เคยเป็นกันไหม รู้สึกแย่จากอะไรมาก ๆ แต่ไม่กล้าที่แม้แต่จะแสดงอารมณ์หรือบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกของเราให้ใครฟัง รู้สึกไม่อยากเล่าอะไรให้ใครฟังเพราะคิดว่าคงไม่มีใครอยากฟังเรื่องของเรา รู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญไม่พอที่จะมีใครมาสนใจเรื่องราวหรือความรู้สึกของตัวเราเอง จนสุดท้ายเป็นเราเองนี่แหละที่เลือกที่จะเก็บทุกความรู้สึกแย่เอาไว้ในเบื้องลึกของจิตใจ ไม่มีใครมีวันรับรู้ ยกเว้นตัวเราเองที่นึกถึงมันซ้ำ ๆ ในขณะที่เก็บมันไว้ข้างในและไม่ได้ขุดมันออกมาเล่าให้ใครฟังแม้แต่เสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวเหล่านั้น
คำอธิบายข้างบนอธิบายตัวคุณอยู่หรือเปล่า? หากใช่ เรามาทำความรู้จักเหตุผลของการที่คุณเลือกจะเก็บทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับตัวเองดีกว่า หรือที่เราเรียกพฤติกรรมนี้กันอย่างติดปากว่า “อาการเก็บกด” หรือชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Repression นั่นเอง
ว่าด้วยเรื่องของการเก็บกด หรือ Repression
การเก็บกด หรือ Repression เป็นพฤติกรรมที่เราไม่แสดงออกสิ่งที่เป็นตัวตนของเราหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเราออกไป เช่น อารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของเรา ความคิดเห็นของเรา สิ่งที่อยู่ภายในใจ ความไม่พึงพอใจต่าง ๆ หรือแม้แต่สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบ รวมไปถึงอะไรก็ตามที่เป็นการเก็บกดอยู่ภายในใจและไม่กล้าพูดออกมาล้วนเป็นพฤติกรรมของการเก็บกดทั้งสิ้น ซึ่งการเก็บกดมักตามมาด้วยการลืม พอเราเก็บกดอะไรไว้ในใจลึกมาก ๆ แล้วเราจะลืมมันไปเพื่อไม่ให้ตัวเองนึกถึงความเจ็บปวดหรือความไม่พึงพอใจนั้นซ้ำ ๆ เพื่อเป็นการปกป้องตัวเองนั่นเอง
การเก็บกด หรือ Repression ถือเป็นกลไกการป้องกันตัวทางจิตวิทยา (Defense Mechanism) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราบางคนหรือหลาย ๆ คนเลือกปฏิบัติจากความเคยชินในการป้องกันตัวหรือป้องกันการโดนทำร้ายความรู้สึก เพื่อไม่ให้ตัวเราเองเสียความรู้สึก ยกตัวอย่างเหตุการณ์ เช่น เราไปทำความรู้จักกันคนใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เรากลัวที่จะให้คนอื่นมาทำความรู้จักตัวตนของเรา เราจึงเลือกที่จะเก็บกดตัวตนที่แท้จริง และแสดงตัวตนที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงออกไป ซึ่งสาเหตุที่เราทำแบบนี้เป็นเพราะเรากลัวว่าถ้าคนอื่นรู้จักเรามากเกินไป เราอาจโดนหักหลังและโดนคนใช้ความสนิทสนมมาทำร้ายความรู้สึกเราได้ เราจึงหลีกเลี่ยงที่จะโดนทำความรู้สึกผ่านการแสดงตัวตนอีกด้านออกมานั่นเอง
เหตุการณ์ตัวอย่างนี้เป็นเพียงเหตุการณ์เล็ก ๆ ที่นำเสนอพฤติกรรมการเก็บกดเท่านั้น แต่ละคนต่างมีการใช้พฤติกรรมการเก็บกดแตกต่างกันไป เนื่องมาจากแต่ละคนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป เราเคยเสียความรู้สึกมาจากเหตุการณ์ที่แตกต่างกันไป เราเรียนรู้การเอาตัวรอดจากประสบการณ์มาด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป เราจึงมีการแสดงพฤติกรรมการเก็บกดแตกต่างกันไปตามประสบการณ์และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั่นเอง
ทำไมคนเราถึงเก็บกด Repression?
คุณคิดว่าคนเราเก็บกดเพราะอะไร?
หากจะหาสาเหตุที่ว่าทำไมคนเราถึงเก็บกดกันแล้วนั้น แท้จริงแล้วมีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้คนเรากลายเป็นคนเก็บกดชึ้นมาได้
- ประสบการณ์ในวัยเด็ก
ปัญหาทางสุขภาพจิตหลาย ๆ ปัญหามักเกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็กของเรา เช่น เรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมมาจากครอบครัว หรือครอบครัวไม่มีการพูดคุยถึงเรื่องการจัดการอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้ใส่ใจอารมณ์ความรู้สึกของกันและกัน จึงทำให้การพูดคุยถึงเรื่องอารมณ์ความรู้สึกกันในครอบครัวนั้นเป็นเรื่องสูญเปล่า หลาย ๆ คนจึงเลือกที่จะเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกไว้ภายในมากกว่าจนกลายมาเป็นพฤติกรรมเก็บกดที่ทำซ้ำ ๆ จนเกิดความเคยชินนั่นเอง
- ค่านิยมทางสังคม
ผู้ชายมักเป็นฝ่ายที่เติบโตมากับการบอกว่า “ลูกผู้ชายห้ามร้องไห้” เนื่องด้วยค่านิยมทางสังคมที่ส่งต่อกันมาว่า ผู้ชายเป็นเพศที่มีความแข็งแรงกว่า เข้มแข็งกว่า ไม่อ่อนไหวง่าย ในขณะที่น้ำตาเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ จึงทำให้มองว่าการที่ลูกผู้ชายสักคนร้องไห้นั้น แปลว่าเขาเป็นคนอ่อนแอและไม่มีความเป็นผู้ชายที่ดีมากพอ ค่านิยมเองส่งผลให้ผู้ชายหลาย ๆ คนเลือกที่จะเก็บงำความรู้สึกและอารมณ์ที่แท้จริงไว้ กลายเป็นพฤติกรรมที่ทำจนเคยชินเช่นกัน
- การจัดการอารมณ์ของเรา
คนเรามีวิธีการจัดการอารมณ์แตกต่างกันไปตามสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ บางคนเวลามีปัญหาจะเลือกเล่าให้เพื่อนฟังก่อนเลย หรือบางคนเลือกที่จะไปทำกิจกรรมที่ชอบคลายเครียดแทน เช่น ออกกำลังกาย วิ่ง เดินเล่น หรือบางคนเลือกที่จะเก็บความไม่สบายใจนั้นไว้กับตัวเอง ซึ่งการเก็บความรู้สึกไม่ดีเหล่านั้นไว้กับตัวเองนั้น สำหรับบางคนอาจเป็นสิ่งที่เราทำโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากเราเก็บกดแล้วเราสบายใจ เราเก็บกดมันไว้จะช่วยให้เราลืมมันไป และการลืมนี้เองนำมาซึ่งความสบายใจจนเราทำซ้ำ ๆ จนเกิดเป็นพฤติกรรมการเก็บกดนั่นเอง
3 วิธีจัดการอารมณ์เก็บกด Repression
1. รับรู้และสัมผัสถึงอารมณ์ของตัวเองที่เกิดขึ้น
สิ่งที่คนที่มีพฤติกรรมการเก็บกดทางด้านอารมณ์ควรทำคือการสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองด้วยความเต็มใจและความเข้าใจ ซึ่งสามารถทำได้โดยการปล่อยให้ร่างกายและตัวเรานั้นรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยไม่ห้ามตัวเอง เช่น เราโดนหัวหน้าดุมา เรารู้สึกผิดหวังแต่ยังแสดงออกไม่ได้เพราะอาจกระทบต่อภาพลักษณ์ แต่เมื่อเรากลับมาอยู่กับตัวเองแล้ว ให้เราปล่อยให้ตัวเองรู้สึกถึงความผิดหวังที่เกิดขึ้น ยอมรับความรู้สึกนั้น และหาวิธีการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสมกับตัวเองต่อไป ไม่เก็บกดมันไว้จนลืม
2. ฝึกพูดสิ่งที่ตัวเองรู้สึกออกมา
เมื่อเรารับรู้และสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองที่เกิดขึ้นได้แล้ว เพื่อให้สิ่งที่เรารู้สึกนั้นเป็นรูปธรรมและถือว่าเป็นการให้ความสำคัญกับความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น เราสามารถทำได้โดยพูดความรู้สึกนั้นออกมา จะเป็นการพูดกับตัวเอง หรือเรียกเพื่อนมานั่งคุยด้วยก็ได้ เพื่อให้เราได้ปลดปล่อยสิ่งที่รู้สึกออกไป เช่น พูดกับตัวเองว่าวันนี้รู้สึกเหนื่อยจังเลย หรือบ่นเรื่องความผิดหวังเรื่องงานกับเพื่อนก็ได้เช่นกัน การฝึกพูดแบบนี้จะช่วยให้เราได้มอบความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้มากขึ้น และค่อย ๆ ช่วยให้เราใส่ใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองที่เกิดขึ้นได้มากขึ้นนั่นเอง
3. เข้ารับความช่วยเหลือทางการแพทย์
หากลองวิธีต่าง ๆ แล้วแต่ยังคงรู้สึกเก็บกดเหมือนเดิม อีกวิธีหนึ่งที่แนะนำให้ทำคือการเข้ารับคำปรึกษากับนักจิตวิทยาเพิ่มเติม เพื่อดูว่าเรามีปัญหาตรงไหนและควรได้รับการแก้ไขตรงไหนต่อไป อาจต้องเข้ารับคำปรึกษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือเข้ารับการบำบัดต่อไป เพื่อให้เราสามารถจัดการอารมณ์และความรู้สึกของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
การเก็บกดไม่ใช่พฤติกรรมที่พึงประสงค์นัก หากพบว่าตัวเองมีปัญหาในการเก็บกด อาจจำเป็นต้องค่อย ๆ ปรับความคิดของตัวเองต่อเรื่องนี้ และมองหาวิธีการจัดการอารมณ์ความรู้สึกที่เหมาะสมกับตัวเองต่อไป เพื่อให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นและไม่เป็นการทำร้ายตัวเองนั่นเอง
อ้างอิง
What to Know About Repressed Emotions. (2024, February 25). WebMD.