ชีวิตคนเราล้วนมีภาระหน้าที่และบทบาทที่หลากหลาย เราสามารถเป็นทั้งแม่ พี่สาว และหัวหน้าในคนเดียว อาจเป็นพี่ชายและลูกน้องได้ในคนเดียว เมื่อใดก็ตามที่บทบาทใดบทบาทหนึ่งมีภาระหน้าที่ที่ต้องแบกรับมากเกินไป เช่น ภาระงานเริ่มมากขึ้น ทำให้การสร้างสมดุลระหว่างบทบาทหน้าที่กลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น จนทำให้เราเกิดปัญหาที่ต้องจัดการขึ้นมา
เนื้อหาที่สำคัญ
- Intrarole Conflict เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากความคาดหวังของคนอื่นในองค์กรไม่ตรงกับความต้องการของเรา
- Interrole Conflict เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมีความรับผิดชอบต่อบทบาทใดบทบาทหนึ่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้บริหารเวลาของแต่ละบทบาทได้ไม่เท่าเทียมกัน
- Role Conflict ส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงานของพนักงาน และทำให้มีอัตราการลาออกเพิ่มขึ้นได้
- กิจกรรมการจัดการความเครียด การบริหารเวลา และการดูแลสุขภาพจิตสามารถช่วยลดปัญหา Role Conflict ได้
Role Conflict คืออะไร?
ปัญหาหรือความขัดแย้ง (Conflict) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ ไม่ว่าเราจะเป็นใครหรือมีบทบาทอะไร ปัญหาก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ พวกเราแต่ละคนต่างมีหน้าที่และบทบาทที่ได้รับมามากกว่า 1 บทบาทเสมอ เราอาจเป็นพ่อแม่ เป็นลูกคนโต เป็นน้องคนเล็ก ของครอบครัวสักครอบครัวหนึ่ง ซึ่งในครอบครัวเราต่างมีหน้าที่ของเราวางไว้อยู่แล้ว เช่น เป็นผู้อยู่อาศัย เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นคนรับผิดชอบนค่าใช้จ่าย นอกจากบทบาทภายในครอบครัวแล้ว เรายังมีบทบาทหน้าที่จากการทำงานของตัวเองอีกด้วย เช่น เป็นหัวหน้า เป็นพนักงาน เป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งบางครั้ง บทบาทที่เราเป็นและหน้าที่ที่เราต้องทำมันมาปะปนกัน ทำให้มีปัญหาตามมาได้ อย่างเช่น เรามีบทบาทเป็นหัวหน้าและเป็นพ่อ บางวันเราอาจเครียดจากงานและนำอารมณ์ขุ่นมัวนั้นมาลงที่ครอบครัวก็เป็นได้ ซึ่งสิ่งนี้เองเรียกว่า Role Conflict หรือ ความขัดแย้งที่เกิดจากบทบาทหน้าที่ ซึ่งมีแยกย่อยไปอีก 2 ประเภท ด้งนี้
1. Intrarole Conflict
ปัญหาไม่ได้เลือกที่เกิด ต่อให้เรามีหลายบทบาทที่ต้องรับผิดชอบ หรือมีเพียงบทบาทเดียว ปัญหาก็มาหาเราได้ทั้งนั้น Intrarole Conflict เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในบทบาทหน้าที่เพียงบทบาทเดียว เช่น เราเป็นหัวหน้าที่ได้รับมอบหมายจาก CEO ว่าให้เราจัดแจงงานให้ทีมรับผิดชอบมากขึ้น แต่ในตอนนี้ทีมเราก็ต้องรับผิดชอบงานในจำนวนที่มากอยู่แล้ว จึงเกิดเป็นปัญหาที่เราในฐานะหัวหน้าจำเป็นต้องจัดการ เพื่อช่วยประคองบริษัทและให้การดูแลทีมของตัวเราเองด้วย หรือเราเป็นพนักงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบเนื้องานที่มากเกินขอบเขตจนส่งผลต่อสภาพจิตใจและประสิทธิภาพในการทำงาน ก็นับว่าเป็น Intrarole Conflict เช่นกัน
ปัญหาจากคนและจากเนื้องานนี้เอง ได้กลายมาเป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกจากงาน เพราะนอกจากจะได้รับผลกระทบทางกาย ทำให้มีสุขภาพแย่ลงจากการทำงานหนักแล้ว ยังส่งผลให้สุขภาพใจและความพึงพอใจในการทำงานลดลงตามไปด้วย
2. Interrole Conflict
Interrole คือการที่เรามีหน้าที่มากกว่า 1 บทบาทที่ต้องแบกรับ ในฐานะที่เป็นคนที่มีหลากหลายบทบาท (Interrole Person) เมื่อเรามีบทบาทที่ต้องรับผิดชอบขึ้น ก็ย่อมตามมาด้วยสิ่งที่ต้องจัดการมากขึ้น ความรู้สึกเหนื่อยล้าจากความรับผิดชอบเหล่านั้นก็เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา จนทำให้เราไม่ได้ใช้เวลาร่วมกับคนในครอบครัว เพื่อน หรือแฟน ทำให้ความสัมพันธ์มีปัญหาตามไปด้วย เกิดการน้อยใจหรือความเข้าใจผิดขึ้นมาได้
จากงานวิจัย พบว่า การพยายามรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ทางการงานและทางครอบครัวนั้นก่อให้เกิดความเครียดได้ และยังพบอีกว่าปัญหาจากภายในครอบครัวส่งผลต่อปัญหาหน้าที่การงานได้ เช่น ครอบครัวไม่มีความสุข ส่งผลให้เราไม่มีความสุขในการทำงานตามไปด้วย หรือในทางกลับกัน ชีวิตการทำงานไม่มีความสุขก็ส่งผลให้ชีวิตครอบครัวไม่มีความสุขตามไปด้วย
ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง Intrarole Conflict และ Interrole Conflict
Role Conflictความแตกต่าง | Intrarole Conflict | Interrole Conflict |
บทบาทที่รับผิดชอบ | 1 | มากกว่า 1 |
สาเหตุ | ความคาดหวังต่อบทบาทหน้าที่ของเราและคนอื่นไม่ตรงกัน | ความรับผิดชอบในบทบาทหนึ่งส่งผลกระทบต่อบทบาทอื่น ๆ ในชีวิต |
ตัวอย่าง | เช่น เราเป็นหัวหน้าที่ได้รับคำสั่งมาว่าให้ทีมทำงานเยอะขึ้น แต่ปัจจุบันทีมเราก็มีภาระเยอะอยู่แล้ว จึงเกิดเป็นปัญหาที่เราในฐานะหัวหน้าต้องจัดการ | เช่น ช่วงนี้จำเป็นต้องทำยอดในที่ทำงาน ทำให้เลิกงานช้า จนไม่ได้ใช้เวลากับครอบครัว ทำให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น |
ผลกระทบจาก Role Conflict
- สุขภาพกายและสุขภาพใจแย่ลง
การโหมทำงานหนัก หรือการทำงานเกินหน้าที่ของตัวเอง แน่นอนว่ามันจะทำให้พนักงานพักผ่อน้อยลง ซึ่งการพักผ่อนน้อยลงสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพกาย อย่างเช่น น้ำหนักลง เป็นโรคกระเพาะเนื่องจากทานอาหารไม่ตรงเวลา อ่อนเพลียจาการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ และยังรวมไปถึงสุขภาพใจ เช่น มีความเครียด เกิดเป็นภาวะ Burnout ขึ้นมา
- ความพึงพอใจในการทำงานลดลง
เมื่อมีภาระงานมากขึ้น หลาย ๆ คนจำเป็นต้องใช้เวลาปรับตัว บางคนไหว บางคนไม่ไหว พอรู้สึกไม่ไหวขึ้นมา ก็ส่งผลให้มีความพึงพอใจในการทำงานลดลง ชีวิตการทำงานไม่สนุกอีกต่อไป และอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานลดลงได้อีกด้วย
- ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแย่ลง
ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและคนรองข้างในชีวิตอาจแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานที่สามารถส่งผลให้ความพึงพอใจในการทำงานลดลง บรรยากาศในการทำงามเปลี่ยนไป หรือมีทัศนคติต่อพนักงานเปลี่ยนไปก็ด้วย รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว ไม่อบอุ่นเหมือนเดิม ไม่มีเวลาให้กับครอบครัวเหมือนเดิม ซึ่งส่งผลต่อภาวะอารมณ์ของพนักงานได้อีกด้วย อาจทำให้มีความเครียดเพิ่มมากขึ้น ไม่มีความสุขกับทั้งการทำงานและชีวิตครอบครัว เสี่ยงต่อการโหยหาความสุขจากสิ่งอื่น ๆ แทน เช่น การเสพติดแอลกอฮฮล์ การเสพติดบุหรี่ เป็นต้น
- อัตราการลาออกเพิ่มมากขึ้น
ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แย่ลง ความพึงพอใจในการทำงานลดลง และความสัมพันธ์กับคนรอบข้างในชีวิตแย่ลง สามารถส่งผลกระทบให้พนักงานรู้สึกไม่ต้องการทำงานอีกต่อไป จนทำให้มีการลาออกเกิดขึ้น และถ้าหากไม่มีการแก้ปัญหาดังกล่าว ก็อาจส่งผลให้อัตราการลาออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนหาคนมาทำงานได้ยากขึ้นตามไปด้วย
- ภาพลักษณ์องค์กร
หากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมายังไม่ได้รับการแก้ไข แน่นอนว่า วันใดวันหนึ่งมันอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กรก็เป็นได้ ที่น่าเป็นกังวลไปกว่านั้นคืออาจทำให้ภาพลักษณ์องค์กรในสายตาของคู่ค้าและผู้บริโภคแย่ลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้การกู้คืนความน่าเชื่อถือขององค์กรยากขึ้นตามไปด้วย
เราจะช่วยพนักงานจาก Role Conflict ได้อย่างไรบ้าง?
1. วาง Job Description ให้เรียบร้อยตั้งแต่รับสมัครพนักงาน
หนึ่งในวิธีการที่ช่วยจัดการปัญหาได้ตั้งแต่ต้นลม คือการจัดการ JD ของพนักงานให้ครอบคลุมหน้าที่การทำงานที่พนักงานต้องรับผิดชอบให้เหมาะสมที่สุด เพื่อดึงดูดพนักงานที่เหมาะสมเข้ามาทำงานกับองค์กรได้เลย เพื่อให้พนักงานและทีมรู้หน้าที่ของตัวเอง และมีการจัดแจงงานกันอย่างเหมาะสมนั่นเอง
2. ให้พื้นที่ในการสื่อสาร
หากมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราควรให้พื้นที่แก่พนักงานในการสื่อสารปัญหาเหล่านั้นออกมา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของแต่ละฝ่ายเอง พื้นที่ที่ HR รับฟัง หรือพื้นที่ที่มีผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาเข้ามาให้การดูแล เพื่อให้พนักงานได้แจ้งปัญหา ผ่อนคลายความเครียด และเพื่อให้องค์กรได้รับรู้ปัญหาและแก้ปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป
3. จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตให้แก่พนักงาน
ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการจัดการความเครียด การบริหารเวลา เข้าคอร์สฝึกการบริหารทีม หรือการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจ เช่น การฝึกสติ (Mindfulness) คอร์สการดูแลสุขภาพใจในที่ทำงาน หรืออื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลตัวเองของพนักงาน เพื่อให้พวกเขามีเครื่องมือในการดูแลตัวเองและช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีให้แก่ที่ทำงานอีกด้วย
Role Conflict สามารถเกิดขึ้น และเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานในองค์กร สิ่งที่องค์กรทำได้คือการเรียนรู้ ทำความเข้าใจถึง Role Conflict ที่พนักงานต้องรับมือ และช่วยหาวิธีแก้ไขหรือวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้ Role Conflict กระทบกับตัวพนักงานเองและองค์กรในระยะยาวต่อไปได้
อ้างอิง