#Sharenting เป็นคำที่เกิดจากการรวมคำว่า Share (การแชร์ การแบ่งปัน) และ Parenting (ผู้ปกครอง การเลี้ยงลูก) พอรวมเข้าด้วยกัน จึงกลายเป็นคำที่มีความหมายเชิงว่า ผู้ปกครองที่ชอบแชร์ ซึ่งไว้ใช้เรียกกลุ่มผู้ปกครองที่มักชอบแชร์เรื่องราวของลูกบนโซเชียลมีเดียมากเกินไปนั่นเอง
ถึงแม้หลาย ๆ คนจะมองว่า การแชร์เรื่องลูกบนโซเชียลไม่น่าผิดอะไร ทำไมต้องกังวลด้วย จริง ๆ เรื่องราวคล้าย ๆ กันนี้เรามักได้ยินมาจากตัวอย่างคนดังหลายคน ทั้งทางฝั่งที่เป็น Sharenting และทางฝั่งที่กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของลูก
สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงคือ ความเป็นส่วนตัวของลูก ในตอนที่ลูกยังเด็ก เราในฐานะผู้ปกครองมองว่า พวกเราเองมีสิทธิ์ในตัวพวกเขาอย่างเต็มที่ เพราะพวกเขายังไม่สามารถตัดสินใจได้เอง ในวัยเด็กเล็กเราจำเป็นต้องรับผิดชอบสิ่งเหล่านี้จริง การแชร์ทำได้ แต่ควรแชร์อย่างพอเหมาะและมีขอบเขต แต่เมื่อเขาเริ่มโตขึ้น เริ่มคิดได้ เริ่มมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง วันใดวันหนึ่งเขาอาจเดินเข้ามาบอกว่า “หนู/ผมไม่ชอบที่พ่อแม่ทำแบบนี้” ไม่ชอบที่พ่อแม่ชอบถ่ายรูปไปแชร์ เราจำเป็นที่จะต้องเคารพความคิดเห็นตรงนี้ของเขา และเคารพความเป็นส่วนตัวเขาให้มากขึ้น การที่ผู้ปกครองเป็นคนชอบแชร์ ไม่ได้แปลว่าลูกต้องชอบไปด้วย เขาอยากอยู่ของเขาเงียบ ๆ อยู่ในพื้นที่ของเขา เราจำเป็นต้องเคารพตรงนั้น แต่ถ้าเราอยากโพสต์จริง ๆ ก็ลองถามเขาก่อน ขอ Consent (ความยินยอม) จากลูก จะได้เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย
อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรพึงระลึกไว้ก็คือ โซเชียลมีเดียมันมีความน่ากลัวของมันอยู่ ด้วยความที่มันเป็นพื้นที่สาธารณะ และผู้คนมักรู้สึกถึงความอิสระในการแสดงออกมากกว่าโลกความเป็นจริง สิ่งที่อาจตามมาคือ มีคนแปลกหน้าเข้ามาพูดถึงลูกเราอย่างไรก็ได้ หนึ่งในนั้นอาจมีการบูลลี่ (Cyberbullying) เกิดขึ้น เช่น พูดไม่ดีกับลูกเรา บอกว่าหน้าตาไม่ดี ทำไมทำแบบนั้น ไม่เก่งแบบนั้น ซึ่งเราจะเห็นจากตัวอย่างเหล่าลูก ๆ ของคนดังได้เลยว่าพวกเขาเจอชาวเน็ตบูลลี่สารพัดเลย เรื่องแบบนี่ผู้ใหญ่แบบเรา ๆ ยังเจอ นับประสาอะไรกับเด็ก
นอกจากเรื่องการบูลลี่แล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่น่ารังเกียจไม่แพ้กันคือ พวกคลั่งเด็ก (Pedophile) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กไปจนถึงวัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ การคลั่งในที่นี้คือเชิงชู้สาวเลย (น่ากลัวใช่ไหมละ) ในชีวิตจริงพวกเขาอาจลวนลามเด็ก ไปจนถึงบังคับให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ด้วย ส่วนในโลกอินเทอร์เน็ตพวกเขาอาจทำเรื่องไม่ดีผ่านการใช้ภาพของเด็กหรือใช้จินตนาการจากการดูวิดีโอที่มีเด็ก ๆ ในการสำเร็จความใคร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ๆ ดังนั้น ควรคิดก่อนโพสต์ให้ดี เพราะอาจมีพวก Pedophile จ้องคิดไม่ดีกับลูกเราก็เป็นได้
อีกหนึ่งอย่างสุดท้ายเป็นการทิ้งท้าย อดีตลบไม่ได้ฉันใด Digital Footprint ก็อยู่ยืนยงฉันนั้น Digital Footprint เป็นเหมือนเศษซากความทรงจำ เศษซากของตัวตน ที่ล่องลอยอยู่ในโซเชียลมีเดียของเรา ตอน 5 ปีที่แล้วเราอาจเป็นคนที่ชอบโพสต์ด่ากราดคนอื่น แต่เวลาผ่านไป เราอาจเปลี่ยนไปแล้ว แต่ Digital Footprint ก็ยังคงอยู่ วันดีคืนดีอาจมีคนมาขุดค้นและทำให้ภาพลักษณ์ของเราเสียก็ได้ ทั้ง ๆ ที่เราเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับเรื่องการแชร์เรื่องราวของลูก ผู้ปกครองอาจแชร์เรื่องราวตลก ๆ ของลูกในสมัยที่ยังเด็กออกไป แชร์โดยที่พวกเขาไม่รู้เรื่อง โตมาเขาอาจจะไม่ชอบ แต่ถ้าผู้ปกครองไม่ยอมลบ เรื่องราวตลก ๆ แบบนั้นก็อาจอยู่เป็น Digital Footprint ให้ลูกอับอายก็เป็นได้
เรื่องราวเหล่านี้มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย เราสามารถเรียนรู้จากเคสของคนดังได้ เช่น เคสของคุณปุ้มปุ้ยที่เป็นที่ถกเถียงในเรื่องการเปิดหน้าลูกในช่วงหนึ่ง หรือเคสของคุณตุ๊กที่ถ่ายคอนเทนต์ร่วมกับลูก ๆ ก็ตาม แต่ละคนก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป แต่เราอยากให้ระลึกไว้เสมอว่า แชร์ได้ แต่แชร์ให้พอดี อย่าให้มันกระทบตัวลูกในอนาตต