ขยับนิด สะบัดตัวหน่อย ด้วยการบำบัดแบบ Psychomotor Therapy

หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นภาพหรือคุ้นเคยกับการทำบำบัดในห้องสี่เหลี่ยม โดยมีนักบำบัดหรือนักจิตวิทยาในชุดกาวน์สีขาวคอยนั่งพูดคุย ให้คำปรึกษา และรับฟังผู้เข้าร่วมการบำบัดอยู่ไม่ห่าง การบำบัดรูปแบบนี้เรียกว่า Psychotherapy หรือ จิตบำบัด ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ได้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง รวมถึงมีการปรากฏอยู่ในสื่อให้เราเห็นอยู่บ่อย ๆ อีกด้วย ซึ่งอาจทำให้เข้าใจได้ว่า การบำบัดมีรูปแบบนี้เพียงรูปแบบเดียว แต่จริง ๆ แล้ว การบำบัดทางจิตวิทยามีรูปแบบที่หลากหลายมาก และวันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ Psychomotor Therapy หรือการบำบัดผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกาย 

Psychomotor Therapy คืออะไร?

ก่อนจะพัฒนามาจนถึงปัจจุบันนี้ Psychomotor Therapy มีหลายชื่อให้เราได้เรียกกัน ตั้งแต่ Occupational Therapy, Movement Therapy หรือ Active Therapy ซึ่งในสมัยก่อนมีการเรียกผสมปนเปกันไป ยังไม่สามารถแยกประเภทกันได้ชัดเจน แต่ปัจจุบัน การบำบัดเหล่านี้ก็มีความแตกต่างและสามารถแยกกันได้โดยชัดเจนแล้ว โดย Psychomotor Therapy หรือ การบำบัดผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นรูปแบบการบำบัดที่เน้นไปที่การสร้างประสบการณ์ของร่างกาย ผ่านการเคลื่อนไหวด้วยการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางกาย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับรู้และปลดปล่อยตัวเองผ่านการเคลื่อนไหว โดยไม่ต้องกังวลถึงสภาพแวดล้อมหรือบุคคลโดยรอบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการออกกำลังกายประเภทต่าง ๆ เช่น การว่ายน้ำ การเต้นบัลเลต์ หรือการเล่นดนตรีต่าง ๆ ไปจนถึงการทำงานอดิเรก เช่น การเย็บผ้า การถักนิตติ้ง เป็นต้น ในช่วงแรกของการบำบัดมักเป็นการดีไซน์การบำบัดและออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย และในขั้นตอนต่อมามักทำร่วมกับผู้อื่น เป็นการบำบัดแบบกลุ่ม โดยการตอบสนองของร่างกายและการซึมซับประสบการณ์จากเคลื่อนไหวนี้จะค่อย ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ 

สำหรับจุดเริ่มต้นของ Psychomotor Therapy นั้น ว่ากันว่า Psychomotor Therapy เกิดหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส (The French Revolution) โดยในสมัยก่อน ผู้ป่วยจิตเวชมักได้รับการดูแลที่แย่และไม่เป็นธรรมเท่าไรนัก เช่น มีการคุมขัง ใช้โซ่ตรวนในการพันธนาการ ไม่มีการให้อิสระแก่พวกเขา แต่หลังเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสสิ้นสุดลง เริ่มมีการนำวิธีการรักษาที่มีมนุษยธรรมมากขึ้นมาใช้ โดยให้ผู้ป่วยออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ แทน เช่น ปลูกผัก ทำสวน ทำงานบ้าน เป็นต้น ต่อมามีงานวิจัยปรากฏว่า กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายเหล่านี้สามารถช่วยให้สุขภาพจิตดีได้ขึ้นจริง จนมาถึงในช่วงปี ค.ศ. 1960 มีการพัฒนา Psychomotor Therapy ให้มีความเป็นระบบระเบียบมากขึ้น โดยให้นิยามกับ Psychomotor Therapy ว่าเป็นการบำบัดที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต มีการดูแลภาพรวมความเป็นอยู่ของผู้ป่วย และมีการใช้ร่างกายเป็นหลัก (Body-oriented approach) ในกระบวนการบำบัดนั่นเอง

ปัจจุบัน Psychomotor Therapy มีการนำไปใช้ในทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงอายุ และถือว่าเป็นทางเลือกในการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยได้มีประสบการณ์ที่ดีผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกายตัวเอง ได้ให้ร่างกายทำงานอย่างสอดคล้องกัน ซึ่งเป็นการกระตุ้นการทำงานของร่างกายและสมอง อีกทั้งยังช่วยในการแสดงอารมณ์ ปลดปล่อยอารมณ์ผ่านการเคลื่อนไหว อีกทั้งยังได้ค่อย ๆ เรียนรู้การเข้าสังคมผ่านขั้นตอนการบำบัดแบบกลุ่มที่เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการอีกด้วย 

อ้างอิง

Probst, M. (2017, July 5). Psychomotor Therapy for Patients with Severe Mental Health Disorders. InTech eBooks.