ตลอดช่วงชีวิตเราทุกคนคงไม่มีใครไม่เคยทำผิดพลาด เราชดเชยความผิดพลาดในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ตัวเองได้ก้าวผ่านความรู้สึกผิดไปได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการกระทำ หรือคำพูด เช่น กล่าวขอโทษต่อคู่กรณี แต่สำหรับบางคน “การโทษตัวเอง” เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่า ความผิดนั้นกำลังถูกชดเชยอยู่ และเขาสมควรได้รับโทษนั้น
การลงโทษตัวเอง (Self-Punishment) เกิดได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การพูดจาว่าร้ายกับตัวเอง จมปลักกับความรู้สึกแย่ๆ ไปจนถึงการทำร้ายร่างกายตัวเอง ทั้งที่เรารู้ว่ามันไม่ดี แล้วทำไมหลายคนยังเลือกที่จะลงโทษตัวเองกันล่ะ?
- เชื่อว่าการลงโทษตัวเองจะทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น
หลายคนมองว่าการได้รับความเจ็บปวด (ทั้งทางกาย และทางใจ) จะช่วยชำระล้างบาป เพราะการที่จะเป็นคนที่ดีขึ้นได้ เขาต้องได้รับโทษจากความผิดพลาดอย่างสาสมเสียก่อน
- เชื่อว่าเราสมควรถูกลงโทษ
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านไปแล้ว แต่ความรู้สึกผิด และความละอายไม่จางหายไปตาม ความรู้สึกผิดเป็นผลที่สืบเนื่องจากการกระทำ แต่ความละอายเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า เช่น ไม่มีค่าพอที่จะได้รับการอภัย ไม่มีค่าพอที่จะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายต่อไป การลงโทษตัวเองจึงเป็นสิ่งที่เขาสมควรได้รับ
- ลงโทษตัวเองเพื่อล้างความรู้สึกผิด
ในบางความผิดที่ไม่สามารถชดเชยความผิดพลาดได้ หรือสารภาพความผิดออกมาได้ การลงโทษตัวเองเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ความรู้สึกผิดน้อยลง
การลงโทษตัวเองช่วยให้เราก้าวผ่านความรู้สึกผิด และอยากจะเป็นคนที่ดีขึ้นก็จริง แต่บางครั้งมันไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป ที่สำคัญอาจให้ผลร้ายมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะนอกจากการลงโทษตัวเองจะไม่ได้ช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ทั้งหมดแล้ว มันกลับยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกละอายต่อตัวเอง และมองเห็นคุณค่าในตัวเองลดลง ดังนั้นวิธีการก้าวผ่านความรู้สึกผิดที่มีประสิทธิภาพมากกว่า คือการมี Self-compassion อ่อนโยนต่อตัวเอง น้อมรับความผิดพลาดด้วยความเป็นกลาง ควรมองว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ และโฟกัสไปที่ศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเอง Self-compassion จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดที่ฝังลึกในใจ และเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง และยิ่งเรามี Self-compassion เราจะเชื่อว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น