เรื่องน่ารู้ของนักจิตวิทยา ว่าด้วยหลักจรรยาบรรณของนักจิตวิทยา 

อาชีพทุกอาชีพจำเป็นต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ เพราะถ้าหากใครคนใดคนหนึ่งไม่มีจรรยาบรรณในวิชาชีพมากพอ แน่นอนว่า พวกเขาอาจไปสร้างปัญหาให้กับคนอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นการคอรัปชัน การทำร้ายร่างกาย การมีเรื่องทะเลาะบาดหมางระหว่างกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นปัญหาระหว่างบุคคลกับบุคคลแล้ว อาจทำให้เกิดปัญหาระหว่างหน่วยงานขึ้นมาด้วยก็เป็นได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาถูกสุมไฟยิ่งกว่าเดิม

เช่นเดียวกับอาชีพนักจิตวิทยา ซึ่งเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาวะทางใจของผู้คนโดยตรง ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดบาดแผลทางด้านจิตใจกันได้ง่าย ๆ พอว่ากันด้วยเรื่องทางจิตใจแล้ว แน่นอนละว่ามีความละเอียดอ่อนสูง ดังนั้น นักจิตวิทยาทุกคนจึงจำเป็นยึดมั่นรักษาจรรยาบรรณของวิชาชีพตัวเองอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการมีผลกระทบทางด้านจิตใจน้อยที่สุด

วันนี้เราจึงขอนำจรรยาบรรณของนักจิตวิทยาในฉบับย่อยแล้วมาให้ทุกคนได้อ่านกัน

หลักจรรยาบรรณของนักจิตวิทยา ที่ควรรู้จักไว้

หลักจรรยาบรรณของนักจิตวิทยาไทยนั้นไทยถูกแปลมาจากหลักจรรยาบรรณของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association : APA) มีการแปลขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2002 และมีการปรับแก้ไขเรื่อยมา ซึ่งการปรับแก้ไขล่าสุดเป็นฉบับของปี ค.ศ. 2016 

นอกเหนือจากตัวบทของหลักจรรยาบรรณที่นักจิตวิทยายังต้องยึดถืออย่างเคร่งครัดแล้วแล้ว ยังมีหลักการทั่วไปที่นักจิตวิทยาที่ควรพึงระลึกไว้ด้วย โดยหลักการต่าง ๆ ที่เราจะนำมาให้อ่านนี้ ยกมาเพียงข้อหลัก ๆ ที่ผู้เข้ารับบริการควรรู้ไว้เบื้องต้นเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตนเอง ดังนี้

หลักทั่วไป 5 หมวด

  • สิทธิประโยชน์แก่ผู้รับบริการ และการทำประโยชน์โดยมิชอบ 

นักจิตวิทยาต้องดูแลและนำประโยชน์มาเพื่อผู้เข้ารับบริการ ลดความขัดแย้งและไม่สร้างผลกระทบต่อผู้เข้ารับบริการ อีกทั้งต้องระวังและตระหนักถึงปัจจัยที่จะนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ต่อสถาบันอื่น เช่น ปัจจัยทางด้านองค์กร สังคม การเมือง เป็นต้น

  • ความรับผิดชอบ 

นักจิตวิทยาต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง สังคม และชุมชน ไม่ทำให้พฤติกรรมหรือการแสดงออกของตัวเองสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

  • ความซื่อสัตย์ 

นักจิตวิทยาต้องซื่อสัตย์ในหน้าที่การงานกับผู้เข้ารับบริการ และโดยเฉพาะในส่วนของการทำงานวิจัย

  • ความยุติธรรม 

นักจิตวิทยาต้องระลึกว่าทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการ และต้องให้การบริการและปฏิบัติต่อคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

  • ความเคารพในสิทธิ์และศักดิ์ศรี

ไม่ว่าผู้เข้ารับบริการจะมีความแตกต่างทางด้านอายุ เพศ การ แสดงออกทางเพศ เชื้อชาติ วัฒนธรรม สัญชาติศาสนา ความพิการ ภาษา สถานะทางเศรษฐกิจ และสังคม นักจิตวิทยาต้องไม่มีอคติและให้ความเคารพผู้เข้ารับบริการในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

หลักจรรยาบรรณ 

หลักจรรยาบรรณประกอบไปด้วย 10 หมวดด้วยกัน แต่เราจะยกมาเพียง 6 หมวดที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้เข้ารับบริการโดยตรง ดังนี้

1. ความสามารถและความชำนาญ

ก่อนที่นักจิตวิทยาจะปฏิบัติงานได้อย่างเป็นทางการ จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนในด้านต่าง ๆ รวมถึงอยู่ภายใต้การดูแลของ Supervision และควรมีการรักษามาตรฐานการทำงานของตัวเองอย่างเป็นประจำ รวมถึงมีการพิจารณาความสามรถในการรับมือผู้เข้ารับบริการอยู่เสมอ ซึ่งถ้าหากทำไม่ได้ อาจทำการประเมินอาการของผู้เข้ารับบริการเบื้องต้น มีการส่งต่อให้นักจิตวิทยาท่านอื่น หรืออาจมีการจำกัด Session ทำงานเป็นช่วง ๆ ไปแทน

2. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

นักจิตวิทยาต้องปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ห้ามมีการคุกคามทางเพศ หรือคุกคามทางด้านอื่น ๆ รวมถึงมีการตระหนักถึงความสัมพันธ์ ผลประโยชน์ และความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นที่จะส่งผลต่อการบริการ เช่น หากรู้จักกันในชีวิตจริงจะไม่สามารถให้บริการได้ หรืออีกหนึ่งข้อห้ามก็คือนักจิตวิทยาห้ามมีความสัมพันธ์แบบแฟนหรือเชิงชู้สาวกับผู้เข้ารับบริการ และต้องมีการชี้แจงการบริการและการยินยอมตามหลักการให้ผู้เข้ารับบริการอีกด้วย

3. ความลับและสิทธิส่วนบุคคล

นักจิตวิทยาต้องรักษาความลับและสิทธิส่วนบุคคลของผู้เข้ารับบริการอย่างเคร่งครัด จะเปิดเผยข้อมูลได้ก็ต่อเมื่อมีหน่วยงานร้องขอมา แต่ต้องพิจารณาเป็นเคส ๆ กันไป

4. การโฆษณาและการให้ข้อมูลแก่สาธารณะ

นักจิตวิทยาต้องไม่ร้องขอให้ผู้เข้ารับบริการหรือคนที่อยู่ภายใต้อำนาจของนักจิตวิทยาทำการโฆษณาเชิญชวนตัวพวกเขาเอง

5. การเก็บรักษาข้อมูลและค่าบริการ

ต้องมีการตกลงค่าบริการระหว่างนักจิตวิทยาและผู้เข้ารับบริการตั้งแต่แรกอย่างชัดเจน และต้องมีการจัดเก็บข้อมูลของผู้เข้ารับบริการอย่างเป็นความลับและมีวิธีการเก็บข้อมูลที่เหมาะสม

6. การบำบัดรักษา

ต้องมีการแจ้งข้อมูลการบำบัดรักษาและการ ยินยอมรับการรักษา รวมถึงห้ามมีความสัมพันธ์ทับซ้อนกับผู้เข้ารับการบำบัด รวมถึงความสัมพันธ์ชู้สาวอีกด้วย ต้องไม่ให้การบำบัดขาดตอน และจะยุติการบำบัดได้ก็ต่อเมื่อผู้เข้ารับการบำบัดไม่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดแล้ว หรือด้วยสาเหตุที่ผู้เข้ารับการบำบัดสร้างอันตรายให้กับนักจิตวิทยา 

หากใครสนใจอยากอ่านจรรยาบรรณและหลักปฏิบัติของนักจิตวิทยาฉบับเต็มละก็ อ่านได้ที่นี่เลย 

และถ้าหากนักจิตวิทยาที่เราไปเจอนั้นปฏิบัติกับเราไม่ดีละก็ สามารถขอเปลี่ยนนักจิตวิทยาได้ด้วย หากรู้หลัก

การหรือจรรยาบรรณของนักจิตวิทยาที่อาจส่งผลต่อตัวเราได้อย่างนี้แล้ว ก่อนเข้ารับบริการทางจิตวิทยาอย่าลืมรักษาสิทธิ์ของตัวเองกันด้วยนะ