Placebo Effect ปรากฏการณ์ยาหลอก เมื่อความเชื่อมีอำนาจเหนือร่างกาย

ต่อให้โลกจะพัฒนาและวิวัฒนาการมานานขนาดไหน ความเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งยังคงอยู่กับเราที่เป็นมนุษย์มาโดยตลอด ตั้งแต่ความเชื่อต่อสิ่งลี้ลับ ไปจนถึงความเชื่อต่อการรักษาโรคร้าย เคยได้ยินเรื่องน้ำมะนาวรักษามะเร็ง ฟ้าทลายโจรต้านโควิด-19 มาจนการดื่มสาร CDS หรือ Chlorine Dioxide ที่เชื่อว่าทำให้หายได้ทุกโรค ตั้งแต่ความดัน เบาหวาน ไต ยันโรคมะเร็ง กันบ้างไหม? ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยหรือมีผู้เชี่ยวชาญออกมาบอกถึงผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวของสิ่งเหล่านี้อย่างป็นประจำ แต่ที่น่าสงสัยคือ มีคนบางกลุ่มทำในสิ่งตรงข้าม นั่นคือยังคงดื่มและกินต่อไปด้วยความเชื่อ สุดท้ายกลายเป็นว่า ดันมีคนบางส่วนที่มีอาการดีขึ้นจริง ๆ !! แต่จะดีขึ้นได้ด้วยสาเหตุอะไรนั้น เรามาดูมุมมองทางด้านจิตวิทยากันหน่อยดีกว่า

Placebo Effect คืออะไรกันแน่?

เรียกกันอีกชื่อว่า ปรากฏการณ์ยาหลอก เป็นปรากฏการณที่เกิดขึ้นจาก “ความเชื่อ” ว่าจะทำให้ร่างกายหรือสุขภาพดีขึ้น มักใช้พูดถึงใช้ในทางการแพทย์ เช่น แพทย์มีการให้ยาตัวหนึ่งแก่ผู้ป่วยโรคร้ายแรง โดยยาตัวดังกล่าวเป็นเพียงเม็ดแป้งเท่านั้น แต่เมื่อผู้ป่วยทานยาไปแล้วกลับมีอาการดีขึ้นราวกับยานั้นเป็นยาวิเศษ คำว่า Placebo มีหลักฐานใช้ในการแพทย์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1772 โดยนายแพทย์ Willian Cullen ผู้ริเริ่มการจ่ายยาที่มีผลข้างเคียงน้อย หรือแทบจะไม่ส่งผลต่อร่างกายให้แก่ผู้ป่วย เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยที่ต้องการรับยา และเพื่อให้ผู้ป่วยพึงพอใจ โดยการจ่ายยาแบบ Placebo นี้มักเกิดขึ้นกับเคสที่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การจ่ายยาในรูปแบบนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความสบายใจให้กับผู้ป่วยเป็นหลักนั่นเอง

การทำงานของ Placebo ยังคงเป็นเรื่องที่หาข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ได้ แต่ที่แน่ ๆ คือมันสามารถส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วยได้ ซึ่งเกิดจากการทำงานของสารสื่อประสาทภายในร่างกายที่เพิ่มขึ้น เช่น เอ็นโดฟิน (Endorphins) และ โดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องทางด้านอารมณ์โดยตรง รวมถึงเกี่ยวข้องกับการรับรู้ของร่างกายด้วย ว่ากันง่าย ๆ ว่า Placebo จะกระตุ้นให้เรามีภาวะอารมณ์ที่ดีขึ้น รวมถึงมองโลกในแง่ดีมากขึ้น มีความหวังกับอาการป่วยมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการรักษาเลยทีเดียว เพราะถ้าหากเราเศร้าและหมดหวัง ร่างกายที่เชื่อมโยงกับจิตใจอันหมองหม่นของเราก็สามารถรู้สึกท้อถอย ไม่อยากสู้กับอาการป่วยได้เหมือนกัน

ข้อถกเถียง เรื่อง “จิต” กับ “กาย”

จิตใจ กับ ร่างกาย เป็นสิ่งเดียวกันไหม?

ย้อนไปในช่วงศตวรรษที่ 17 มีนักคิดผู้โด่งดังนามว่า Rene Decartes เจ้าของประโยคเด็ด “I think, therefore I am” ได้มีแนวคิดเรื่องจิตกับกายไว้ว่า จิตกับกายเป็นสองสิ่งที่แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิด Dualism โดย Decartes มองว่า ร่างกายคือส่วนที่เป็นกายหยาบของเรา และไม่สามารถคิดวิเคราะห์เองได้ ส่วนจิตใจคือส่วนที่เป็นขุมพลังแห่งความคิด เหตุผล และการตัดสินใจของเรา แนวคิดนี้ส่งผลโดยตรงต่อวงการแพทย์ เพราะมันส่งผลต่อแนวคิดการฟื้นฟูผู้ป่วยว่า ร่างกายกับจิตใจเป็นส่วนที่แยกกัน ดังนั้น หากมีอาการป่วยเกิดขึ้น มันเป็นเพราะการเจ็บปวดของร่างกายเพียงอย่างเดียว แนวทางการรักษาและการจ่ายยาจึงเน้นไปที่การรักษาอาการทางกาย โดยไม่มีมุมมองทางด้านจิตใจและมุมมองทางด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในขณะเดียวกันก็มีแนวคิด Monism มองว่า จิตกับกายเป็นสิ่งเดียวกัน พวกมันทำงานควบคู่กันไป และแยกออกจากกันไม่ได้ ซึ่งบางส่วนมองว่า จิตเกิดขึ้นจากการทำงานของสมอง บางส่วนมองว่ากายหยาบของเราเกิดจากการรับรู้ของจิต การที่เราใช้ชีวิตได้ในทุกวันนี้เกิดจากจิตใจของเรารับรู้ถึงการมีอยู่ของร่างกายและสิ่งรอบข้าง นอกจาก Monism แล้ว ยังมีแนวคิดที่มองถึงปัจจัยและอิทธิพลอื่น ๆ อย่างแนวคิด Holism ด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่มองครอบคลุมไปถึงวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม นำมาซึ่งการทำความเข้าใจทางด้านจิตวิทยาองค์รวม (Holistic Approach) ในเวลาต่อมา

แต่การเกิดขึ้นของ Placebo Effect นั้นถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มาเขย่าการถกเถียงเรื่องนี้ในวงการแพทย์อย่างเป็นวงกว้างเลยทีเดียว

Placebo Effect ในทางการแพทย์ของโลกยุคใหม่

นอกเหนือจากจะมีการใช้งาน Placebo ในฐานะการให้ยาปลอมในการรักษาผู้ป่วยแล้ว มันยังถูกใช้ในการทดลองประสิทธิภาพของยาอีกด้วย ในแง่หนึ่ง หากเกิด Placebo Effect ขึ้น นั่นถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ป่วย แต่ในขณะเดียวกัน หากมีการทดลองยาในกลุ่มผู้ป่วย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ระหว่างกลุ่มที่ได้รับยาปลอมกับกลุ่มที่ได้รับยาจริง ถ้าผลปรากฏว่าประสิทธิภาพของยาไม่ต่างกัน นั่นแปลว่า ยาตัวนั้นไม่มีประสิทธิภาพรักษาผู้ป่วยมากเพียงพอในการนำไปใช้ทางการแพทย์ ซึ่งจะทำให้ยาตัวนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาการพัฒนาต่อไป เพราะ Placebo Effect ไม่ได้เกิดขึ้นในผู้ป่วยทุกคน และการมียาที่มีประสิทธิภาพในการช่วยรักษาและฟื้นฟูร่างกายนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยหลาย ๆ กลุ่มมากกว่า 

นอกจากนี้ ในทางการแพทย์ Placebo Effect ไม่ได้มีเพียงการให้ยาปลอมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนหรือการทำงานของสารสื่อประสาทที่ส่งผลต่ออารมณ์ผู้ป่วยอีกด้วย ว่าง่าย ๆ ก็คือ การใช้ Placebo Effect ยังรวมไปถึงวิธีในการดูแลผู้ป่วย เช่น การใช้คำพูด การกล่าวคำชมกับผู้ป่วย การให้กำลังใจ การให้รางวัลแก่ผู้ป่วย การดูแลสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยให้มีบรรยากาศที่ดี เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ไปจนถึงมีอาการดีขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้น ทางการแพทย์ยุคใหม่ก็ยังคงมีการใช้ Placebo Effect ควบคู่ไปกับการรักษาผู้ป่วยอยู่ดี เนื่องจากมันสามารถส่งผลต่ออาการป่วยของผู้ป่วยได้จริง และมีอาการดีขึ้นจริงนั่นเอง

การเกิดขึ้นของ Placebo Effect ทำให้เราเห็นว่า จิตใจกับร่างกายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างน่ามหัศจรรย์ หากใจรู้สึกดีและมีความหวัง ก็ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายพยายามมีอาการดีขึ้นได้เหมือนกัน แต่การรักษาทางการแพทย์และการดูแลจิตใจผู้ป่วยก็ต้องเป็นสิ่งที่ต้องดูแลควบคู่กันไป เช่นเดียวกับการรักษาโรคทางจิตเวช ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะมีความคิดและความรู้สึกดีขึ้น แต่ถ้าหากร่างกายยังไม่ได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ ก็จำเป็นที่จะต้องทานยาต่อไป ไม่ควรมีการหยุดยาด้วยตนเอง ดังนั้นแล้ว การรักษาโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคทางกายหรือโรคทางจิตเวช ควรมีการพูดคุยปรึกษากับแพทย์ผู้ให้การรักษาอย่างใกล้ชิด เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดและได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือผู้ป่วยนั่นเอง   

อ้างอิง

Finniss, D. G. (2018, January 1). Placebo Effects: Historical and Modern Evaluation. International Review of Neurobiology.

Mcleod, S. (2023, June 16). Mind-Body Relationship In Psychology: Dualism vs Monism. Simply Psychology.

Mehta. (n.d.). Mind-body Dualism: A critique from a Health Perspective. National Center for Biotechnology Information. Retrieved January 2, 2024.

Miller, Colloca, & Kaptchuk. (n.d.). The placebo effect: illness and interpersonal healing. National Center for Biotechnology Information. Retrieved January 2, 2024.

The power of the placebo effect. (2021, December 13). Harvard Health.