ไปที่ไหน ทำอะไร ใคร ๆ ก็ฟังเพลงเศร้ากันเป็นปกติ ไปกินสุกี้ร้านดังแห่งหนึ่งก็ชอบเปิดเพลงเศร้า ไปร้านเหล้าเขาก็เปิดเพลงเศร้า นั่งฟังเพลงคนเดียวก็เปิดเพลงเศร้าฟังเล่น ๆ ทำไมคนเราชอบฟังเพลงเศร้ากันนักนะ?
ถ้ามองด้วยเลนส์ของนักเสพศิลป์ การที่คนเราฟังเพลงเศร้าก็อาจมีสาเหตุมาจากความต้องการเสพเพลงเศร้าในฐานะงานศิลปะประเภทหนึ่งก็เป็นได้ เพื่อให้ตัวเราเองได้ซึมซับสุนทรียภาพทางอารมณ์ใหม่ ๆ และเป็นการได้ฟังเรื่องราวในเพลง ได้ฟังการตีความความรู้สึกเศร้าของศิลปินคนนี้ เป็นต้น ซึ่งการเสพงานด้วยเหตุผลเหล่านี้ ก็เป็นเหมือนกับการที่เราตั้งใจเดินดูงานศิลปะในแกลเลอรี่ไปเรื่อย ๆ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ในการเสพงานศิลปะนั่นเอง
แต่ถ้านอกเหนือจากเหตุผลในการเสพงานศิลปะแล้ว ยังมีเหตุอื่นใดอีกไหมที่ทำให้คนเราอยากฟังเพลงเศร้า?
ฟังเพลงเศร้า เพราะรู้สึกเศร้า
จากงานวิจัยของ Van den Tol, A. J. M. และ Edwards, J. (2013) ได้กล่าวถึง การฟังเพลงเศร้า ไว้ว่า ผู้คนบางส่วนฟังเพลงเศร้าเพราะรู้สึกเศร้าจริง ๆ แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ความเศร้าที่เพิ่งเกิดขึ้น มักเป็นความเศร้า ความผิดหวัง หรือประสบการณ์ร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตเสียมากกว่า เช่น เป็นความเศร้าที่เกิดจากการโหยหาอดีต (Nostalgia) คิดถึงวัยเด็ก คิดถึงครอบครัว คิดถึงความสัมพันธ์ในอดีตกับแฟนเก่า หรือความรู้สึกเศร้าเสียใจที่เกิดจากการโดนทำร้ายจิตใจ
นอกจากนี้ เพลงเศร้ายังมีหน้าที่เป็น “เพื่อน” ของผู้ฟังอีกด้วย เป็นเพื่อนที่คอยแชร์ความรู้สึกเศร้าด้วยกัน ทำให้ความรู้สึกเศร้าที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้หนักหัวใจเกินไป เป็นเพื่อนที่คอยช่วยแบก ซึ่งการมีเพื่อนช่วยแชร์ความรู้สึกนี่แหละ ที่จะทำให้ความเศร้าในใจให้มันเจ็บปวดน้อยลง เป็นวิธีในการจัดการอารมณ์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งตรงนี้เองสามารถทำให้เรารู้สึกดีขึ้นหรือมีความสุขขึ้นได้
ฟังเพลงเศร้า ไม่ได้แปลว่าเศร้า
ในโลกของการวิจัยทางจิตวิทยา มีการนำประเด็นเรื่องการฟังเพลงเศร้าไปทำวิจัยอย่างมากมายเลยทีเดียว
หนึ่งในนั้นคือมีการวิเคราะห์การฟังเพลงเศร้ากับเรื่องลักษณะนิสัยของคนที่ชอบฟังเพลงเศร้า โดยคนกลุ่มนี้มักเป็นคนที่มีนิสัยเห็นอกเห็นใจ (Empathy) เพราะการจะรับรู้ความเศร้าของเพลงได้ ต้องเป็นคนที่เข้าใจสิ่งที่ศิลปินต้องการสื่อให้ได้นั่นเอง และจากรายงานยังอีกพบว่า คนที่ฟังเพลงเศร้ามักมีความเปิดใจ (Openness) ในการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ มากกว่าคนทั่วไปอีกด้วย ดังนั้น คนชอบฟังเพลงเศร้าอาจเป็นเพราะว่าต้องการซึมซับประสบการณ์ทางอารมณ์ใหม่ ๆ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกเศร้านั่นเอง
ฟังเพลงเศร้า เพื่อเรียนรู้ความเศร้า
ในฐานะที่จิตวิทยามีรากฐานมาจากปรัชญา เราอยากชวนมาดูในมุมมองนักปรัชญากันสักหน่อยดีกว่า ถึงแม้ว่าในยุคกรีกไม่ได้มีเพลงเศร้าที่มีความยาวไม่เกิน 5 นาทีอย่างที่เราฟังกันในยุคนี้ แต่ในสมัยนั้นผู้คนนิยมชม “ละคร” กันเป็นหลัก หนึ่งในนั้นคือละครโศกนาฏกรรม (Tragedy) ซึ่งเป็นละครที่มีเรื่องราวและตอนจบที่เศร้าโศก
หนึ่งในผู้เป็นรากฐานของปรัชญาตะวันตกอย่าง อริสโตเติล เคยพูดถึง ละครโศกนาฏกรรม (Tragedy) ซึ่งสรุปใจความได้ว่า ละครโศกนาฏกรรมเป็นเครื่องมือที่ช่วยสอนให้มนุษย์รู้จักกับความรู้สึก อย่างความโศกเศร้า ความสงสาร และความกลัว และการดูละครโศกนาฏกรรมนั้นจะช่วยพาเราไปรู้จักกับ “การปลดปล่อยทางอารมณ์” (Catharsis) ผ่านการดำเนินเรื่องที่ค่อย ๆ พาเราไปเจอกับจุดเปลี่ยนชีวิตของตัวละครที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย และจบลงด้วยความสูญเสียที่ทำให้ผู้ชมเกิดความโศกเศร้า ที่สามารถทำให้เราร้องไห้เพื่อปลดปล่อยความเศร้าออกมาได้ พอดูจบก็จะรู้สึกโล่งและได้เรียนรู้ความรู้สึกเศร้าที่เกิดจากละครไปในตัว
ในอีกแง่หนึ่ง Catharsis เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ชมได้รู้จักผิดชอบชั่วดี ได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำผ่านบทละคร อริสโตเติลยังมองว่าความรู้สึกนี้แหละที่จะเป็นการสอนให้ผู้คนรู้จักมีคุณธรรม (Moral) ในการใช้ชีวิตอีกด้วย
อ้าว สรุปฟังเพลงเศร้านี่แปลว่าเศร้าไหม?
เพลงเศร้าขึ้นอยู่กับคนฟังว่ามองเพลงเศร้าอย่างไร และเนื่องจากเพลงเศร้าของแต่ละคนมีนิยามที่กว้างมาก เพลงเศร้าบางคนต้องเป็นเพลงช้า เพลงเศร้าของบางคนต้องเป็นเพลงที่มีเนื้อหาบาดใจ และอื่น ๆ อีกมากมาย พอเรามีนิยามเพลงเศร้าที่แตกต่างกัน ก็นำมาซึ่งเหตุผลในการฟังเพลงเศร้าที่แตกต่างกัน บางคนมองว่าฟังเพลงเศร้าเพื่อปล่อยใจจอย บางคนฟังเพลงเศร้าเพื่อปลดปล่อยความเศร้า บางคนฟังเพลงเศร้าเพื่อเสพศิลป์เฉย ๆ
แล้วคุณล่ะ ฟังเพลงเศร้าเพราะอะไร?
อ้างอิง