แนะนำ 5 วิธีจัดการนิสัยผัดวันประกันพรุ่งให้อยู่หมัด

woman tries to procrastinate

“ไว้ค่อยทำละกัน”

“พรุ่งนี้ค่อยทำ”

“เดี๋ยวทำทีหลัง”

และอีกสารพัดเหตุผลที่เราใช้ปลอบใจตัวเองหรือเป็นข้ออ้างให้เราตอนที่เราไม่อยากทำอะไรสักอย่างให้เสร็จ โดยปกติแล้ว การมีนิสัยผัดวันประกันพรุ่งถูกมองว่าเป็นนิสัยของคนขี้เกียจ คนที่ชอบหาข้ออ้างในการเลื่อนทำงานไปเรื่อย ๆ เพราะไม่อยากรับผิดชอบมัน แต่แท้ที่จริงแล้ว มันมีสาเหตุเบื้องลึกเบื้องหลังที่อยู่ภายในจิตใจของเราที่ทำให้เรากลายเป็นคนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง จะเป็นอะไรนั้น ตามมาหาคำตอบกัน!

ในทางจิตวิทยา นิสัยผัดวันประกันพรุ่งแสดงถึงแนวโน้มในการมีปัญหาด้านสุขภาพจิตอย่างการมีความเครียด การมีความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) มีปัญหาทางด้านการควบคุมอารมณ์ตัวเอง (Emotion Regulation) เป็น Perfectionist ไปจนถึงโรคทางจิตเวช อย่างโรคซึมเศร้า โรค ADHD โรควิตกกังวล เป็นต้น 

ซึ่งแต่ละปัญหาและแต่ละโรคก็จะมีความรู้สึกต่อการผัดวันประกันพรุ่งแตกต่างกันไป บางคนมองว่าตัวเองงานเยอะมากเกินไป ยังจัดการงานนี้ไม่ไหว บางคนมองว่างานนี้ไว้ทำทีหลังเพราะรู้สึกสภาพจิตใจไม่พร้อม บางคนมองว่ายังไม่กล้าทำงานนี้ให้เสร็จเพราะกลัวว่ามันจะไม่เพอร์เฟกต์มากพอ บางคนรู้สึกว่ายังมีสมาธิไม่มากพอในการทำงานนี้ให้เสร็จ บางคนชอบที่จะปล่อยให้เดดไลน์เป็นตัวกระตุ้นจึงเก็บงานไว้ทำตอนท้าย ๆ หรือบางคนกลัวว่าถ้างานชิ้นนี้เสร็จตัวเองจะไม่มีอะไรทำ ก็มีเคสแบบนี้เช่นกัน ทุกคนลองสังเกตความคิดตัวเองดูนะ ถ้าเป็นไม่บ่อยก็ถือว่าปล่อยตัวบ้าง แต่ถ้าเป็นบ่อยทุกครั้ง อาจจะต้องใส่ใจตัวเองมากขึ้นนะ ไม่แน่เราอาจจะมีปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นได้

a girl feels tired

ทุกคนมีปัญหาสุขภาพจิตได้ และทุกปัญหาสุขภาพจิตมีทางแก้เสมอ วันนี้เราอยากชวนลองมาพิชิตนิสัยผัดวันประกันพรุ่งด้วย 5 วิธีนี้

  1. เริ่มจากตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ 
    เป้าหมายใหญ่ ๆ ไว้ทีหลัง เรามาเริ่มกันที่เป้าหมายเล็ก ๆ กันก่อนดีกว่า สมมติว่าเรามีรายงานต้องส่งภายในพรุ่งนี้ แต่ไม่รู้สึกอยากทำเลย ลองตั้งเป้าหมายที่เล็กที่สุดที่ตอนนี้เรารับมือไหว เช่น พิมพ์รายงานให้ได้อย่างน้อย 10 บรรทัดภายใน 30-45 นาที พอทำเสร็จก็พัก และเริ่มตั้งเป้าหมายใหม่ 
  2. ทำต่อหรือพอแค่นี้ดี
    ถ้าเริ่มรู้สึกว่า ไม่ไหวละ ไม่อยากทำงานชิ้นนี้แล้ว หายใจเข้าลึก ๆ และบอกตัวเองว่า ขอเวลาทำตรงนี้ให้เสร็จอีก 1 นาที หรือถ้าอยากกระตุ้นตัวเองมากกว่านั้น ก็ลองคิดว่า ถ้างานนี้ไม่เสร็จจะมีผลกระทบอย่างไร เช่น ถ้างานนี้เสร็จจะได้ไปกินข้าวช้านะ ร้านโปรดน่าจะปิดไปแล้วนะ หรือถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ให้โอกาสตัวเองพักสักหน่อย
  3. ต้องรู้ตัวเองว่าอะไรดึงความสนใจเราไปได้
    เกมเอย หนังเอย ซีรีส์เอย เพื่อนชวนคุยเอย อะไรก็ตามที่เรารู้ว่ามันจะดึงสมาธิดึงความสนใจเราไป ลองอยู่ห่างจากสิ่งเหล่านั้น และจัดการงานให้เสร็จ เพื่อจะได้กลับไปทำกิจกรรมเหล่านั้นได้อีกครั้ง ลองมองว่าสิ่งเหล่านั้นคือรางวัลหลังจากเสร็จงาน ถ้างานเสร็จ เราก็ไม่มีงานค้าง และเราก็สามารถทำกิจกรรมเหล่านั้นโดยไม่ต้องกังวล วินวินกันทุกฝ่าย
  4. เช็กลิสต์งาน เช็กอารมณ์ตัวเองด้วย
    นอกจากจะต้องเช็กลิสต์งานหรือสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนควรทำคือให้เวลากับตัวเอง ถามตัวเองว่าตอนนี้รู้สึกยังไง ร่างกายเหนื่อยล้าไหม จิตใจเป็นไงบ้าง ต้องการกำลังใจไหม หรือต้องการพัก หรือต้องการที่จะจัดการงานนี้ให้เสร็จ ถ้าหากรู้สึกไม่ดีเท่าไหร่ ก็ลองหาตัวช่วยที่ทำให้เราผ่านวันนี้ไปได้ เช่น ของกินอร่อย ๆ กาแฟ ของหวาน ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน หรือถ้าปรับตารางงานของตัวเองให้ยืดหยุ่นได้ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
  5. ให้กำลังใจตัวเองเสมอ
    หลังจากทำงานสำเร็จ ลองพูดกับตัวเองด้วยคำพูดดี ๆ หรือนึกในใจก็ได้ว่า “เราเก่งมาก” “เราก็ทำได้นี่หว่า”  เป็นการเติมกำลังใจตัวเองที่ช่วยดึงความเชื่อมั่นในตัวเองกลับมา ทำให้เราตระหนักถึงศักยภาพของตัวเอง และเป็นการให้โอกาสตัวเองอีกครั้ง เพราะช่วงผัดวันประกันพรุ่งทำให้เรามองว่าตัวเองไม่ดีพอและไร้ศักยภาพ ฉะนั้น การให้กำลังใจตัวเองจึงเป็นหนึ่งในวิธีสำคัญที่จะทำให้เราดึงความเชื่อมั่นในตัวเองกลับมาได้
encouragement to the procrastination people!

แน่นอนว่า การแก้ไขนิสัยผัดวันประกันพรุ่งมันคงไม่สามารถแก้ไขได้ภายในคืนเดียว ค่อย ๆ ใช้เวลาไปกับการพัฒนาตัวเอง ทุกปัญหาสุขภาพจิตมีทางแก้เสมอ

อ้างอิง

MSEd, K. C. (2022, November 14). What Is Procrastination? Verywell Mind.