แบบทดสอบทางจิตวิทยา (Psychological Assessment) ควรเลือกแบบไหนมาใช้? จะปรับใช้ให้เหมาะสมกับองค์กรได้อย่างไรบ้าง?

จากสมัยก่อนที่มีแบบทดสอบการวัดผลความพึงพอใจในการทำงาน แบบทดสอบความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร ปัจจุบันนี้ เราสามารถพบเห็นองค์กรต่าง ๆ ได้เริ่มนำแบบทดสอบทางจิตวิทยามาใช้ในการพัฒนาองค์กรอย่างรอบด้าน เช่น มีการใช้แบบทดสอบบุคลิกภาพ (MBTI) และสไตล์การทำงานของผู้สมัครงานตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครงาน แบบทดสอบที่สะท้อนถึงความสามารถในการร่วมงานกับคนในทีม ไปจนถึงแบบทดสอบที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของพนักงานโดยตรง เช่น แบบทดสอบความเครียด ความ Burnout เป็นต้น ซึ่งเราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับแบบทดสอบทางจิตวิทยาหลากหลายรูปแบบกันในบทความนี้


เนื้อหาสำคัญ

  • แบบทดสอบทางจิตวิทยาไม่ได้มีเพียงแบบทดสอบวัดบุคลิกภาพ
  • การคัดเลือกพนักงาน การดูแลพนักงาน และการวัดผลความพึงพอใจของพนักงานที่มีต่อองค์กร ช่วยให้องค์กรดูแลพนักงานได้อย่างตรงจุด เพื่อให้พนักงานมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น
  • แบบทดสอบทางจิตวิทยาที่จะนำไปใช้ในองค์กรควรมีความน่าเชื่อถือและมีความแม่นยำในการวัดผลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แบบทดสอบทางจิตวิทยา (Psychological Assessment) คืออะไร มีอะไรบ้าง?

แบบทดสอบทางจิตวิทยาเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อการวัดผลทางด้านจิตใจของบุคคล จะเจาะลึกไปทางด้านไหนก็ขึ้นอยู่กับแบบทดสอบแต่ละตัวว่าต้องการวัดผลเรื่องอะไร แบบทดสอบทางด้านจิตวิทยาแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก  ๆ ได้แก่ 

1. Objective Assessment เป็นแบบทดสอบที่มีความตรงไปตรงมา มีคำตอบที่ถูกต้องอยู่แล้ว 

2. Projective Assessment เป็นแบบทดสอบที่มีรูปแบบไม่ตายตัว มีความกำกวม ต้องอาศัยการตีความและการประเมินจากนักจิตวิทยาเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นแบบทดสอบที่มีการให้ผู้ตอบเปิดเผยเรื่องราวในอดีตและประสบการณ์ผ่านการตอบคำถาม 

ทำไมจึงมีการใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาในองค์กร?

การนำแบบทดสอบทางจิตวิทยาไปปรับใช้ในองค์กรมีตั้งแต่การคัดเลือกพนักงาน การดูแลพนักงาน ไปจนถึงการวัดผลความพึงพอใจของพนักงานที่มีต่อองค์กร ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ล้วนนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่องค์กรต้องดูแลทั้งสิ้น เพื่อให้องค์กรสามารถคัดเลือกพนักงานที่เหมาะสมกับองค์กรได้ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกพนักงาน การใช้แบบทดสอบบุคลิกภาพ จะทำให้องค์กรเห็นว่าผู้ที่มาสมัครงานมีลักษณะนิสัยที่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรหรือไม่ ปรับตัวกับวัฒนธรรมองค์กรได้ไหม ในขั้นตอนการดูแลพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้แบบทดสอบด้านสุขภาพจิตหรือแบบทดสอบทักษะต่าง ๆ สามารถทำให้องค์กรรับรู้สุขภาพของพนักงานได้อย่างเป็นรูปธรรม และการมีข้อมูลตรงนี้จะช่วยทำให้องค์กรนำข้อมูลส่วนนี้ไปต่อยอดและแก้ไขปัญหาที่พนักงานมีได้อย่างตรงจุด ในส่วนของแบบทดสอบทัศนคตินั้นจะเป็นการวัดความพึงพอใจของพนักงานที่มีต่อองค์กร เพื่อให้องค์กรได้รู้ว่าพนักงานมีความสุขกับการทำงานที่องค์กรหรือไม่ มีอะไรที่องค์กรจำเป็นต้องปรับไหม การทำแบบทดสอบทั้งหมดเหล่านี้จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ที่จะทำให้องค์กรพัฒนาต่อไปได้ดีขึ้น และทำให้พนักงานมีความสุขกับการทำงานกับองค์กรมากขึ้นในอนาคตนั่นเอง

แบบทดสอบทางจิตวิทยาที่ใช้ในองค์กรและการนำไปปรับใช้

ประเภทการวัดผลการนำไปปรับใช้ตัวอย่างแบบทดสอบ
แบบทดสอบบุคลิกภาพ (Personality Assessment)เพื่อดูลักษณะนิสัย อารมณ์ ความคิด พฤติกรรม และปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อตัวตนของผู้ทำแบบทดสอบในขั้นเบื้องต้นใช้ในการคัดเลือกพนักงาน ให้พนักงานได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ดูความเข้ากันได้ของพนักงานในแต่ละทีม Basic Personality Inventory (BPI)16 Personality Factor QuestionnaireMyers–Briggs Type Indicator (MBTI)
แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ (Achievement Assessment)เพื่อวัดความรู้ความเข้าใจในบทเรียนว่ามีความเข้าใจที่ถูกต้องตามบทเรียนหรือไม่ใช้ในการคัดเลือกพนักงานข้อสอบวัดผลทั่วไป เช่น ข้อสอบวิทยาศาสตร์ ม.6 ข้อสอบภาษาไทยWoodcock-Johnson Psychoeducational Battery
แบบทดสอบวัดทัศนคติ (Attitude Assessment)เพื่อค้นหาว่าผู้ทำแบบทดสอบมีความเห็นชอบ-ความไม่เห็นชอบในเรื่องต่าง ๆ อย่างไรใช้ในการคัดเลือกพนักงานดูความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานLikert ScaleThurstone Scale
แบบทดสอบวัดทักษะ (Aptitude Assessment)เพื่อวัดทักษะและความรู้ความสามารถของผู้ทำแบบทดสอบใช้ในการคัดเลือกพนักงานข้อสอบการวัดทักษะความสามารถต่าง ๆ เช่น แบบทดสอบความถนัดทางภาษาVisual Reasoning TestAbstract Reasoning Test
แบบทดสอบความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence Assessment)เพื่อวัดการตอบสนองทางอารมณ์ของผู้ทำแบบทดสอบว่าเป็นอย่างไร มีวิธีในการรับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสมหรือไม่ใช้ในการคัดเลือกพนักงานให้พนักงานได้รู้จักตัวเองมากขึ้นให้พนักงานได้เรียนรู้วิธีจัดการอารมณ์ของตัวเองMayor-Salovey-Caruso El Test (MSCEIT)Emotional and Social Competence Inventory
แบทดสอบทางประสาทจิตวิทยา  (Neuropsychological Assessment)เพื่อวัดการทำงานของสมอง โดยการตรวจสอบความจำ การใช้ภาษา รวมไปถึงทักษะอื่น ๆ ที่ใช้ความคิดเป็นส่วนสำคัญใช้ตรวจสอบว่าพนักงานมีความเครียด ความวิตกกังวล หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ หรือไม่Beck Depression InventoryBeck Anxiety InventoryAmmons Quick Test
แบบทดสอบแบบโปรเจคทีฟ (Projective Assessment)เพื่อวัดความรู้สึกและการจัดการกับปัญหาที่อยู่ภายในจิตใต้สำนึกโดยใช้สิ่งเร้าจากภายนอกเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการกระตุ้นจิตใต้สำนึกใช้ตรวจสอบวิธีการรับมือกับสิ่งเร้าภายนอกของพนักงานใช้ตรวจสอบว่าพนักงานมีปัญหาทางสุขภาพจิตหรือไม่Rorschach Inkblot TestThematic Apperception Test (TAT)
แบบทดสอบทักษะที่สังเกตได้ (Observation (direct) Assessment)เพื่อดูว่าผู้ทำแบบทดสอบมีทักษะในการทำกิจกรรมที่จำเป็นต้องทำได้ไหม ใช้ในการคัดเลือกพนักงานแบบทดสอบการวัดทักษะเฉพาะทาง เช่น การทำกาแฟ การทำงานในห้องทดลอง การใช้วิทยุ เป็นต้น
อ้างอิงจาก PsychCentral (2021)

แต่ละองค์กรสามารถทำแบบทดสอบขึ้นมาเองได้หรือไม่?

ในปัจจุบัน แบบทดสอบทางจิตวิทยามีทั้งแบบที่นำไปใช้ได้ฟรี และแบบที่ต้องซื้อลิขสิทธิ์จากองค์กรจัดจำหน่าย ซึ่งทั้งแบบที่ใช้ได้ฟรีมีข้อเสียที่ว่าไม่สามารถวัดผลได้ดีมากพอ จึงอาจทำให้ผลที่ได้คาดเคลื่อน ไม่ตรงกับความเป็นจริง ในขณะที่อีกแบบจะแม่นยำและนำไปปรับใช้ได้มากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ค่าใช้จ่ายของแบบทดสอบก็มีราคาที่ค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน หลาย ๆ องค์กรอาจเลือกที่จะนำแบบทดสอบที่ใช้ได้ฟรีไปดัดแปลงแทน และในหลาย ๆ องค์กรอาจจัดทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาขึ้นมาเองเลยก็มีเช่นกัน แต่การดัดแปลงและจัดทำแบบทดสอบขึ้นมาเองนั้นก็มีข้อกังวลอยู่ที่ว่ามันอาจจะไม่แม่นยำมากพอ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมีความเฉพาะตัว และการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแบบทดสอบนั้น ๆ จำเป็นต้องใช้เวลาค่อนข้างนานทีเดียว ซึ่งค่อนข้างเสียเวลาและข้อมูลที่ได้อาจนำไปต่อยอดได้ยาก เนื่องจากไม่มีการวัดผลที่เหมาะสม ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การซื้อแบบทดสอบในราคาที่มีความเหมาะสมกับงบประมาณจึงเป็นทางเลือกที่น่าจะเกิดประโยชน์กับองค์กรสูงสุดมากกว่านั่นเอง