“นักจิตวิทยา vs หมอดู” เวลามีปัญหา ปรึกษาใครดี?

เวลามีปัญหา คุณจะเลือกปรึกษาใคร? นอกจากคนใกล้ตัวที่คุณไว้ใจอย่างเพื่อน ครอบครัว หรือคนรักแล้ว คุณจะนึกถึงใครเป็นคนแรก? หลาย ๆ คนอาจเลือกที่จะใช้ “บริการ” จากแหล่งภายนอก เช่น บริการพูดคุยรับคำปรึกษากับนักจิตวิทยา ซึ่งเป็นบริการที่ในปัจจุบันได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะมีการยอมรับอย่างเป็นวงกว้างว่าบริการนี้เป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถเข้ารับบริการได้ ไม่จำเป็นต้องป่วยทางใจเท่านั้นถึงจะพบนักจิตวิทยาได้ และอีกหนึ่งบริการที่น่าจับตามอง นั่นก็คือบริการดูดวง ที่ถูกมองว่าเป็นตัวเลือกหนึ่งในการเข้าถึงความช่วยเหลือทางใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไพ่ทาโรต์ หรือการทำนายด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเช่นกัน และมีแนวโน้มว่าจะมีความนิยมเพิ่มมากขึ้นในอนาคตด้วย 

ทั้งสองบริการนี้ต่างถูกมองว่าเป็นบริการที่ช่วยฟื้นฟูเยียวยาเพื่อนมนุษย์ให้รู้สึกดีขึ้นและพบทางออกได้ โดยวงการหนึ่งคือวงการที่มีพื้นเป็นวิทยาศาสตร์ ในขณะอีกที่วงการหนึ่งยืนพื้นด้วยเรื่องความเชื่อ แต่เมื่อถึงเวลาที่มีปัญหา เราควรเลือกใคร?  

นักจิตวิทยา และ หมอดู มาจากไหน?

หากว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว วงการหมอดูอยู่คู่กับชีวิตมนุษย์มานานกว่านักจิตวิทยา ว่ากันว่าหมอดูและการทำนายทายทักอนาคต (Divination) อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว! ตั้งแต่สมัยที่เมโสโปเตเมียยังเรืองอำนาจ และยังรวมไปถึงดินแดนแถบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ กรีซ อิตาลี และจีน เรียกได้ว่า ที่ใดมีอารยธรรม ที่นั่นยอมมีการดูดวง จนศาสตร์ด้านนี้ได้มีการดัดแปลงและพัฒนาในหลายแถบพื้นที่ทั่วโลก และอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน การดูดวงและการทำนายอนาคตมีหลากหลายรูปแบบมาก แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ แต่ละวัฒนธรรม บ้างมีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้า ศาสนา หรือไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดเลย บ้างก็ใช้เครื่องมือในการทำนาย เช่น ลูกแก้ว ไพ่ บ้างก็มีการเก็บสถิติ แตกต่างกันไป

ในส่วนของวงการจิตวิทยานั้นยังเริ่มต้นได้ไม่นานนัก ถึงแม้ว่าในสมัยก่อนได้มีนักปรัชญาและนักคิดหลาย ๆ คนพูดถึงเรื่องจิตใจกันมาตั้งแต่ยุคกรีกแล้วก็ตาม แต่จิตวิทยาเพิ่งเป็นรูปเป็นร่างจริง ๆ ในช่วงศตวรรษที่ 19 นี้เอง โดยในช่วงแรกจะเป็นเรื่องของการทดลองเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อฟรอยด์และแนวคิดจิตวิเคราะห์ได้ถูกตีพิมพ์แก่สาธารณชนในช่วงศตวรรษที่ 20 นั่นเป็นช่วงที่จิตวิทยาได้รับความสนใจในวงกว้างอย่างจริงจัง พร้อม ๆ กับการถือกำเนิดของการให้คำปรึกษาตามหลักของจิตวิทยาตามมา ถ้าว่ากันตามจริงแล้ว การให้คำปรึกษาตามหลักจิตวิทยายังมีอายุไม่ถึง 100 ปีเลยด้วยซ้ำ แต่การที่มันไม่ได้อยู่มานาน ไม่ได้แปลว่ามันจะน่าเชื่อถือน้อยลง เพราะการให้คำปรึกษาตามหลักจิตวิทยานี้มีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ มีการทำวิจัยอย่างเป็นประจำเพื่อหาวิธีที่หลากหลายในการฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจให้ครอบคลุมผู้คนหลาย ๆ กลุ่มมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลที่อยากให้ทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดีนี่เอง ทำให้มีนักจิตวิทยาบางคนที่มีความเปิดกว้างทางด้านความเชื่อได้นำหลักทางจิตวิทยามาผนวกกับการดูดวงเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยเลยทีเดียว 

ทำไมเราถึงอยากดูหมอ และอยากให้หมอดู

สังเกตง่าย ๆ จากตัวอย่างใกล้ตัว ซึ่งก็คือตัวเราเองนี่แหละ เวลาที่ตัวเราเองต้องการพบนักจิตวิทยาหรือหมอดู มักเป็นช่วงไหนของชีวิต? เรามั่นใจเลยว่า หลาย ๆ คนจะตอบมาว่า ช่วงที่ชีวิตมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากความกังวลต่ออนาคต วางแผนชีวิตการงาน ชีวิตครอบครัว หรือถ้าหากเกิดป่วยกะทันขึ้นมาจะทำยังไงดี หรือการหาทางออกให้กับปัญหาในปัจจุบันไม่ได้ ไปจนถึงรู้สึกไม่สบายใจเฉย ๆ หรือต้องการที่พักพึงทางใจหรือหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจบางอย่าง 

เจ้าปัญหาชีวิตนี่เปรียบเสมือนเมฆฝนก้อนใหญ่ ที่พร้อมจะพาพายุฝนกระหน่ำตกใส่เราอยู่เรื่อย ๆ แล้วเวลาที่ฝนตกพายุเข้าแบบนี้ เรามักจะมองเห็นถนนหรือมองเห็นทางไม่ค่อยชัดกันใช่ไหม? ทำให้เวลาเดินทางท่ามกลางฝนเนี่ยกลายเป็นเรื่องที่ลำบากมาก ๆ แต่นักจิตวิทยาและหมอดูจะเป็นเหมือนกับลมที่จะมาปัดเป่าให้เมฆฝนค่อย ๆ ลอยหายไปจนลับสายตา ทำให้เรากลับมาเห็นทางเดินของตัวเองอีกครั้ง และช่วยให้เดินหน้าต่อไปในเส้นทางของตัวเอง

แต่ก็ใช่ว่านักจิตและหมอดูทุกคนจะช่วยขจัดปัดเป่าความกังวลทั้งหมดของเราได้ ผลลัพธ์ที่เราจะได้ขึ้นอยู่กับวิธีการของนักจิตวิทยาและหมอดู และรวมถึงตัวเราเองด้วยว่าจะพาตัวเองออกจากปัญหาอย่างไร

เลือกบริการที่ใช่ จะดูหมอ หรือให้หมอดู 

เราขอดอกจันตัวโต ๆ ไว้ก่อนว่า เราไม่ได้กำลังจะบอกว่า ทั้งสองบริการ “นักจิตวิทยา” และ “หมอดู” เป็นสองสิ่งที่แทนกันได้ การเลือกใช้ทั้งสองบริการนี้มีความแตกต่างกันอยู่ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีปัญหาทางสุขภาพใจ เราอยากให้คุณเข้ารับคำปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เป็นหลักมากกว่า แต่ถ้าหากเป็นปัญหาทั่วไป การงาน การเงิน การเรียน ความรัก หากปรึกษาคนครอบตัวแล้วยังรู้สึกไม่สบายใจ การดูหมออาจจะตอบโจทย์ความสบายใจของเรามากกว่าก็เป็นได้

สังเกตดูความต้องการของเราเป็นหลักก่อน และสังเกตอาการว่าเรามีภาวะอารมณ์ที่ผิดปกติไหม เช่น รู้สึกซึมเศร้ามาก รู้สึกอยากเก็บตัวมาก ไม่อยากคุยกับใครเลยตลอดหลายสัปดาห์ เราควรไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อตรวจเช็กอาการว่ามีอะไรที่น่าเป็นห่วงไหม หลาย ๆ ครั้งที่ร่างกายเรารู้สึกไม่ดี อาจเป็นเพราะใจของเรารู้สึกไม่ดีหรือใจมีอาการป่วยขึ้นมาก็ได้นะ แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป การเจ็บป่วยทางใจเป็นสิ่งที่รักษาได้เช่นเดียวกับการเจ็บป่วยทางกาย

แล้วสำหรับปัญหาที่คุณมีตอนนี้ คุยกับใครดี?

อ้างอิง

Divination and Omens. (n.d.). Obo.

Haggerty, J. (2021, September 24). History of Psychotherapy. Psych Central.