ถ้าให้เอ่ยชื่อโรคจิตเวชที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ที่คนไทยเป็นกันมากที่สุด แน่นอนว่า โรคยอดฮิตที่หลาย ๆ คนนึกถึงต้องมีโรคที่คุ้นชื่ออย่างโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคแพนิก โรคอารมณ์สองขั้ว (หรือโรคไบโพล่าร์) โรค PTSD เป็นต้น แต่จะมีโรคหนึ่งที่หลาย ๆ คนนึกถึงไม่ถึงและอาจไม่คุ้นชื่อสักเท่าไรนัก นั่นก็คือ “โรคจิตเภท” หรือ Schizophrenia ที่คนไทยเป็นกันมากจนติดอันดับโรคจิตเวชในทุก ๆ ปีเลยทีเดียว
วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ โรคจิตเภท หรือ Schizophrenia ให้มากขึ้นกัน
โรคจิตเภท Schizophrenia คืออะไร?
โรคจิตเภท หรือ Schizophrenia เป็นโรคจิตเวชที่มีความผิดปกติทางด้านการรับรู้ มีอาการหลงผิด ด้านอารมณ์ ด้านความคิด ด้านการแสดงออก และการเข้าสังคม อาทิ คิดว่าตัวเองอยู่ในโลกแฟนตาซี คิดว่าตัวเองโดนปองร้าย มีการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่น อย่างเช่นมีการใช้อาวุธ มีปัญหาด้านการสื่อสารกับผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้มักเห็นการนำไปเผยแพร่เพื่อแทนความผิดปกติทางจิตในสื่อหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่นในละครไทยที่มีการนำเสนอตัวละครที่มีอาการหลงผิด พูดไม่รู้เรื่อง คล้ายกับมีการสื่อสารกับสิ่งที่มองไม่เห็นอยู่ตลอดเวลา
จากสถิติทั่วโลกแล้ว โรคจิตเภทเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก จากรายงานของ WHO (World Health Organization) พบผู้ป่วยโรคจิตเภทคิดเป็น 0.32% หรือพบผู้ป่วยโรคจิตเภท 1 คนในทุก ๆ 300 คนทั่วโลก และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอีกด้วย สำหรับในประเทศไทย จากรายงานของ ThaiPublica พบว่า ในปี พ.ศ. 2563 พบผู้ป่วยจิตเภทในไทยที่เข้ารับการรักษาทางการแพทย์เป็นจำนวน 55,811 คน ซึ่งนับว่าเป็นโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยเป็นอันดับหนึ่งในปีดังกล่าว แต่ยังไม่นับรวมผู้ป่วยอีกมากที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาทางการแพทย์อีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่า จำนวนผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษามีอยู่มากเป็นจำนวนหนึ่งเลยทีเดียว
โรคจิตเภทเกิดจากความผิดปกติทางด้านร่างกาย เช่น กรรมพันธุ์ที่ส่งต่อกันภายในครอบครัว หากสมาชิกครอบครัวใดป่วยเป็นโรคจิตเภท ก็มีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีลูกหลานป่วยเป็นโรคจิตเภทอีก หรือเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง โครงสร้างสมองที่มีความผิดปกติ รวมถึงได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมหรือสังคมที่อาศัยอยู่ เช่น ได้รับสารเสพติดเกินขนาดมาเป็นระยะเวลานาน มีบาดแผลทางด้านจิตใจที่ไม่ได้รับการแก้ไขหรือดูแล เป็นต้น
ในแง่หนึ่ง ผู้ป่วยบางรายที่ไม่ได้รับการตรวจหรือวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคทางจิตเภท อาจมีการแสดงออกหรือมีพฤติกรรมเหมือนคนเห็นผี หรือเหมือนกับร่างทรง ที่มีการพูดคุยกับสิ่งที่มองไม่เห็นและมีการแสดงออกที่แปลกไปจากปกติ ทั้งนี้ ควรมีการวินิจฉัยอาการเพื่อเข้ารับการรักษาร่วมกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาอย่างเหมาะสมต่อไป
สรุปสาเหตุของการเกิดโรคจิตเภท Schizophrenia
- กรรมพันธุ์
- ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง
- โครงสร้างสมองที่ผิดปกติ
- อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสังคมที่แย่มาเป็นระยะเวลานาน
อาการของโรคจิตเภท Schizophrenia
จาก DSM-5 หรือ คู่มือวินิจฉัยอาการผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 ที่จิตแพทย์และนักจิตวิทยาใช้ในการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ได้ระบุถึง 5 อาการของโรคทางจิตเภทไว้ ดังนี้
- อาการหลงผิด (Delusions)
อาการหลงผิด หรือ Delusion ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยมีความคิดหรือความเชื่อที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น คิดว่าจะมีคนมาปองร้าย คิดว่ามีคนมาหลงรัก คิดว่ามีมนุษย์ต่างดาวบุกโลกและตัวเองเป็นฮีโร่ที่ต้องไปกู้โลก เป็นต้น โดยต้องมีระยะของอาการ 1 เดือนขึ้นไปถึงนับว่าเป็นความผิดปกติได้
อาการหลงผิดนี้ยังมีประเภทแยกย่อยลงไปอีก 6 ประเภท ได้แก่
- หลงผิดคิดว่ามีคนมารัก (Erotomanic Delusion)
- หลงผิดคิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น (Grandiose Delusion)
- หลงผิดคิดว่าคนรักนอกใจ (Jealous Delusion)
- หลงผิดคิดว่าโดนหมายหัว (Persecutory Delusion)
- หลงผิดคิดว่าตัวเองไม่สบาย (Somatic Delusion)
- หลงผิดอื่น ๆ (Mixed or Unspecified Delusion)
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อาการหลงผิด หรือ Delusions
- อาการประสาทหลอน (Hallucinations)
อาการประสาทหลอน หรือ Hallucinations เป็นอาการที่ผู้ป่วยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยที่ในความเป็นจริงไม่ได้มีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดการรับรู้ หรือมีอาการคิดไปเอง โดยอาการประสาทหลอนมีประเภทแยกย่อยลงไปตามประสาทสัมผัสของเรา เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน คิดไปเองว่าโดนสัมผัส เป็นต้น
- ความผิดปกติทางด้านการพูด (Disorganized Thinking (Speech))
การมีความผิดปกติทางด้านการคิดที่ส่งผลต่อการพูด หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการพูดไม่รู้เรื่อง มีความสับสนในคำพูดของตัวเอง โดยสิ่งที่ผู้ป่วยพูดจะไม่มีความสอดคล้องกับสิ่งที่คนทั่วไปพูด อาจมีการผสมคำขึ้นมาเอง เป็นต้น
- ความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว (Grossly Disorganized or Abnormal Motor Behavior (Including Catatonia))
เป็นการแสดงพฤติกรรมหรือมีการเคลื่อนไหวที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ซึ่งพฤติกรรมที่ผู้ป่วยแสดงออกจะมีตั้งแต่การแสดงออกเหมือนเด็ก ไปจนถึงการเคลื่อนไหวที่เราคาดเดาไม่ได้ หรือมีอาการแข็งทื่อไม่เคลื่อนไหว (Catatonia) ที่เกิดจากการทำงานของระบบกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ อาจมีการนั่งเหม่อ ไม่ขยับตัว ไปจนถึงอยู่ไม่สุขหรืออยู่ไม่เป็นที่โดยไม่มีสาเหตุ
- อาการอื่น ๆ (Negative Symptoms)
เป็นอาการอื่น ๆ ที่ไม่ได้พบบ่อยหรือไม่ได้พบทั่วไปในผู้ป่วยโรคจิตเภท เช่น การไม่แสดงออกทางสีหน้าหรือการไม่แสดงอารมณ์ เช่น ไม่มีการสบตา ไม่แสดงสีหน้า ไม่มีการพยักหน้า เป็นต้น หรือมีอาการเฉื่อยชา ไม่อยากทำอะไรเลย หรือมีการตัดขาดจากสังคม ก็ด้วยเช่นกัน
การรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท Schizophrenia
ผู้ป่วยโรคจิตเภทจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างจริงจังร่วมกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักบำบัด และจำเป็นต้องทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง และเพื่อลดอาการป่วยให้ลดลง ซึ่งในกระบวนการรักษาก็จะมีแผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนไป เช่น บางคนมีอาการไม่หนักมาก อาจจำเป็นต้องทานยาเพียงบางตัวเพิ่มเติม หรือบางคนแสดงอาการค่อนข้างเยอะ จำเป็นต้องได้รับการบำบัดเพิ่มเติม หรือได้รับการฟื้นฟูเพิ่มเติมเพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมต่อไปได้ ทั้งนี้ ผู้ดูแลหรือครอบครัวจำเป็นต้องช่วยกันดูแลผู้ป่วยด้วยความเข้าใจอีกด้วย
สุขภาพจิต Mental Health คือภาวะของจิตใจเราที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตัวเราเอง เช่น ตัวตนของเรา ความคิดของเรา ความรู้สึกที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น การมองโล การมีความเข้าใจและรู้เท่าทันต่ออารมณ์และความรู้สึกของตนเอง รวมไปถึงมีการตระหนักรู้ว่าอารมณ์เชิงลบเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้สำหรับทุกคน รู้ว่าควรรับมือกับอารมณ์เชิงลบอย่างไรให้เหมาะสมกับตนเอง รวมถึงสิ่งรอบตัวต่าง ๆ ตั้งแต่อาหารการกิน การอยู่อาศัย ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ครอบครัว เพื่อน คนรัก เพื่อนที่ทำงาน เป็นต้น
เช็กปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นได้ที่นี่
อ้างอิง
โรคจิตเภท (Schizophrenia) | Bangkok Hospital. (n.d.).
Newell, T. (2024, March 12). Schizophrenia: An Overview. WebMD.