ์ฉุนเฉียว ถ้าเราแยกเขาออกจากสมาร์ตโฟน
  • ละเลยกิจวัตรประจำวัน เช่น กินข้าว อาบน้ำ นอนหลับพักผ่อน เล่นกับคนในบ้าน 
  • ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง สมาร์ตโฟนเป็นสิ่งเดียวที่ดึงความสนใจไปได้

แต่ก็ใช่ว่าเรื่องนี้จะไม่มีทางแก้ Peace Please จะมาแนะนำ 5 วิธีช่วยป้องกันพฤติกรรมการติดจอ

1. ให้พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดี

เด็ก ๆ มักสังเกตพฤติกรรมพ่อแม่แล้วทำตามเป็นปกติ ถ้าลูก ๆ เห็นว่าพ่อแม่ใช้สมาร์ตโฟนตลอดทั้งวันเป็นปกติ เขาก็จะเข้าใจว่า เขาก็สามารถใช้ได้ทั้งวันเช่นกัน ดังนั้น พ่อแม่ควรหันมาสนใจพฤติกรรมของตัวเองให้มากขึ้นว่าเราใช้สมาร์ตโฟนบ่อยไปหรือเปล่า เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีใหักับลูกนั่นเอง

2. ใช้เวลาด้วยกันให้มากขึ้น

ให้ลูกจับสมาร์ตโฟนให้น้อยลงได้โดยการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ดูการ์ตูน ออกกำลังกาย อ่านนิทานร่วมกัน ทานอาหารด้วยกัน หรือพาไปเที่ยวข้างนอก เป็นต้น จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ออกไปทำอย่างอื่น และได้ฝึกพัฒนาการด้านอื่น ๆ ไปในตัวด้วย เช่น ด้านร่างกายที่ได้ออกกำลังกายผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้านจิตใจที่พบเจอสิ่งใหม่ ๆ ให้เรียนรู้ และด้านการเข้าสังคม จะได้เห็นคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ในครอบครัวมากขึ้น

3. จัดเวลาการใช้สมาร์ตโฟน

ในเด็กเล็กไม่ควรมีการใช้สมาร์ตโฟนอยู่แล้ว แต่เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป พ่อแม่อาจเริ่มให้หันมาใช้สมาร์ตโฟน แต่ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง ดังนั้น จึงควรมีการบอกลูกและตั้งระบบสมาร์ตโฟนให้ล็อกแอปพลิเคชั่นเมื่อมีการใช้งานเกินเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ออกไปทำกิจกรรมอื่นบ้าง 

a girl kid in enjoys nature

4. เก็บสมาร์ตโฟนไว้ให้ไกล

ไม่ควรเก็บสมาร์ตโฟนไว้ในห้องนอนหรือพื้นที่ที่เด็ก ๆ สามารถหยิบจับได้โดยง่าย เพราะพวกเขาอาจหยิบไปดูหรือไปเล่นได้ตามใจชอบ จึงควรมีการจัดเก็บสมาร์ตโฟนที่เหมาะสม ให้อยู่ในสายตาผู้ปกครอง

5. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

หากพฤติกรรมการติดจอนั้นเกินจะเยียวยาแล้ว การเข้าพบขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยาพัฒนาการ จิตแพทย์ นั้นเป็นทางเลือกที่ควรทำ เพื่อปรับพฤติกรรมเด็ก ๆ ไม่ให้ส่งผลร้ายต่อเขาในอนาคตได้

เห็นไหมว่า เจ้าอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์เหล่านี้ ถ้าไม่มีการจำกัดการใช้ดี ๆ ก็ส่งผลเสียให้กับเด็ก ๆ ได้มากกว่าที่คิด มากกว่าพวกเราที่เป็นผู้ใหญ่เสียอีก เพราะอย่างน้อยเรายังควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ของเราได้ แต่เด็ก ๆ ที่ไม่ได้รับการดูแลจากผู้ปกครองละก็ พวกเขาก็จะอยู่กับมันไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ ตามมาด้วยผลเสียทั้งร่างกาย จิตใจ และทักษะการใช้ชีวิตต่าง ๆ เลยทีเดียว อย่าปล่อยให้เด็ก ๆ ติดจอละ

อ้างอิง

Electronic devices and their influence on child development. (n.d.). Education.